กรมอนามัยจับมือภาคีเครือข่ายตรวจคัดกรองเด็กนักเรียนสายตาผิดปกติ

11 ก.พ. 2565 12:58:36จำนวนผู้เข้าชม : 635 ครั้ง

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สปสช. ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา แถลงข่าว "แว่นตาสำหรับเด็กสายตาผิดปกติ สิทธิประโยชน์บัตรทอง ของขวัญเพื่อเด็กไทยสายตาดี" ตรวจคัดกรองความผิดปกติของสายตาในเด็ก ป.1 ทั่วประเทศ และตัดแว่นให้ฟรี
          เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. ได้มีการจัดงานแถลงข่าว "แว่นตาสำหรับเด็กสายตาผิดปกติ สิทธิประโยชน์บัตรทอง ของขวัญเพื่อเด็กไทยสายตาดี" โดยโครงการนี้เป็นการรณรงค์ตรวจคัดกรองเด็กนักเรียนในระดับชั้น ป.1 ทุกคน เพื่อค้นหาความผิดปกติทางสายตาแล้วรักษาหรือตัดแว่นสายตาให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และภายในงานยังได้มีการมอบแว่นสายตาให้กับเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นการประสานงานโดย มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เพื่อให้เครือข่ายได้รับแว่นตาสำหรับเด็กสายตาผิดปกติ

          นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัญหาเด็กสายตาผิดปกติ หากไม่ได้รับการแก้ไข จะส่งผลต่อการเรียนรู้และสุขภาพ การดำเนินงานตามโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทุกคน ได้รับการคัดกรองสายตา และเพิ่มการเข้าถึงบริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีสายตาผิดปกติ
          ทั้งนี้ ผลการดำเนินงาน ปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่า มีนักเรียนได้รับการคัดกรองสายตา 245,150 คน (คิดเป็นร้อยละ 32) จากนักเรียนทั้งหมดกว่า 7 แสนคน พบสายตาผิดปกติ 6,217 คน (คิดเป็นร้อยละ 2.5) ได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์และได้รับแว่นสายตาจากภาคเอกชน (ห้างแว่นท็อปเจริญ) จำนวนทั้งสิ้น 2,929 คน ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อโรงเรียนปิดทำการเรียนการสอน นักเรียนไม่ได้มาเรียนที่โรงเรียน จึงยังคงมีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองสายตา
          สำหรับเป้าหมาย ปี 2565 นี้ มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวนทั้งหมด 752,884 คน จะได้รับการคัดกรองสายตาไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 (602,307 คน) คาดว่าจะมีนักเรียนสายตาผิดปกติ ร้อยละ 3 (18,069 คน) และจะมีนักเรียนสายตาผิดปกติได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 (10,841 คน)
          นพ.สุวรรณชัยกล่าวอีกว่า ในส่วนของการอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการเฝ้าระวังสุขภาพสายตานักเรียนนั้น กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายจะพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขงานอนามัยโรงเรียนเพื่ออบรมครูประจำชั้นทุกโรงเรียนดำเนินการคัดกรองสายตานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทุกคน ในโรงเรียนทุกสังกัด ตลอดจนนักเรียนชั้นอื่นที่สงสัยสายตาผิดปกติ ภายใต้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายแว่นสายตาจาก สปสช. และสนับสนุนค่าใช้จ่ายจาก อปท. ในการนำพานักเรียนมาพบจักษุแพทย์ โดยได้จัดกิจกรรมรณรงค์ตรวจคัดกรองสายตาและมอบแว่นสายตานักเรียน ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ปี 2565 ระหว่างวันที่ 4 - 14 มกราคม 2565 ณ จังหวัดทั่วประเทศ ด้วยมาตรการเข้ม UP และ CFS ตามบริบทและสถานการณ์ของแต่ละจังหวัด จากนั้นหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่จะร่วมกับสถานศึกษาทุกสังกัดดำเนินการให้ครอบคลุมกลุ่มนักเรียนเป้าหมายอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี


          นพ.ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี รองประธานกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (service plan) สาขาตา กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ระบบบริการตรวจคัดกรองสายตาในเด็กจะเริ่มตั้งแต่ในโรงเรียน โดยมีการอบรมครูเพื่อคัดกรองสายตาเด็ก เมื่อครูตรวจคัดกรองพบความผิดปกติสายตาของนักเรียนจะมีการตรวจยืนยันซ้ำโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือที่โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) จากนั้น เมื่อยืนยันความผิดปกติทางสายตาแล้ว จะส่งตัวไปที่ Refraction unit หรือหน่วยวัดแว่น ซึ่งส่วนมากอยู่ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาลทั่วไป และทำการตัดแว่นตาให้
          นพ.ไชยสิทธิ์กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินการมา 4-5 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาอาศัยจากการบริจาค เช่น จากห้างแว่นหรือมูลนิธิต่าง ๆ แต่ปีนี้ สปสช. ให้ความสำคัญและจัดเป็นชุดสิทธิประโยชน์ให้ ทำให้โรงพยาบาลสามารถสั่งตัดแว่นจากร้านแว่นแล้วเบิกจ่ายไปที่ สปสช. ได้ ขณะเดียวกัน สปสช. ยังมีกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดบริการเพื่อนำส่งเด็กที่มีสายตาผิดปกติมาตรวจวัดสายตาที่โรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้น ในปีนี้เมื่อโรงเรียนไหนที่เริ่มเปิดเทอมได้แล้วทั้ง 13 เขตสุขภาพ ก็จะดำเนินการคัดกรองทันที
          ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความผิดปกติของสายตาในเด็กจะส่งผลต่อทั้งการอ่าน เขียน เรียน เล่น การรับรู้และการมองเห็น เพราะเมื่อตามีการพัฒนาก็จะเชื่อมไปกับการเรียนรู้และพัฒนาสมอง แต่เมื่อตามีความผิดปกติ เด็กจะใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่น เช่น การฟัง เข้ามาแทนที่ ดังนั้น ช่วงอายุที่ควรทำการคัดกรองจริง ๆ แล้วควรทำการคัดกรองตั้งแต่แรกเกิด โดยผู้ปกครองเป็นผู้สังเกต เช่น เด็กอายุ 2 เดือน ไม่จ้องหน้าแม่ หรือเด็กโตมีอาการปวดหัวง่าย ไม่มีสมาธิเวลาเรียนเอาแต่เล่น ปัญหาที่แท้จริงอาจเกิดจากสายตาผิดปกติก็ได้ ส่วนการตรวจคัดกรองในเด็ก ป.1 จะเป็นการคัดกรองในกรณีสายตาสั้นหรือสายตายาว เพราะถ้าเลยช่วงอายุนี้ไปแล้วเด็กจะมีภาวะสายตาขี้เกียจและไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ถ้าคัดกรองในช่วงอายุนี้ก็ยังสามารถกระตุ้นให้กลับมาทำงานได้ แต่ถ้าจะให้ดีควรคัดกรองตั้งแต่เกิดไปจนถึงทุกช่วงอายุ

          ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ สปสช. ตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนเป็นค่าแว่นตาให้กับหน่วยบริการที่ตรวจวินิจฉัย วัดค่าสายตา และสั่งตัดแว่นตา ให้กับเด็กที่มีสายตาผิดปกติทุกสิทธิการรักษา โดยจะจ่ายค่าแว่นตาให้เป็นการเฉพาะตามรายการบริการ หรือ Fee Schedule เพื่อสนับสนุนให้เด็กอายุ 3-12 ปี ทุกคนที่มีภาวะสายตาผิดปกติให้สามารถเข้าถึงแว่นตาได้ โดยจะเริ่มดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป เพื่อเป็นของขวัญให้เด็กไทยสายตาดี ขณะเดียวกัน สปสช. จะสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายองค์กรภาคการศึกษาตลอดจนภาคประชาสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการ เพื่อช่วยให้นำตัวเด็กนักเรียนเข้ามารับบริการได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
          ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความแสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพของเด็กและเยาวชนในครัวเรือนที่ยากลำบาก ซึ่งมี 15% ของทั้งประเทศ เด็กกลุ่มนี้มีปัญหาสายตาไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น  ๆ จนอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและการพัฒนาศักยภาพในระยะยาว โดย กสศ. ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือนักเรียนและวางแผนแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุดเป็นรายบุคคล โดยเน้นการทำงานแบบ Area Based Education ร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ขณะเดียวกัน กสศ.  ยังใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ ระบบ iSEE ซึ่งเป็นฐานขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ครอบคลุมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ 1.9 ล้านคน เพื่อการค้นหาและแก้ไขปัญหาภาวะสายตาผิดปกติ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้แก่เด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพได้ต่อไป
          ดร.ไกรยสกล่าวต่อว่า กสศ. ยังใช้การทำงานโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ซึ่งได้ร่วมมือกับสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อสนับสนุนครูและโรงเรียน ผ่านศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน (ฉก.ชน.) เพื่อช่วยเหลือนักเรียนอย่างครอบคลุมในทุกมิติ
          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso