สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
เทคโนโลยีคือปัจจัยสำคัญในการชีวิตประจำวันในโลกยุคปัจจุบัน mHealth (mobile health) หรือเทคโนโลยีสื่อสารที่ใช้ระบบติดตามดูแลสุขภาวะด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปัจจุบันได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลสุขภาพร่างกายด้วยตนเองของผู้คนทั่วโลก ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องลุกขึ้นก้าวให้ทันโลกยุคใหม่ที่ใช้มือถือเป็นปัจจัยหลัก ไม่ว่าจะด้วยเรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย หรือการพบแพทย์ทางออนไลน์ กลายเป็นที่มาของ mHealth เพื่อการดูแลสุขภาวะด้วยตนเอง ที่ทำให้คนไทยสามารถสร้างสุขภาวะที่ดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี จากการเรียนรู้ด้วยตนเอง (self learning)
รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล (INMU) ได้กล่าวถึงบทบาทการพัฒนา mHealth ของสถาบันฯ ว่า ที่ผ่านมาได้จัดทำฐานข้อมูลเมนูอาหารที่แสดงจำนวนแคลอรี่และคุณค่าทางโภชนาการ "INMU-Dailymenu Plan (IDP)" และมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการดูแลภาวะโภชนาการสำหรับบุคคลทั่วไปมากว่าหนึ่งทศวรรษ โดยใช้งานร่วมกับข้อมูลปริมาณสารอาหารที่คนไทยควรได้รับประจำวัน (Dietary Reference Intakes / DRIs) ของคนไทย ซึ่งข้อมูลอาหารมีทั้งจำนวนแคลอรี่ และปริมาณสารอาหาร ได้แก่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร น้ำตาล โคเลสเตอรอล แคลเซียม โพแทสเซียม เหล็ก โซเดียม และวิตามินต่างๆ ซึ่งผลที่ได้เป็นค่าสำหรับบุคคลทั่วไป แต่ต่อไปยังจะสามารถพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังในผู้ใช้ที่ต้องมีการดูแลพิเศษ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคไต
รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา มองว่า การพบแพทย์และเข้ารับการรักษาเมื่อเจ็บป่วยเป็นปลายทาง ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือ การเรียนรู้ที่จะดูแลสุขภาวะด้วยตนเองในแต่ละวันอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าในอนาคตฐานข้อมูลที่ทาง INMU ได้สร้างสรรค์และพัฒนาขึ้นเพื่อคนไทยอย่างต่อเนื่องนี้ จะสามารถนำไปเชื่อมโยงต่อยอดการใช้งาน เช่น ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารออนไลน์เพื่อสุขภาพ ซึ่งตอบโจทย์ชีวิตโลกยุคใหม่ และสอดคล้องกับวิถีการใช้มือถือเพื่อช่วยในการดูแลสุขภาพ หรือ mHealth
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บวรฤทธิ์ จักรไพวงศ์ คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า สื่อดิจิทัลเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยทำให้ประชาชนได้เข้าถึงการดูแลสุขภาวะด้วยตนเองในวงกว้าง ซึ่งต่อไปทาง MUSS จะได้ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดอบรมระยะสั้น (short courses) และวิจัยเกี่ยวกับ E-Sports ซึ่งเป็นประเภทกีฬาที่ได้รับการบรรจุในการแข่งขันโอลิมปิกล่าสุด เพื่อตอบโจทย์กระแสความนิยมของคนรุ่นใหม่ต่อไปอีกด้วย
--------------------------
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย วรรณพร ยังศิริ นักวิชาการสารสนเทศ