เจาะลึกเกี่ยวกับ Long COVID ข้อมูลผลกระทบในระยะยาวของโรค COVID-19

31 พ.ค. 2565 10:29:45จำนวนผู้เข้าชม : 593 ครั้ง

หลายการศึกษาวิจัยยืนยันตรงกันเกี่ยวกับผลกระทบในระยะยาวของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค COVID-19 หรือที่เรียกว่า ภาวะ Long COVID ทั้งต่ออาการทางร่างกายและจิตใจของผู้ที่รอดชีวิตจากการติดเชื้อโรค COVID-19 จำนวนมาก และอาจเป็นได้นานถึง 2 ปี
          ในระยะหลัง ๆ มีความกังวลกันค่อนข้างมากเกี่ยวกับผลกระทบในระยะยาวของการติดเชื้อโรค COVID-19 ที่มีต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ที่รอดชีวิตจากการติดเชื้อโรค COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับยอดผู้ติดเชื้อโรค COVID-19 สะสมของทั่วโลกที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 500 ล้านคน ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลออกมาเผยแพร่มากขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับเรื่องความชุก ระยะเวลา และรายละเอียดเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจของภาวะ long COVID หรือที่เรียกกันในอีกหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น long-haul COVID, post-acute COVID-19, post-acute sequelae of SARS CoV-2 infection (PASC), long-term effects of COVID หรือ chronic COVID
          ผลการศึกษาของ Aurelie Fischer และคณะ แห่งสถาบันสุขภาพของลักเซมเบิร์ก (Luxembourg Institute of Health) ด้วยการสอบถามผู้ป่วยจำนวนเกือบ 300 ราย หลังจากผ่านการติดเชื้อโรค COVID-19 มาได้ประมาณ 1 ปี ที่ได้รับการนำเสนอในการประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 32 ของ European Congress of Clinical Microbiology & Infectious Diseases (ECCMID) ซึ่งจัดขึ้นทั้งในรูปแบบ hybrid event (onsite & online) ในกรุง Lisbon นครหลวงของโปรตุเกส  ระหว่างวันที่ 23-26 เมษายน 2565 พบว่า 6 ใน 10 หรือ 59.5% ของผู้ที่รอดชีวิตมาจากการติดเชื้อโรค COVID-19 ยังคงมีอย่างน้อย 1 อาการ หลังจากหายป่วยจากโรค COVID-19 มาแล้ว 1 ปี โดยอาการที่มีรายงานพบได้บ่อย ได้แก่ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม และหงุดหงิด
          ขณะเดียวกันผลการศึกษาจากการสอบถามผู้ที่รอดชีวิตมาจากการติดเชื้อโรค COVID-19 จำนวน 289 คน (อายุเฉลี่ย 40 ปี และประมาณ 50% เป็นผู้หญิง) ซึ่งร่วมอยู่ในการศึกษาที่มีชื่อว่า Predi-COVID เป็นการศึกษาขนาดใหญ่ที่สุดในลักเซมเบิร์กเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงและตัวชี้วัดทางชีวภาพของผู้ที่ผลตรวจยืนยันการติดเชื้อโรค COVID-19 ยังพบว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 34% ของผู้ที่รอดชีวิตมาจากการติดเชื้อโรค COVID-19 ยังคงมีอาการอ่อนเพลีย/เหนื่อยง่ายหลงเหลือต่อเนื่องมานานถึง 1 ปี นับจากเริ่มติดเชื้อโรค COVID-19 และประมาณ 13% มีอาการของระบบทางเดินหายใจที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขา นอกจากนี้ มากกว่าครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 54% ของผู้ที่รอดชีวิตมาจากการติดเชื้อโรค COVID-19 รายงานว่ายังคงมีปัญหาการนอนอยู่อีก
          อีกทั้งการศึกษาของ Aurelie Fischer และคณะ แห่งสถาบันสุขภาพของลักเซมเบิร์ก ยังพบว่าอาการใด ๆ ก็ตามของโรค COVID-19 ที่ไม่หายไปหลังจากได้รับการรักษานานถึง 15 สัปดาห์แล้ว มีโอกาสที่อาการดังกล่าวจะหลงเหลือต่อไปได้นานอย่างน้อยถึง 1 ปี และผู้ที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรงนับตั้งแต่เริ่มติดเชื้อโรค COVID-19 มีโอกาสมากกว่า 2 เท่า ที่จะยังคงมีอย่างน้อย 1 อาการของโรค COVID-19 หลงเหลืออยู่ต่อไปอีก 1 ปี เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีอาการจากการติดเชื้อโรค COVID-19 นอกจากนี้ ถึงประมาณ 64% ของผู้ที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรงนับตั้งแต่เริ่มติดเชื้อโรค COVID-19 จะมีปัญหาการนอนหลงเหลือต่อเนื่องไปอีก 1 ปี เมื่อเทียบกับผู้ที่ติดเชื้อโรค COVID-19 แต่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย
          ขณะที่การศึกษาของ แพทย์หญิง Mayca González แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจุลชีววิทยา (microbiology) และผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยของมหาวิทยาลัย Granada ในสเปน ซึ่งได้รับการนำเสนอในการประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 7 ของ Spanish Society of Precision Health ที่จัดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่าการติดเชื้อโรค COVID-19 มี long-term effects มากกว่า 50 อาการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลจากการทบทวนข้อมูลจากหลายการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่า 9 ใน 10 หรือประมาณ 87% ของผู้ป่วยโรค COVID-19 ที่ได้รับการรักษาและออกจากโรงพยาบาลแล้ว ยังคงมีอาการของโรค COVID-19 อย่างน้อย 1 อาการ ในช่วง 60 วัน หลังจากเริ่มมีอาการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2(severe acute respiratory syndrome-coronavirus-2) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรค COVID-19 ขณะที่ผู้ป่วยประมาณ 32% รายงานว่า ยังคงมี 1 หรือ 2 อาการ และประมาณ 55% รายงานว่ามีตั้งแต่ 3 อาการขึ้นไป นอกจากนี้ ยังพบว่ามากกว่า 50% ของผู้ป่วยติดเชื้อโรค COVID-19 แบบมีอาการ หรือ symptomatic COVID-19 รายงานว่ายั งคงมีอย่างน้อย 1 อาการ ของโรค COVID-19 ต่อไปอีก 1 ปี หลังจากเริ่มมีอาการเจ็บป่วยจากโรค COVID-19
          พร้อมกันนี้ การศึกษาของ แพทย์หญิง Mayca González ยังพบว่า ในบรรดา 50 อาการ ที่เป็นผลกระทบในระยะยาวของการติดเชื้อโรค COVID-19 ในหมู่ผู้ป่วยโรค COVID-19 ที่ได้รับการรักษาและออกจากโรงพยาบาลแล้ว อาการที่มีรายงานพบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ อ่อนเพลีย/เหนื่อยง่าย (58%), ปวดศีรษะ (44%), ขาดสมาธิ (27%) และผมร่วง (25%) ส่วนอาการต่าง ๆ ที่เป็นผลกระทบในระยะยาวของการติดเชื้อโรค COVID-19 ที่สัมพันธ์กับหรือสงสัยว่าจะเกิดจาก vagus nerve dysfunction ที่มีรายงานพบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ ท้องร่วง (73%), หัวใจเต้นผิดจังหวะ (59%), เวียนศีรษะ (45%), กลืนลำบาก (45%) และเสียงผิดปกติ (45%)

          ส่วนอีกหนึ่งการศึกษาแบบ longitudinal cohort study โดย นายแพทย์ Lixue Huang (Department of Pulmonary and Critical Care Medicine, China–Japan Friendship Hospital, Capital Medical University, Beijing, China) และคณะ ที่ได้รับการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของวารสาร Lancet Respiratory Medicine เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ซึ่งติดตามและประเมินผู้ป่วยจำนวนเกือบ 1,200 คน ที่รอดชีวิตจากการติดเชื้อโรค COVID-19 หลังออกจากการรักษาตัวในโรงพยาบาล Jin Yin-tan ในเมืองอู่ฮั่น มลฑลหูเป่ยของจีน ในช่วงวันที่ 7 มกราคม ถึง 29 พฤษภาคม 2563 โดยคณะผู้วิจัยทำการประเมินผู้ป่วยเหล่านี้ที่รอดชีวิตจากการติดเชื้อโรค COVID-19 ด้วย 6-min walking distance (6MWD) test, laboratory tests และแบบสอบถามเกี่ยวกับ symptoms, mental health, health-related quality of life (HRQoL), return to work และ health-care use after discharge
          คณะผู้วิจัยติดตามผู้ที่รอดชีวิตจากการติดเชื้อโรค COVID-19 หลังออกจากการรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อประเมิน health outcomes ที่ 6 เดือน (16 มิถุนายน ถึง 3 กันยายน 2563) หลังจากเริ่มมีอาการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโรค COVID-19, ที่ 12 เดือน (16 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564) หลังจากเริ่มมีอาการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโรค COVID-19 และที่ 2 ปี (16 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 10 มกราคม 2565) หลังจากเริ่มมีอาการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโรค COVID-19 ผู้ที่รอดชีวิตจากการติดเชื้อโรค COVID-19 มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 57 ปี เมื่อออกจากการรักษาตัวในโรงพยาบาล และ 46% เป็นผู้หญิง โดยการศึกษานี้ถือเป็นการติดตามผู้ที่รอดชีวิตจากการติดเชื้อโรค COVID-19 หลังออกจากการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ยาวนานที่สุดที่มีการศึกษากันอยู่ในปัจจุบัน
          ผลการศึกษาพบว่า มากกว่า 50% ของผู้ที่รอดชีวิตจากการติดเชื้อโรค COVID-19 จะยังคงมีอย่างน้อย 1 อาการ ของโรค COVID-19 หลงเหลืออยู่ต่อไปอีก 2 ปี หลังจากเริ่มมีอาการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโรค COVID-19 โดยมีสัดส่วนหรือจำนวนของผู้ที่รอดชีวิตจากการติดเชื้อโรค COVID-19 และมีอาการอย่างน้อย 1 อาการ หลังออกจากการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ 6 เดือน อยู่ที่ 68% และที่ 2 ปี อยู่ที่ 55% โดยอาการที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ อ่อนเพลียและกล้ามเนื้ออ่อนแรง (31%) และปัญหาการนอน (31%)
          ขณะเดียวกันพบว่า ผู้ที่รอดชีวิตจากการติดเชื้อโรค COVID-19 และมีภาวะ long COVID ต่อไปอีกเป็นเวลา 2 ปี นับแต่เริ่มมีอาการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโรค COVID-19 จะมีปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น mobility problems, pain หรือ discomfort และ anxiety หรือ depression มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผู้ที่รอดชีวิตจากการติดเชื้อโรค COVID-19 แต่ไม่ได้มีภาวะ long COVID
          สำหรับการศึกษาแรก ๆ ที่น่าสนใจก่อนหน้านี้เกี่ยวกับภาวะ long COVID ในผู้ที่รอดชีวิตจากการติดเชื้อโรค COVID-19 มีการศึกษาของ Olalekan Lee Aiyegbusi และคณะ (Institute of Applied Health Research ของมหาวิทยาลัย University of Birmingham ในอังกฤษ) ที่รวบรวมและทบทวนหลาย articles เกี่ยวกับภาวะ long COVID โดยผลการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the Royal Society of Medicine ปี 2564 พบว่า ภาวะ long COVID มี 2 symptom clusters หลัก ๆ  ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และปัญหาของระบบทางเดินหายใจส่วนบน ขณะที่ปัญหาที่เป็น multisystem complaints เช่น มีไข้ต่อเนื่องและอาการทางระบบทางเดินอาหาร
          โดยอาการ long COVID ที่มีรายงานพบได้บ่อยที่สุด คือ อ่อนเพลีย (74%) ส่วนอาการอื่น ๆ ได้แก่ dyspnea (32%), myalgia (25%), joint pain (20%), headache (18%), cough (18%), chest pain (15%), modified sense of smell (14%), modified sense of taste (7%) และ diarrhea (6%)
          นอกจากนี้ Olalekan Lee Aiyegbusi และคณะ ยังรายงานว่า cognitive impairment หรือที่เรียกกันว่า brain fog, amnesia, sleep disorder, palpitations และ sore throat ก็เป็นอาการของ long COVID ที่พบได้ค่อนข้างบ่อยเช่นกัน แต่ที่มีรายงานพบได้ค่อนข้างน้อย ได้แก่ runny nose, sneezing, hoarseness และ ear pain อีกทั้งผู้ที่รอดชีวิตจากการติดเชื้อโรค COVID-19 และมีภาวะ long COVID ยังมักรายงานค่อนข้างบ่อยว่าภาวะ long COVID มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สุขภาพจิตและหน้าที่การงานของพวกเขาด้วย
   

แหล่งที่มาของข้อมูล :
www.cdc.gov,www.thelancet.com, www.medscape.com,
www.healio.com,www.medrxiv.org,
https://medicalxpress.com,www.eurekalert.org