สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง แนะนำการฉีดฟิลเลอร์ (Filler) หรือการฉีดสารเติมเต็มเข้าสู่ผิวหนัง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาผิว ริ้วรอยร่องลึก บริเวณต่าง ๆ ของใบหน้านั้น ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังก่อนฉีด และปฏิบัติตามข้อแนะนำก่อนและหลังการฉีดฟิลเลอร์ เพื่อลดโอกาสเกิดความผิดปกติหรือการเกิดภาวะแทรกซ้อน
นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า การฉีดฟิลเลอร์ คือ การฉีดสารเติมเต็ม ใช้สำหรับเติมเต็มเพื่อแก้ปัญหาผิว ริ้วรอยร่องลึก บริเวณต่าง ๆ ของใบหน้า โดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ชนิดชั่วคราว และชนิดกึ่งถาวร โดยชนิดชั่วคราวส่วนใหญ่จะเป็นสารกลุ่มไฮยาลูรอนิค แอซิด (Hyaluronic Acid) หรือ (HA) ในการฉีดครั้งหนึ่งจะอยู่ได้นานประมาณ 1 – 2 ปี ส่วนชนิดกึ่งถาวร ในการฉีดครั้งหนึ่งอาจอยู่ได้ยาวนานเป็น 10 ปี โดยส่วนใหญ่แพทย์จะไม่ค่อยแนะนำชนิดกึ่งถาวร เนื่องจากโดยส่วนใหญ่มักไม่สามารถสลายได้เองตามธรรมชาติเหมือนกลุ่มไฮยาลูรอนิค แอซิด เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาทำให้การรักษาค่อนข้างยาก ดังนั้น ข้อควรปฏิบัติหรือสิ่งที่ควรทราบก่อนการฉีดฟิลเลอร์ ได้แก่ 1. ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวิเคราะห์ปัญหา และวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม 2. หากมีโรคประจำตัว มียาหรือวิตามินที่ต้องรับประทานประจำควรแจ้งแพทย์ก่อนทำการรักษาทุกครั้ง 3. ควรเลือกยี่ห้อและชนิดของฟิลเลอร์ที่ได้มาตรฐานและสามารถตรวจสอบข้อมูลจากบรรจุภัณฑ์ได้ และ 4. ควรตรวจสอบสถานพยาบาลหรือคลินิกที่ได้มาตรฐานและมีใบอนุญาตถูกต้อง
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การฉีดฟิลเลอร์ไม่ได้มาตรฐาน ฉีดไม่ถูกตำแหน่ง หรือการเลือกใช้ตัวของผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะสม จะส่งผลให้เกิดการไหลของฟิลเลอร์ ผิวหนังบิดเบี้ยวหรือบวมหนาผิดรูป และมีปัญหาภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ โดยจะมีวิธีการสังเกตภาวะแทรกซ้อนหรือความผิดปกติหลังการฉีดฟิลเลอร์ ได้แก่ 1. สีผิวบริเวณตำแหน่งที่ทำการรักษาผิดปกติ เช่น ซีด หรือแดงคล้ำ 2. มีอาการปวด บวม แดงหรือช้ำมากกว่าปกติ 3. มีอาการชา 4. มีอาการบวม แดง กดเจ็บ หรือมีหนอง ที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อหรืออักเสบที่ผิวหนัง หากมีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์โดยทันที
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนังให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า หลังฉีดฟิลเลอร์เสร็จ ควรหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดและความร้อน ทาครีมกันแดดสม่ำเสมอ ควรงดการทำหัตถการบริเวณใบหน้า เช่น นวดหน้า หรือการใช้เครื่องมือที่อาจมีความร้อน รวมถึงหมั่นสังเกตความผิดปกติบริเวณใบหน้าโดยเฉพาะตำแหน่งที่ทำการรักษา ทั้งนี้ ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ หากต้องการคำแนะนำในการดูแลรักษาผิวพรรณที่ถูกวิธีแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังโดยตรง