สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ อสม. และประชาชน วิ่งรณรงค์ชุมชนปลอดยุง “วิ่งไล่ยุง” พร้อมกันทั่วประเทศ ปลุกกระแสให้ทุกที่ปลอดลูกน้ำยุงลาย พร้อมส่งเสริมการออกกำลังกาย
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ อสม. และประชาชน ร่วมรณรงค์ชุมชนปลอดยุง“วิ่งไล่ยุง” มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 4,000 คน เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และส่งเสริมการออกกำลังกาย
ดร.สาธิต กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกและไข้ปวดข้อยุงลาย ยังคงเป็นปัญหาในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และมีแนวโน้มเกิดการระบาด จากการสำรวจลูกน้ำยุงลาย พบว่า ในวัด โรงเรียน โรงแรม โรงงาน ยังพบลูกน้ำยุงลายมากกว่าร้อยละ 30 และในชุมชนมากกว่าร้อยละ 20 กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ควบคุมโรคในโครงการ “จิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย” ช่วงก่อนเข้าฤดูการระบาดในเดือนมกราคมถึงมีนาคม ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาทองที่สามารถตัดวงจรชีวิตยุงได้ เนื่องจากไข่ยุงลายสามารถอยู่ได้เป็นปี โดยเฉพาะตามภาชนะ เช่น โอ่ง แจกัน จานรองตู้กับข้าว จานรองกระถางต้นไม้ ยางรถยนต์เก่า ถังเก็บน้ำในห้องน้ำ ที่ที่มีน้ำขังจะมีไข่ยุงเกาะ สังเกตได้ง่าย ๆ ไข่ยุงจะเป็นขุยดำ ๆ เล็ก ๆ ติดอยู่ตามขอบ ต้องขัดไข่ยุงออก ดังนั้น ช่วงเวลานี้จึงเหมาะสมที่จะต้องช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ รวมทั้งให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้นำชุมชน และประชาชน เฝ้าระวังโรคและออกสำรวจกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในชุมชนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
“ขอให้ประชาชนทุกคนหันมาใส่ใจเริ่มต้นจากดูแลบ้านตนเอง สำรวจภาชนะต่าง ๆ ไม่ให้มีน้ำขัง หากมีแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้ ควรปิดฝาภาชนะให้มิดชิด หรือในแจกันดอกไม้ควรเปลี่ยนน้ำทุก ๆ 7 วัน เก็บทำลายเศษวัสดุต่าง ๆ ไม่ให้มีน้ำขัง และควรเก็บบ้านให้โปร่งไม่มีมุมอับที่เกาะพักของยุง ตัดวงจรชีวิตยุงลาย ลดการแพร่ระบาดของโรค ป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด รวมทั้งออกกำลังกายสม่ำเสมอให้มีร่างกายแข็งแรง” ดร.สาธิต กล่าว
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การวิ่งรณรงค์ชุมชนปลอดยุง “วิ่งไล่ยุง” จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักและกระตุ้นเตือนให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านตนเองและในสถานที่สำคัญต่าง ๆ นำไปสู่การป้องกันการระบาดของโรค รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนได้ออกกำลังกาย มีสุขภาพที่ดีห่างไกลจากโรคและภัยสุขภาพ กิจกรรมในวันนี้ที่ส่วนกลางจะเป็นการเดิน – วิ่งรณรงค์ระยะทาง 5 กิโลเมตร ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศเป็นการเดิน – วิ่งรณรงค์เช่นกัน และจะรณรงค์ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมีนาคม 2563
“การวิ่งไล่ยุงเพียงวันเดียว ไม่สามารถกำจัดยุงได้ แต่จะเป็นการปลูกจิตสำนึก สร้างความตระหนักว่า ร่างกายที่แข็งแรงต้องควบคู่ไปกับสุขภาพดีไร้โรคภัยด้วย วิ่งออกกำลังกายหากเจอขยะ/ภาชนะที่สามารถรองรับน้ำเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ก็ให้ช่วยกันเก็บทำลาย เมื่อไม่มียุงลายก็จะไม่มีใครป่วยตายจากโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา” นพ.ศุภกิจกล่าว
ทั้งนี้ จากสถานการณ์โรคติดต่อนำโดยยุงลาย ในปี 2562 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 128,964 ราย เสียชีวิต 133 ราย สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังถึง 2 เท่า และโรคไข้ปวดข้อยุงลายมีผู้ป่วยรวม 11,484 ราย สูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่า