แพทย์แผนไทยแนะวิธีการทำทิงเจอร์ข่า รักษาโรคน้ำกัดเท้าใช้เองในครัวเรือน

17 พ.ย. 2565 16:51:13จำนวนผู้เข้าชม : 296 ครั้ง

 นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ช่วงนี้ทุกภาคของประเทศมีฝนตกชุกและน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ สภาพอากาศเช่นนี้มักเกิดการเจ็บป่วย ทางแพทย์แผนไทยเรียกโรคหรืออาการที่เกิดจากการเสียสมดุลของธาตุลม เช่น อาการปวดตามข้อ ปวดตามกล้ามเนื้อ หรือปวดเมื่อยตามร่างกาย อาการวิงเวียนศีรษะ ไอ จาม เป็นหวัด ท้องอืด จุกเสียดท้อง อาหารไม่ย่อย รวมถึงโรคน้ำกัดเท้า ที่มักจะเกิดจากการเดินลุยน้ำท่วมขัง หรือเท้าต้องแช่น้ำเป็นเวลานาน หากดูแลสุขภาพไม่ดีจะทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งต้องดูแลสุขภาพให้ดีเป็นพิเศษ


            กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงแนะนำการใช้อาหารเป็นยาในช่วงนี้ โดยการนำพืชผักสมุนไพรในครัวที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ พริกไทย ดีปลี กะเพรา โหระพา แมงลัก ฯลฯ มาปรุงเป็นเมนูอาหารที่ช่วยป้องกัน และบรรเทาอาการที่มักจะเกิดในช่วงฝนตกชุก เนื่องจากสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน มีส่วนประกอบหรือสารสำคัญเป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีสรรพคุณช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด ทำให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก จะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดตามร่างกาย บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะได้ และยังช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย ช่วยขับลมในลำไส้ ป้องกันอาการท้องอืด จุกเสียด อาหารไม่ย่อย อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และมีวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย


           และเพื่อรับมือโรคน้ำกัดเท้าที่พบบ่อยช่วงฤดูฝน แนะนำทำทิงเจอร์ข่าไว้ใช้ในครัวเรือน วิธีไม่ยุ่งยาก เพียงนำเหง้าข่าแก่ล้างน้ำให้สะอาด ทุบหยาบ ๆ ใส่ลงในโหลแก้ว เติมแอลกอฮอล์ที่ใช้ล้างแผลลงไปพอท่วม ปิดฝาให้สนิท ทิ้งไว้ 7 วัน หมั่นคนเช้า – เย็น เมื่อครบกำหนด กรองเอาแต่น้ำมาใช้ได้ทันที วิธีใช้ คือ ใช้สำลีชุบทาบริเวณที่เป็นโรคน้ำกัดเท้าหรือกลากเกลื้อน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น จนกว่าจะหาย เมื่อหายดีแล้วให้ทาต่อไปอีก 2 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่าโรคน้ำกัดเท้าหายสนิทดี โดยห้ามทาในบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน และบริเวณแผลเปิด หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรหรือการแพทย์แผนไทย สอบถามแพทย์แผนไทยในหน่วยบริการของรัฐได้ทั่วประเทศ หรือโทร. 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์เฟซบุ๊กและไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก


 


ขอขอบคุณข้อมูลข่าวและที่มา  :    ผู้สื่อข่าว : นฤมล อุดมพร / สวท.


                                             ผู้เรียบเรียง : อนงนาฎ สิทธิคง


                                             แหล่งที่มา : Radio-สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย


                                              https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG