สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ (มส.ผส.) เผยแพร่ผลสำรวจ เรื่อง “ทัศนคติต่อผู้สูงอายุ และความต้องการในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย ของคนในวัย Generation Z” ทางเพจเฟซบุ๊ค “สูงวัย” มีกลุ่มตัวอย่าง 636 คน เป็นประชากร Generation Z หมายถึง “ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2539-2555” แบ่งเป็นชาย ร้อยละ 39.9 หญิง ร้อยละ 56.4 ไม่ระบุร้อยละ 3.6
ซึ่ง 3 อันดับแรกของอายุกลุ่มตัวอย่าง อันดับ 1 อายุ 16 ปี ร้อยละ 22.2 รองลงมา อายุ 17 ปี ร้อยละ 17.9 และอันดับ 3 อายุ 18 ปี ร้อยละ 13.8 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 56.4 อยู่ในกรุงเทพฯ จังหวัดอื่น ๆ ร้อยละ 33.6 และเขตปริมณฑล ร้อยละ 9.9 ระดับการศึกษา 3 อันดับแรกของกลุ่มตัวอย่าง อันดับ 1 มัธยมศึกษาตอนปลาย รองลงมา อุดมศึกษา และอันดับ 3 มัธยมศึกษาตอนต้น
พบว่า 1.กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 57.9 ทราบว่า วัยสูงอายุตามคำนิยามของประเทศไทย เริ่มนับเมื่อมีอายุ 60 ปี รองลงมา ร้อยละ 22 เข้าใจว่าอยู่ที่อายุ 65 ปี อันดับ 3 เข้าใจว่าอยู่ที่อายุ 16.8
2.กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.5 เข้าใจว่า ผู้สูงอายุมีสภาพร่างกายและสภาวะทางจิตใจเหมือนคนวัยอื่น ขณะที่อีกร้อยละ 39.5 เข้าใจว่า ผู้สูงอายุมีสภาพร่างกายและสภาวะทางจิตใจไม่เหมือนคนวัยอื่น
3.เมื่อถามว่าสถานการณ์ผู้สูงอายุของประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับใด พบกลุ่มตัวอย่างตอบอย่างใกล้เคียงกันมาก ประกอบด้วย อันดับ 1 สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ร้อยละ 28.1 อันดับ 2 สังคมสูงวัยระดับสุดยอด ร้อยละ 25.9 อันดับ 3 สังคมสูงวัย ร้อยละ 25.4 และอันดับ 4 ไม่ทราบร้อยละ 20.6
4.เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรกับคำว่าสังคมสูงวัย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.7 ระบุว่า ต้องเตรียมตัว รองลงมา ร้อยละ 31.6 เฉย ๆ และร้อยละ 21.7 วิตกกังวล
5.ทัศนคติ 5 อันดับแรก ที่กลุ่มตัวอย่าง Generation Z มองผู้สูงอายุ อันดับ 1 หลงลืม, เลอะเลือน อันดับ 2 เชื่องช้า, ไม่คล่องแคล่ว อันดับ 3 ไม่เปิดรับสิ่งใหม่, ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น อันดับ 4 เจ็บป่วยง่าย และอันดับ 5 มีประสบการณ์สูง, น่าเชื่อถือ
6.ความต้องการในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย (ด้านสุขภาพ) อันดับ 1 เพิ่มสิทธิการรักษาพยาบาล การบริการและการสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่ครอบคลุมทุกการรักษา อันดับ 2 การออกแบบบริการที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลและสร้างเสริมสุขภาพของตนเอง อันดับ 3 บริการออกตรวจสุขภาพ เยี่ยมบ้าน จากเจ้าหน้าที่วิชาชีพทางการแพทย์ อันดับ 4 บริการรถรับ-ส่งยังสถานพยาบาลตามการนัดหมายของแพทย์ และอันดับ 5 บริการจัดตรวจสุขภาพประจำปีฟรี
7.ความต้องการในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย (ด้านเศรษฐกิจและการมีรายได้เพื่อการยังชีพ) อันดับ 1 การเพิ่มจำนวนเบี้ยยังชีพให้มากขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพ อันดับ 2 การสนับสนุนส่วนลด หรือกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ถูกลงเป็นกรณีพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ อันดับ 3 การเพิ่มโอกาส หรือการออกมาตรการเพื่อรองรับให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุ อันดับ 4 การพัฒนาศักยภาพ การให้ความรู้เพื่อการประกอบอาชีพในวัยสูงอายุ และอันดับ 5 การออกมาตรการหรือการออกแบบสินเชื่อเพื่อรองรับการลงทุนสำหรับผู้สูงอายุ
8.ความต้องการในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย (ด้านที่อยู่อาศัย) อันดับ 1 การเพิ่มจำนวนและปรับลดอัตราค่าบริการศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจรให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น อันดับ 2 การซ่อมแซม การปรับปรุงสภาพบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เพื่อให้ใช้ชีวิตวัยสูงอายุในที่เดิมได้ อันดับ 3 บริการ ประสานงานส่งต่อ เพื่อจัดหาบ้านเรือนและที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุยากไร้ อันดับ 4 บริการจัดสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุยากไร้ และอันดับ 5 การเพิ่มจำนวนและบริการสถานสงเคราะห์ที่สอดคล้องกับจำนวนผู้สูงอายุ
9.ความต้องการในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย (ด้านสภาพสังคม) อันดับ 1 การออกแบบระบบหรือบริการที่ทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิ สวัสดิการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึงและเป็นธรรม อันดับ 2 การจัดกิจกรรมหรือการเปิดพื้นที่เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างผู้สูงอายุ การจัดกิจกรรมนันทนาการเพื่อให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้สูงอายุ อันดับ 3 การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าถึงเทคโนโลยี อาทิ การจัดสวัสดิการทั้งรูปแบบของเครื่องมือและระบบ เช่น การสนับสนุนการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ระบบอินเตอร์เน็ต เป็นต้น อันดับ 4 การออกแบบและพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อผู้สูงอายุ ทั้งเรื่องอัตราค่าเดินทางและการเข้าถึงการเดินทางที่สะดวกมากขึ้น และอันดับ 5 การจัดสวัสดิการด้านการศึกษา การเปิดห้องเรียน การส่งเสริมความรู้ผ่านรูปแบบหรือกระบวนการต่าง ๆ
10.เมื่อถามว่าให้ความสำคัญหรือมีการเตรียมความพร้อมเพื่อใช้ชีวิตในวัยสูงอายุด้านใดมากที่สุด กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 40.9 ระบุว่า ด้านสุขภาพ ส่วนอันดับ 2 กับ 3 ใกล้เคียงกัน คือ ด้านที่อยู่อาศัยกับด้านสภาพสังคม ร้อยละ 20.9 กับร้อยละ 20.6 ตามลำดับ ขณะที่ด้านเศรษฐกิจอยู่ในอันดับ 4 ร้อยละ 17.6
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) แบ่งสังคมสูงวัยออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.สังคมสูงวัย มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 10 หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด 2.สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด และ 3.สังคมสูงวัยระดับสุดยอด มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 28 หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด
ขณะที่ข้อมูล “World Population Dashboard” โดย กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) สืบค้น ณ วันที่ 14 ต.ค. 2565 ระบุว่า ทั่วโลกมีประชากรทั้งหมด 7,954 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 10 หรือ 795.4 ล้านคน เป็นผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป แต่เมื่อเจาะจงดูที่ประเทศไทย ข้อมูลชุดนี้ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 70.1 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 14 หรือราว 9.8 ล้านคน เป็นผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
เท่ากับว่า....ในปี 2565 ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” กันแล้ว!!!
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : https://www.naewna.com/local/686876