เนื่องในวันครูแห่งชาติ 16 มกราคม พ.ศ. 2565 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รำลึกถึงครูแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เรือโท นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ร.น. ผู้สร้างสรรค์สิ่งใหม่สู่สังคมไทย

11 ก.พ. 2565 11:42:16จำนวนผู้เข้าชม : 631 ครั้ง

ตลอดระยะเวลา 133 ปี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ผลิตบุคลากรออกมารับใช้สังคมอย่างต่อเนื่อง  หลายท่านทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีของพี่น้องประชาชนในถิ่นทุรกันดาร อีกหลายคนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศ และอีกไม่น้อยที่มีส่วนในการคิดค้น วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีเฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่ยังช่วยแก้ไขปัญหาในระดับโลก หากแต่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ล้วนมีครูแพทย์ ผู้อุทิศแรงกายแรงใจ เพื่อปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นแพทย์ที่ดีให้เกิดขึ้นในใจของลูกศิษย์ทุกคน

          เนื่องในวันครูแห่งชาติ 16 มกราคม พ.ศ. 2565 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จึงขอชวนรำลึกถึง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เรือโท นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ร.น. อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นแบบอย่างและแรงผลักดันให้ลูกศิษย์ เพราะนอกจากความรู้ เรื่องสรีรวิทยา เภสัชวิทยา และชีวเคมี ซึ่งเป็นวิชาหลักที่สอนแล้ว ท่านยังพยายามบ่มเพาะคุณลักษณะของการเป็นแพทย์ ทั้งความกล้าคิดกล้าทำ ระเบียบวินัย ความละเอียดรอบคอบ รวมไปถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม ตลอดจนยังเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ด้วยการนำนักศึกษาจากเมืองไปช่วยก่อสร้างโรงเรียนในชนบท เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจและรับทราบถึงความยากลำบากของผู้คนในถิ่นทุรกันดาร และก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาสังคมต่อไป
          ที่สำคัญท่านยังเป็นนักบุกเบิกคนสำคัญ ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์มาแล้วมากมาย อย่างการผลิตน้ำเกลือ ซึ่งท่านคิดค้นขึ้นในช่วงที่บ้านเรายังต้องนำเข้าน้ำเกลือราคาแพงจากต่างประเทศ จนเมืองไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตอหิวาตกโรคระบาด เมื่อ พ.ศ. 2501 หรือแม้แต่ช่วงที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ท่านก็ยังริเริ่มงานใหม่ ๆ อย่าง เรื่องเวชศาสตร์การกีฬา ซึ่งนำองค์ความรู้ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์มาช่วยยกระดับสมรรถภาพร่างกายของนักกีฬา  จนสามารถประสบความสำเร็จในการแข่งขันระดับนานาชาติ
          อีกงานหนึ่งที่ ศ.นพ.อวย ทุ่มเทอย่างหนัก คือ การพัฒนาความรู้ด้านแพทย์แผนไทยประยุกต์ ด้วยการนำความรู้ทางแพทย์แผนปัจจุบันมาผสมผสานกับแพทย์แผนไทย เพราะต้องการสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมที่บรรพบุรุษรังสรรค์ขึ้นให้คงอยู่ต่อไป ความสนใจเรื่องแพทย์แผนไทยของท่านเริ่มมาตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะครอบครัวรักษาด้วยวิธีนี้มาตลอด เมื่อเป็นแพทย์และได้ทุนไปศึกษาต่อที่เยอรมนี ท่านยังเป็นคนไทยคนแรกที่ทำรายงานวิจัยเรื่องใบเมี่ยง พร้อมถ่ายทอดสรรพคุณของสมุนไพรไทยให้เพื่อนแพทย์ชาวต่างชาติฟัง พอกลับมาถึงประเทศไทย ท่านก็ไปร่วมงานกับกองทัพเรือ เพื่อหาสมุนไพรรักษาโรคมาลาเรียที่กำลังระบาดหนักในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 ก่อนจะกลับมาประจำอยู่ที่ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พร้อมกับผลักดันให้อาจารย์ในคณะทำวิจัยเรื่องสมุนไพรออกมามากมาย
          จนกระทั่งอายุ 72 ปี ด้วยความที่เห็นว่า ปัจจุบันการแพทย์ไทยได้เสื่อมโทรมลงมาก หมอแผนโบราณที่ดีมีแต่จะหมดไป หมอที่เกิดขึ้นใหม่ก็หาคนเก่งได้ยาก ถ้าปล่อยเช่นนี้ไม่ช้าการแพทย์ไทยเดิมซึ่งเป็นสมบัติอย่างหนึ่งของชาติก็จะสิ้นสูญไป ท่านจึงตัดสินใจทุ่มเทเวลาที่เหลือในชีวิตเพื่องานนี้เต็มตัว ด้วยการตั้งมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม เมื่อ พ.ศ. 2523 โดยครั้งนั้นท่านต้องต่อสู้กับแรงเสียดทานอย่างหนัก เพราะคนไทยจำนวนมากแม้กระทั่งแพทย์ด้วยกันเอง ก็ยังมองว่าแพทย์แผนไทยเป็นเรื่องล้าหลังและไม่น่าเชื่อถือ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ท่านกำลังจะผลิตแพทย์เถื่อนขึ้นมา แต่ ศ.นพ.อวย ก็ไม่เคยหวั่นไหว ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป ด้วยการชักชวนลูกศิษย์ลูกหาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันต่าง ๆ มาช่วยกันบุกเบิกและวางหลักสูตรแพทย์แผนไทยประยุกต์จนเกิดเป็นโรงเรียนอายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) ตลอดจนพยายามหาทางช่วยให้นักศึกษาที่จบออกมาได้รับการรับรองจากภาครัฐ เพื่อจะได้เป็นกำลังหลักในการสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืนแก่ประเทศ

          แม้สุดท้าย ศ.นพ.อวย ได้จากไปก่อนที่ความฝันจะลุล่วง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2533 แต่เชื้อไฟที่ได้ทิ้งไว้ก็ไม่เคยมอดดับไปไหน และเป็นแรงผลักดันให้ลูกศิษย์ช่วยกันสานต่อ จนสุดท้ายศาสตร์แขนงนี้ก็ได้รับการยอมรับ และเผยแพร่ไปยังวงกว้าง อย่างโรงเรียนอายุรเวทฯ ที่ท่านก่อตั้งขึ้น ก็เติบใหญ่กลายเป็นสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งเกิดการเรียนการสอนเรื่องแพทย์แผนไทยประยุกต์ในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ นับสิบแห่ง ผลิตบัณฑิตใหม่ปีละ 500 กว่าคน รวมทั้งมีบุคลากรที่ทำงานด้านนี้กระจายไปตามโรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐ คลินิกเอกชน และอื่น ๆ ไม่ต่ำกว่า 5,000 ชีวิต ตลอดจนเกิดการต่อยอดความรู้ ทั้งงานวิจัย กระบวนการรักษาโรคใหม่ ๆ จนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 สมุนไพรไทยยังได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถช่วยบรรเทาอาการป่วยได้
          และทั้งหมดนี้คือเสี้ยวหนึ่งของผลงานที่ครูแพทย์นักบุกเบิกอย่าง ศ.นพ.อวย ได้รังสรรค์ขึ้น จนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายด้วยความหวังสูงสุดที่อยากจะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น
          ร่วมบริจาคให้กองทุนพัฒนาแพทยศาสตร์ เลขที่บัญชี 016-446869-5 ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ https://bit.ly/33z4tnL สอบถามรายละเอียด โทร. 0 2414 1775
          รับชมคลิป “ครูในความทรงจำ” อาจารย์อวย เกตุสิงห์ ได้ที่ 2https://www.youtube.com/watch?v=KUus2UlZ_yA