สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า วงการแพทย์จะเริ่มทดลองใช้วิธีใหม่ในการรักษาโรคตับกับมนุษย์ โดยหวังว่าเทคนิคนี้จะช่วยชีวิตคนไข้ระยะสุดท้ายได้ โดยไม่ต้องผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะแต่อย่างใด
บริษัท LyGenesis ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเมืองพิตต์สเบิร์กของสหรัฐฯ กำลังจะเริ่มการทดลองใช้เซลล์ตับของผู้บริจาคที่มีสุขภาพดี ฉีดเข้าไปในต่อมน้ำเหลืองของผู้ป่วยโรคตับระยะสุดท้าย เพื่อเพาะปลูก “ตับจิ๋ว” ซึ่งเป็นอวัยวะขนาดเล็กขึ้นในต่อมน้ำเหลืองที่มีอยู่หลายจุดทั่วร่างกาย
หากวิธีการนี้ประสบความสำเร็จ คาดว่าจะสามารถปลูกตับจิ๋วได้มากถึง 5 ชิ้น ภายในร่างกายของคนไข้เพียงคนเดียว ซึ่งตับขนาดเล็กเหล่านี้จะช่วยทำหน้าที่ขจัดสารพิษในร่างกาย รวมทั้งเสริมการทำงานของตับดั้งเดิมที่เสียหายหนักได้
แม้ตับของคนเราจะเป็นอวัยวะที่มีความสามารถในการฟื้นฟูตนเองสูง จนเซลล์ตับส่วนใหญ่มีอายุอ่อนเยาว์ไม่เกิน 3 ปี อยู่เสมอ ไม่ว่าเจ้าของตับจะมีอายุมากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่ในกรณีของผู้ป่วยโรคตับที่มีอาการหนัก อวัยวะนี้จะถูกทำลายจนได้รับความเสียหายร้ายแรง ทำให้ตับไม่อาจฟื้นฟูตนเองได้อีกต่อไป และจะต้องพึ่งพาการปลูกถ่ายอวัยวะรวมทั้งเทคนิคใหม่อื่น ๆ เพื่อรักษาชีวิตคนไข้
วิธีเพาะตับจิ๋วในต่อมน้ำเหลืองผ่านการทดลองในสัตว์มาแล้ว โดยประสบความสำเร็จในการทดสอบกับหนู สุนัข และหมูเป็นอย่างดี ถ้าหากสามารถใช้กับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย วิธีนี้จะช่วยชีวิตคนไข้โรคตับระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายตับใหม่ รวมทั้งแก้ปัญหาขาดแคลนผู้บริจาคอวัยวะได้ด้วย เนื่องจากตับที่ได้รับบริจาคมาเพียง 1 ชิ้น จะใช้รักษาผู้ป่วยได้มากถึง 75 คน
นอกจากที่ลำคอแล้ว คนเรายังมีต่อมน้ำเหลืองอีกหลายแห่งทั่วร่างกาย
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้จะต้องกินยากดภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต เพื่อไม่ให้ร่างกายต่อต้านเซลล์ตับจิ๋วซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมจากร่างกายของผู้บริจาค
ไมเคิล ฮัฟฟอร์ด ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท LyGenesis บอกว่า ในขั้นแรกจะมีการทดลองในกลุ่มเล็กกับคนไข้โรคตับระยะสุดท้าย 12 คน โดยเบื้องต้นจะฉีดเซลล์ตับของผู้บริจาคให้ผู้เข้าร่วมทดลองคนแรกราว 50 ล้านเซลล์ ก่อน และจะเพิ่มจำนวนขึ้นให้กับกลุ่มทดลองคนหลัง ๆ จนถึงระดับสูงสุด 250 ล้านเซลล์ ซึ่งจะสามารถเพาะตับจิ๋วได้มากถึง 5 ชิ้น ในร่างกายของคนไข้เพียงคนเดียว
“หลังการฉีดเซลล์ตับใหม่ไม่นาน ต่อมน้ำเหลืองซึ่งเป็นที่ฟักตัวอย่างดีของเซลล์ตับจะค่อย ๆ สลายตัวไป เหลือไว้เพียงตับจิ๋วที่มีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงมากมาย ช่วยทำหน้าที่ฟอกขจัดสารพิษในเลือด โดยเสริมการทำงานของตับดั้งเดิมได้” นายฮัฟฟอร์ดกล่าว
ผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมดจะถูกติดตามดูอาการ รวมทั้งตรวจวัดการเจริญเติบโตและประเมินการทำงานของตับจิ๋วเป็นเวลา 1 ปี ก่อนที่ทีมผู้วิจัยจะสรุปผลการทดลองในขั้นต้นมาให้ทราบกันได้ในปี 2024 หรือราว 2 ปี หลังจากนี้
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.bbc.com/thai/articles/cp0yn7vynz0o