สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
ฆาตกรต่อเนื่อง (serial killer) คืออะไร จากคดีดังที่ “แอม ไซยาไนด์” วางยาพิษฆ่าคนรอบตัวไปกว่า 10 ราย ภายในเวลาไม่กี่ปี ทำให้สังคมเกิดความสงสัยว่าพฤติกรรมแบบนี้เรียกว่าเป็นฆาตกรต่อเนื่องหรือไม่ แล้วคนที่เป็นฆาตกรต่อเนื่องจะมีลักษณะอย่างไร เป็นโรคจิตหรือไม่
ฆาตกรต่อเนื่อง (serial killer) คืออะไร
ความหมายของ ฆาตกรต่อเนื่อง (serial killer) จากเว็บไซต์ห้องสมุดสุขภาพจิต ของกระทรวงสาธารณสุข ได้อ้างคำนิยามจากสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา หรือ FBI ว่าหมายถึง ฆาตกรที่ฆ่าคนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เพื่อสนองความต้องการ หรือความพึงพอใจทางจิตใจ โดยจะมีช่วงว่างเว้นระหว่างเหยื่อแต่ละราย ซึ่งต่างจากฆาตกรรมหมู่ที่จะสังหารบุคคลหลาย ๆ คนในคราวเดียวกัน
ฆาตกรต่อเนื่องส่วนใหญ่เป็นการกระทำของบุคคลเดียว แรงจูงใจในการกระทำความผิด อาจมีได้ตั้งแต่
- ความโกรธ
- แสวงหาความตื่นเต้น
- ผลประโยชน์ทางการเงิน
- การเรียกร้องความสนใจ
วิธีการในการก่อเหตุมักจะเป็นรูปแบบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ และเหยื่อมักจะมีลักษณะบางอย่างร่วมกัน เช่น ลักษณะทางประชากร รูปร่างลักษณะ เพศ และเชื้อชาติ ในทางอาชญาวิทยา ผู้ที่เป็นฆาตกรต่อเนื่องมักจะมีลักษณะพฤติกรรมร่วมกัน 4 อย่าง คือ
1.ใช้วิธีการฆ่าเหมือนกันทุกราย
2. เป็นการฆ่าที่ไม่มีเหตุผล เหยื่อกับฆาตกรไม่มีความสัมพันธ์กันเลย
3. มีแผนฆ่าและเลือกบุคลิกลักษณะของเหยื่อที่เฉพาะ
4. เป็นกลุ่มคนที่มีปัญหาทางจิต แต่ไม่ได้เป็นโรคจิต หรือจิตเภท ที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เพียงแค่มีความผิดปกติทางจิตใจเท่านั้น
ผู้ที่เป็นฆาตกรต่อเนื่องส่วนมากจะเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมที่ตัดขาดจากสังคมภายนอก (Antisocial Personality Disorder) แต่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคจิต หรือวิกลจริตอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะในทางกฎหมาย คนวิกลจริต คือ คนที่ไม่มีความสามารถในการไตร่ตรองถึงผลกระทบของการกระทำ ไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจเหยื่อ โกหก และลงมือฆ่าเพื่อความสุข
ความน่ากลัวของฆาตกรต่อเนื่อง คือ ดูภายนอกเหมือนคนปกติทั่วไปจนแยกไม่ออก แต่ภายในจิตใจซุกซ่อนความดำมืดไว้
ในทางกลับกัน คนที่เป็นฆาตกรต่อเนื่อง มักจะรู้ตัวดีว่ากำลังทำอะไรอยู่ โดยสังเกตจากวิธีการทำลายหลักฐาน อำพรางศพ และพยายามหลบหนี
ผู้ที่เป็นฆาตกรต่อเนื่อง จึงมีความน่ากลัว เพราะคนส่วนใหญ่มักจะดูไม่ออก เนื่องจากดูภายนอกเหมือนคนปกติทั่วไป อาจมีความแตกต่างบ้าง เช่น เก็บตัว ไม่เข้าสังคม
นอกจากนี้ การเป็นฆาตกรต่อเนื่อง ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน การรักษาด้วยยาจึงไม่ได้ผล ต้องใช้การบำบัด และรักษาจากประวัติของแต่ละคนเป็นราย ๆ ไป เพราะไม่รู้ว่าจิตใจของเขาเคยถูกกระทำอะไรมาบ้าง และอะไรคือสิ่งที่กระตุ้นให้เขาทำแบบนั้น
อ้างอิงข้อมูล : ห้องสมุดสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, กรมสุขภาพจิต, iStrong Mental Health
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2689421