ประชากรจีนลดต่ำเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี ไทยคนตายแซงคนเกิดต่อเนื่องปีที่ 2

02 ก.พ. 2566 14:35:04จำนวนผู้เข้าชม : 229 ครั้ง

  อัตราการเกิดจีนเหลือ 6.77 คนต่อประชากร 1,000 คน


ประชากรจีนหดต่ำลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี ด้วยอัตราเกิดลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เหลือ 6.77 คน ต่อประชากร 1,000 คน


          ผลการสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2022 พบว่า ประชากรจีนหดต่ำเหลือ 1,411 ล้านคน ลดลง 850,000 คน จากปี 2021


         อัตราการเกิดของจีนลดต่ำลงมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว ส่งผลให้รัฐบาลจีนพยายามออกนโยบายส่งเสริมการมีบุตร เพื่อชะลอไม่ให้อัตราการเกิดลดต่ำลงไปมากกว่านี้


          แม้จะยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวมานาน 7 ปี แต่จีนในเวลานี้ได้ก้าวสู่จุดที่ทางการเรียกว่า “ยุคแห่งการเจริญเติบโตของประชากรติดลบ”


        ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่เปิดเผยออกมาเมื่อวานนี้ (17 ม.ค.) ระบุว่า อัตราการเกิดในปี 2022 ลดลงจาก 7.52 คนต่อประชากร 1,000 คน ในปี 2021 


           เมื่อเทียบกันแล้ว สหรัฐฯ มีอัตราเกิด 11.06 คนต่อประชากร 1,000 คน ส่วนสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 10.08 คนต่อประชากร 1,000 คน


           ขณะที่อินเดียซึ่งคาดว่าจะมีประชากรแซงหน้าจีนในปีนี้  มีอัตราเกิดอยู่ที่ 16.42 คนต่อประชากร 1,000 คน


           จำนวนผู้เสียชีวิตในจีนยังแซงหน้าจำนวนคนเกิดเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นปีที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุดนับแต่ปี 1976 โดยอัตราอยู่ที่ ผู้เสียชีวิต 7.37 คนต่อประชากร 1,000 คน เพิ่มจากปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 7.18 คน


           ก่อนหน้านี้ ข้อมูลของรัฐบาลชี้ว่า  จีนกำลังเผชิญกับวิกฤตทางประชากรศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้จำนวนแรงงานจีนหดตัวลง และเพิ่มภาระให้ระบบสาธารณสุข รวมถึงรัฐต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านประกันสังคมอื่น ๆ เพิ่มขึ้น

          ผลสำรวจสำมะโนประชากรจีนที่จัดทำทุก ๆ 10 ปี เมื่อปี 2021 แสดงให้เห็นว่า ประชากรจีนเติบโตด้วยอัตราช้าที่สุดในรอบหลายสิบปี ขณะที่ประเทศเอเชียตะวันออกแห่งอื่น ๆ นั้น ขนาดประชากรกำลังหดตัวลงเช่นกัน อาทิ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้


         “โลกจะเป็นไปในทิศทางนี้ต่อไป และจะแย่ลงอีกหลังโควิด” หยือ ซู นักเศรษฐศาสตร์จากหน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ (Economist Intelligence Unit) หรือ อีไอยู กล่าว โดยนางซู เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่คาดการณ์ว่า ประชากรจีนจะหดตัวลงมากกว่านี้อีกในปี 2023


          “อัตราการว่างงานในเยาวชน และผลคาดการณ์รายได้ที่ลดต่ำ จะทำให้คนจีนชะลอการแต่งงานและแผนการมีบุตรยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้จำนวนเด็กเกิดใหม่ยิ่งลดลง” เธอเสริม


           นางซูยังวิเคราะห์ว่า อัตราการเสียชีวิตในจีนในปี 2023 คาดว่าจะพุ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 จากผลพวงการระบาดของโควิดที่ยังมีอยู่และเข้าขั้นวิกฤตในจีน หลังรัฐบาลจีนยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์เมื่อปลายปี 2022


          พัฒนาการทางประชากรศาสตร์ของจีนในช่วงหลายปีมานี้ เป็นผลพวงจากนโยบายลูกคนเดียว ที่เริ่มบังคับใช้ในปี 1979 ด้วยเป้าหมายชะลอการเติบโตของประชากร โดยครอบครัวที่ละเมิดนโยบายลูกคนเดียวจะถูกปรับ และเผชิญบทลงโทษรุนแรงอื่น ๆ


         

นโยบายลูกคนเดียวกระทบประชากรศาสตร์ของจีนอย่างมาก


          จีนเป็นประเทศที่นิยมมีลูกผู้ชายมากกว่าผู้หญิง นโยบายลูกคนเดียวจึงนำมาสู่การทำแท้งเพื่อเลือกเพศบุตร เพราะครอบครัวหนึ่งจะมีประชากรได้เพียงคนเดียว


       รัฐบาลจีนยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวในปี 2016 ทำให้คู่รักที่สมรสแล้วมีบุตรได้ 2 คน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยังส่งเสริมการมีบุตร ด้วยการละเว้นภาษีและมอบหลักประกันสุขภาพสำหรับมารดาที่ดีขึ้น ด้วยเป้าหมายชะลออัตราการเจริญเติบโตของประชากรไม่ให้ลดต่ำลงไปกว่านี้


           แต่นโยบายส่งเสริมการมีบุตรเหล่านี้ กลับไม่สามารถเพิ่มอัตราการเกิดได้ โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้เหตุผลว่า เป็นเพราะนโยบายที่ส่งเสริมการมีบุตรนั้นไม่ได้มาพร้อมกับมาตรการลดภาระการดูแลบุตรที่ดีเท่าที่ควร อาทิ ความช่วยเหลือมารดาที่ต้องทำงานพร้อมเลี้ยงบุตร รวมถึงการเข้าถึงการศึกษาที่ดีขึ้นสำหรับเด็ก


           เมื่อเดือนตุลาคม 2022 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศให้การเพิ่มอัตราเกิดในประเทศเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศ ระหว่างการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะจัดขึ้นทุก ๆ 5 ปี


         ผู้นำจีนระบุว่า รัฐบาลจะดำเนิน “ยุทธศาสตร์แห่งชาติเชิงรุก” เพื่อรับมือกับประชากรที่สูงวัยขึ้นเรื่อย ๆ


         แต่ บุศราวรรณ ธีระวิชิตชัยนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยครอบครัวและประชากร มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ มองว่า ยุทธศาสตร์เชิกรุกดังกล่าว จะใช้การออกนโยบายส่งเสริมการมีบุตรอย่างเดียวไม่ได้ แต่ควรส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในครัวเรือนและที่ทำงานด้วย เหมือนกับประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ที่มีอัตราการเกิดที่ปรับตัวดีขึ้น


         อย่างไรก็ดี พอล เฉิง อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติของสิงคโปร์ วิเคราะห์ว่า จีนยังมี “จำนวนแรงงานอีกมหาศาล” และ “ระยะเวลาอีกมาก” เพื่อรับมือความท้าทายทางประชากรศาสตร์นี้


      “จีนยังไม่เข้าสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายในทันที” เขากล่าว


          ผู้สังเกตการณ์ระบุว่า การเพิ่มอัตราการเกิดอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอจะขจัดปัญหาอัตราการเจริญเติบโตของประชากรที่ชะลอตัวลง


          “การเพิ่มอัตราเกิด ไม่ได้ช่วยเพิ่มผลิตภาพ หรือเพิ่มปริมาณการบริโภคในประเทศในระยะกลาง” สจ๊วต กีเทล-แบสเทน ศาสตราจารย์ด้านนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง กล่าว


       “มาตรการที่จีนจะใช้เพื่อรับมือปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ จะเป็นตัวชี้วัดต่อไป”


นานาประเทศเสี่ยงประชากรลดด้วย


          ข้อมูลจากสหประชาชาติที่เผยแพร่ออกมาเมื่อกลางปี 2022 ชี้ว่า ประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่ในยุโรปและเอเชียมีแนวโน้มที่จะมีประชากรลดลงต่อเนื่องในอีกหลายสิบปีต่อจากนี้


          ญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย มีอัตราการเกิดที่ลดลงต่อเนื่อง โดยผู้หญิง 1 คน มีอัตราการมีบุตร 1.3 คน ไม่เพียงเท่านั้น ระหว่างปี 2011 ถึง 2021 ญี่ปุ่นสูญเสียประชากรไปมากกว่า 3 ล้านคนแล้ว


          สำหรับจีนนั้น สหประชาชาติคาดการณ์ว่า จีนจะสูญเสียประชากรเกือบครึ่งภายในปี 2100 หรือลดจากประชากร 1.4 พันล้านคน เหลือ 771 ล้านคน


         กลับกัน ประชากรในทวีปแอฟริกากลับมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จาก 1.4 พันล้านคน เป็น 3.9 พันล้านคน ภายในปี 2100 นั่นหมายความว่า ประชากรโลก 38% จะอาศัยอยู่ในแอฟริกาภายในปี 2100 จาก 18% ในปัจจุบัน


ไทยเป็นอย่างไร


         ข้อมูลจำนวนราษฎรของประเทศไทยจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2022 พบว่า มีประชากรสัญชาติไทยอยู่ในทะเบียน 66,080,812 คน โดยในปี 2022 มีประชากรเกิดใหม่ 502,107 คน และเสียชีวิต 595,965 คน หมายความว่า ไทยมีคนตายมากกว่าคนเกิด 93,858 คน แปลว่า ประชากรไทยติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว 

ประชากรไทยตายเยอะกว่าเกิดติดกัน 2 ปีแล้ว


         ศ.เกียรติคุณ ดร. ปราโมทย์ ประสาทกุล นักประชากรศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่า ประชากรไทยเริ่มลดจำนวนลงแล้ว ยังไม่นับรวมการย้ายถิ่นเข้าจากนอกประเทศ


          แต่ช่องว่างระหว่างจำนวนเกิดและตายของประเทศไทยในปี 2022 ยิ่งกว้างขึ้น อัตราเกิดเท่ากับ 7.6 ต่อประชากร 1,000 คน และอัตราตายเท่ากับ 8.9 ต่อประชากร 1,000 คน ทำให้อัตราเพิ่มตามธรรมชาติในไทยติดลบ 0.1% เช่นเดียวกับประเทศเอเชียตะวันออกหลายประเทศมีอัตราเพิ่มตามธรรมชาติติดลบ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน ทำให้ไทยเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศที่มีอัตราเพิ่มประชากรติดลบแล้ว


           “ระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กเกิดในไทยได้ดิ่งลง ตั้งแต่ปี 2017 เด็กเกิดลดต่ำลงจนแตะหลัก 7 แสนคน อีกเพียง 4 ปีต่อมา ในปี 2021 จำนวนเด็กเกิดลดลงจนมาแตะที่หลัก 5 แสนคน เมื่อเทียบกับจำนวนเกิดในแต่ละปีเมื่อ 40-50 ปีก่อนแล้ว”


          “จำนวนเด็กเกิดได้ลดลงอย่างน่าใจหาย” เขากล่าว


        จำนวนคนตายในปี 2565 สูงขึ้นมากจนเกือบแตะหลัก 6 แสนคน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากและมากกว่าคนเกิดทำให้ประชากรไทยติดลบเป็นปีที่ 2 เพราะโครงสร้างอายุของประชากรที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว


          คาดว่าปี 2566 จำนวนคนตายน่าจะถึงหลัก 6 แสนคน และถึงหลัก 7 แสนคน  ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เท่ากับว่าประชากรไทยเริ่มลดจำนวนลงแล้ว และปี 2023 ประชากรรุ่นเกิดล้าน หรือสึนามิประชากรในปี 1963 จะเข้าสู่วัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นปีแรก มีคนเกือบล้านคนเข้าสู่วัยสูงอายุ


ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล https://www.bbc.com/thai/articles/c0wdxl1ywygo


ขอขอบคุณรูปประกอบ  : GETTY IMAGES