สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
โรคมะเร็งกระดูก (Bone cancer หรือ Malignant bone tumor) เป็นโรคของเด็กโต วัยรุ่น และวัยหนุ่มสาว ช่วงอายุประมาณ 10-20 ปี แต่อาจพบในช่วงอายุอื่น ๆ ได้บ้างทั้งในเด็กเล็กจนถึงในผู้สูงอายุ ซึ่งโรคมะเร็งกระดูกพบได้เพียงประมาณ 6% ของโรคมะเร็งในเด็กทั้งหมด
โรคมะเร็งกระดูก แบ่งออกเป็น 2 ชนิดด้วยกัน คือ
1. โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ (Primary bone cancer หรือ Primary bone tumor) โรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ของเนื้อเยื่อกระดูกเอง มักจะเกิดในอวัยวะพวกรยางค์ แขนขา ซึ่งตำแหน่งที่เกิดส่วนใหญ่ คือ ใกล้ข้อ เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อไหล่ เป็นต้น โรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ (Secondary bone cancer หรือ Secondary bone tumor) โรคมะเร็งกระดูกที่เกิดจากโรคมะเร็งอื่น ๆ แพร่กระจายมาที่กระดูก ซึ่งประมาณ 30-40% ของมะเร็งที่กระจายมาจะพบที่แขนขา และประมาณ 50-60% จะกระจายมาที่ตรงส่วนกลางของร่างกาย เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกซี่โครง กะโหลกศีรษะ เป็นต้น
2. โรคมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่กระดูกมีเกือบทุกชนิดและมักจะกระจายมาในช่วงท้าย ๆ ของโรค แต่มีโรคมะเร็ง 5 ชนิด ที่กระจายมากระดูกตั้งแต่ในระยะต้นของการเป็นโรค ได้แก่ มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งไต และมะเร็งต่อมลูกหมาก
โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิเป็นกลุ่มมะเร็งที่พบได้น้อย จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบอุบัติการณ์ของโรคประมาณ 0.8 รายต่อประชากรแสนราย ซึ่งพบได้ค่อนข้างน้อย เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย จะพบในวัยเด็กค่อนข้างมาก โรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิเป็นโรคมะเร็งกระดูกที่เกิดจากการแพร่กระจายของมะเร็งชนิดอื่น ๆ จะสัมพันธ์กับโรคมะเร็งที่เป็นอยู่ จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ประมาณ 30,000 รายต่อปี ซึ่งผู้ป่วยมีการกระจายไปที่กระดูกประมาณ 20% ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่เป็นในระยะท้าย ๆ ของโรค
ปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งกระดูก
โรคมะเร็งกระดูกยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน ปัจจุบันมีหลักฐานเพิ่มขึ้นพบว่า
1. โรคมะเร็งกระดูกเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของยีนในร่างกาย
2. เกิดจากการกระตุ้นโดยสิ่งแวดล้อม เช่น สารเคมี ยาฆ่าแมลง สารรังสี เป็นต้น คนที่ทำงานอยู่ใกล้กับสารเคมี หรือทำงานในโรงงานที่เกี่ยวข้องกับรังสีหรือทางการแพทย์ ทำให้มีโอกาสเกิดมะเร็งได้
3. เกิดขึ้นจากการรักษาในปัจจุบัน เช่น การให้เคมีบำบัด การให้รังสีรักษา เหล่านี้กระตุ้นทำให้เกิดมะเร็งขึ้นโดยง่ายนอกจากนี้ เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางโลกาภิวัตน์ โรคบางอย่างที่เกิดขึ้นในทางประเทศแถบยุโรปบางโรค ทำให้มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งกระดูกได้สูง ซึ่งในปัจจุบันโรคเหล่านี้ได้เกิดขึ้นในประเทศเรา และพบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิด ในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีการเพิ่มของโรคมากขึ้นกว่าเดิม สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคมะเร็งกระดูกนั้นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยเหล่านี้ประกอบกัน
ลักษณะทางคลินิกของโรค
โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ ผู้ป่วยมักมีอาการปวด ซึ่งอาการปวดจะมีข้อแตกต่างจากอาการปวดทั่ว ๆไป เป็นการปวดแบบทุกข์ทรมาน ปวดตลอดเวลา และมีปวดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่ปวดในเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน มีก้อนเกิดขึ้น มีการผิดรูปของอวัยวะ เช่น แขนขาผิดรูป กระดูกหักแบบมีพยาธิสภาพ คือ หักแบบไม่มีเหตุในการที่จะหัก เช่น เดินแล้วหัก นอกจากนี้ ที่พบเพิ่มขึ้นเรียกว่าพบโดยบังเอิญโดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการแต่มีรอยโรคเกิดขึ้น มักจะพบจากการที่ผู้ป่วยไปตรวจสุขภาพประจำปี หรืออาจเกิดจากเกิดอุบัติเหตุ เล่นกีฬา ไปตรวจเอกซเรย์แล้วพบ ซึ่งปัจจุบันมักจะพบลักษณะแบบนี้มากขึ้น
โรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ ผู้ป่วยมักมีอาการปวด เรื่องก้อนจะไม่ค่อยชัดเจน มีภาวะเรื่องกระดูกหักโดยที่เกิดจากพยาธิสภาพ เช่น ยกของแล้วกระดูกหัก เดินหกล้มแล้วหัก เป็นต้น นอกจากนี้คืออาการของทางระบบประสาท เช่น อาการชา อาการอ่อนแรง จนกระทั่งเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น หรือบางครั้งอาจมาด้วยการตรวจพบโดยบังเอิญ ข้อแตกต่างระหว่างโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิและโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ คือ โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิจะเด่นเรื่องของก้อน และการผิดรูปของอวัยวะ ส่วนมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิจะไม่เด่นเรื่องก้อน แต่จะมีภาวการณ์เป็นอัมพาตหรือการอ่อนแรงเกิดขึ้น
ความรุนแรงของโรคมะเร็งกระดูก
โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิค่อนข้างรุนแรง ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ยกตัวอย่าง มะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ ที่เรียกว่า ชนิด Osteosarcoma ซึ่งเป็นมะเร็งกระดูกชนิดที่พบบ่อยในเด็กมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะเสียชีวิตประมาณไม่เกินระยะเวลา 2 ปี สำหรับโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม พบว่า มีการกระจายไปที่กระดูกอย่างเดียว ผู้ป่วยอาจจะสามารถมีชีวิตอยู่ไปอีกนาน ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดกระจายมาที่กระดูก ในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งที่แพร่กระจายมาด้วย
โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิจะมีข้อดี คือ ถ้าพบในระยะเริ่มต้นและยังไม่มีการกระจาย ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาให้หายขาดได้ เพียงแต่ว่าโรคมะเร็งกระดูกไม่เหมือนมะเร็งชนิดอื่นตรงที่ไม่สามารถตรวจก่อนได้ ต้องอาศัยความสงสัยของทางพ่อแม่ญาติพี่น้องที่ดูแลอยู่ ว่าบุตรหลานของเขามีความผิดปกติหรือไม่อย่างไร
การตรวจวินิจฉัยแยกโรค
การเอกซเรย์กระดูก ดูตำแหน่งปวด
การตรวจ MRI ซึ่งการตรวจ MRI นั้นมีข้อดีก็คือ สามารถบอกขนาดของมะเร็งที่แท้จริงได้ ซึ่งจะใช้ในการวางแผนการผ่าตัดรักษา รวมถึงสามารถบอกผู้ป่วยได้ว่าควรจะเก็บขาไว้ หรือตัดขา ซึ่ง MRI ขณะนี้มีราคาสูง มีใช้เฉพาะตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และรังสีแพทย์ที่ใช้เครื่อง MRI จะต้องมีการฝึกฝนในการใช้เครื่องนี้อย่างดี เพื่อให้ความแม่นยำเพิ่มขึ้น
การตรวจชิ้นเนื้อ
เป็นการนำตัวอย่างชิ้นเนื้อมาตรวจดู เพื่อการวินิจฉัยและบอกระยะของโรค เพราะว่าระยะของโรคมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องแผนการรักษาผู้ป่วย
โดยปกติมะเร็งกระดูกจะกระจายไปที่ 2 อวัยวะหลัก คือ 1.กระจายไปที่ปอด 2.กระจายไปที่กระดูกชิ้นอื่น ซึ่งต้องมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม คือ
- การเอกซเรย์ปอด
- การทำ CT Scan ปอด ซึ่งการทำ CT Scan ปอดจะละเอียดและรวดเร็วกว่า
- การทำ Bone Scan เพื่อดูการกระจายของมะเร็ง การทำ Bone Scan จะสามารถหาได้เฉพาะบางจุด และการแปลผลจะต้องอาศัยความชำนาญ
การรักษาโรคมะเร็งกระดูก
เมื่อตรวจวินิจฉัยได้ทั้งชิ้นเนื้อและระยะของโรคแล้ว ต่อไปเป็นการสรุปขั้นตอนของการรักษาโรค ซึ่งวัตถุประสงค์ของการรักษาโรคมะเร็งกระดูกทั้ง 2 ชนิดนั้นมีความแตกต่างกัน คือ การรักษาโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิหวังให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรค ซึ่งมีกระบวนการทำทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วย การรักษาโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมินั้นไม่ได้รักษาเพื่อหวังให้ผู้ป่วยรอดชีวิต แต่รักษาเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
การรักษาโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ ในปัจจุบันการรักษาหลัก คือ การผ่าตัด การให้เคมีบำบัด หรือการให้รังสีรักษา เรียกว่าเป็นการรักษาร่วม การรักษาโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมินั้นการรักษาเป็นการรักษาร่วม คือ การให้เคมีบำบัดหรือการให้รังสีรักษา ส่วนการผ่าตัดเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นของการรักษา โดยส่วนใหญ่ทำเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
การรักษาโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ
การรักษาโดยการผ่าตัด หลักการคือ นำเนื้องอกออกจากผู้ป่วยให้หมด ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี คือ
การตัดอวัยวะ คือ ตัดแขนหรือขาส่วนที่เป็นมะเร็งออกไป ตัดเฉพาะส่วนของตัวกระดูกที่เป็นเนื้องอกออกไป ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีใหม่ เพิ่งจะนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย แต่การรักษาโดยวิธีนี้ไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกราย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็งและความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย
การตัดอวัยวะ ในสมัยก่อนการตัดอวัยวะเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยทุกรายกังวล และไม่อยากให้ไปถึงตรงจุดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ปัจจุบันเทคโนโลยีเรื่องของขาเทียมเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งในเรื่องวัสดุและความสะดวกสบายในการปรับใช้ ดังนั้น การใช้ขาเทียมแทบไม่เป็นปัญหาอะไร ผู้ป่วยสามารถทำทุกอย่างได้เหมือนคนปกติทั่วไป ส่วนที่เหลือ คือ ผู้ป่วยต้องมีการฝึกเดิน พร้อมกับการเปลี่ยนความคิดใหม่ว่าการตัดขาไม่ใช่การสิ้นสุดของชีวิตอีกต่อไป
การเก็บอวัยวะ หลักการ คือ ตัดเฉพาะส่วนเนื้องอกออกไป และนำกระดูกมาทดแทนส่วนที่ตัดไป
สมัยก่อนเรานำกระดูกจากผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้วมาทดแทนส่วนที่ถูกตัดออกไป ข้อดีของการเปลี่ยนกระดูก คือ ผู้ป่วยไม่ต้องทานยากดภูมิคุ้มกันเหมือนการเปลี่ยนอวัยวะอื่น เนื่องจากกระดูกเป็นโครงสร้างและไม่มีเนื้อเยื่อ การใส่กระดูกเข้าในผู้ป่วยจึงไม่เกิดภาวะต้าน หรือถ้าหากเกิดก็จะน้อยมาก
เนื่องจากกระดูกที่นำมาจากผู้ป่วยที่เสียชีวิต โดยส่วนใหญ่เป็นกระดูกของผู้สูงอายุ และนำมาเปลี่ยนให้กับเด็ก เป็นกระดูกที่ตาย กระดูกเหล่านี้จึงมีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนกับกระดูกทั่ว ๆไป และมีการสลายได้ง่ายขึ้น หรือมีการหักได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าหากผู้ป่วยรู้จักวิธีการดูแลรักษากระดูก กระดูกจะอยู่ได้หลายปี
ปัจจุบันเป็นเรื่องน่าเสียดาย เนื่องจากการบริจาคกระดูกเป็นที่รู้จักค่อนข้างน้อย และทางสภากาชาดไทยยังคงไม่มีนโยบายที่จะทำเรื่องนี้ ในปัจจุบัน Bone Bank มีอยู่ 2 แห่งที่ทำเรื่องนี้ คือ โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งแต่ก่อนจะใช้วิธีการเก็บกระดูกจากผู้ป่วยที่เสียชีวิตที่ไร้ญาติ ปัจจุบันเป็นข้อห้ามทางกฎหมาย และไม่สามารถทำได้แล้ว จึงเป็นเรื่องของการบริจาคกระดูก แต่เนื่องจากขาดการประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ จึงทำให้ไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทย ในปัจจุบันแทบไม่มีกระดูกใช้เลย
การทำ Recycling Bones เป็นการนำเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่นเข้ามาใช้ โดยนำกระดูกผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งกระดูกที่ถูกตัดออกมาแล้ว นำมาทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งการทำลายเซลล์มะเร็งมีได้หลายวิธี เช่น การฉายรังสี โดยใช้ปริมาณรังสีที่สูงมาก ทำให้เซลล์มะเร็งที่อยู่ในกระดูกตายหมด จากนั้นเอาตัวเซลล์มะเร็งที่ตายออก นำกระดูกชิ้นนั้นใส่เหล็กและนำกลับเข้าไปในผู้ป่วยเหมือนเดิม หรือนำกระดูกผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งไปแช่ในไนโตรเจนเหลว อุณหภูมิประมาณลบ 167 องศาเซลเซียส เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งทางโรงพยาบาลรามาธิบดี เริ่มมีการใช้แล้ว แต่การนำกระดูกเหล่านี้ไปทำกรรมวิธีเหล่านั้น ทำให้กระดูกเสียคุณภาพได้ ดังนั้น กระดูกอาจจะหักง่ายไม่เหมือนกระดูกทั่ว ๆไป และมีระยะเวลาในการใช้งานประมาณ 5 ปี
การใช้ข้อเทียม ข้อเทียมที่เป็นโลหะ การใช้ข้อเทียมในการรักษาโรคมะเร็งกระดูกไม่เหมือนกับการใช้ข้อเทียมอย่างอื่น การใช้ข้อเทียมในการรักษาโรคมะเร็งกระดูกต้องใช้โลหะที่มีความแข็งแรงมากกว่า และกรรมวิธีในการผลิตก็จะมากกว่า
การรักษาโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ
การรักษาโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ เป็นการรักษาเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ดังนั้น หลักการรักษา คือ
1. ผู้ป่วยต้องไม่ปวด
2. ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยกลับมาใช้อวัยวะข้างที่เป็นอยู่ได้ทันที เช่น ผู้ป่วยกระดูกหักที่ขา เมื่อผ่าตัดเสร็จ เขาสามารถกลับมาเดินได้ เป็นต้น และ
3. ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยพึ่งผู้อื่นน้อยที่สุด ถ้าสามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมาช่วยตนเองได้ เขาก็จะมีความภาคภูมิใจในตัวเอง และไม่เสียคุณค่าของตัวเองไป ดังนั้น ผู้ป่วยก็ยังอยากที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป
การผ่าตัด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเสริมกระดูกที่เสียหายให้แข็งแรง ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยที่มะเร็งกระจายไปที่กระดูกสันหลัง ทำให้กระดูกสันหลังยุบตัว การผ่าตัดเพื่อใส่เหล็กเข้าไปค้ำเพื่อไม่ให้กระดูกทรุดตัว หรือเมื่อมีการกดไขสันหลัง การผ่าตัดเพื่อไปตัดตำแหน่งที่กดออกไป เป็นต้น
การรักษาแบบตัดกระดูกออกไปแทบไม่ค่อยทำในผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่ปัจจุบันแนวคิดของการรักษาเปลี่ยนไป ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือโรคมะเร็งเต้านม ที่มีชีวิตอยู่ 20 ปี แม้ว่ามะเร็งจะกระจายไปที่กระดูก ผู้ป่วยยอมผ่าตัดเอากระดูกออกและใส่เหล็กเข้าไป ลักษณะนี้เรียกว่า Active โรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิไม่สามารถใช้การรักษาด้วยวิธี Recycling Bones ได้ เนื่องจากกระดูกเป็นมะเร็งทั้งหมด
การติดตามการรักษาโรคมะเร็งกระดูก
ในกรณีโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิจะมีการติดตามการรักษา คือ
1. เมื่อผ่าตัดไปแล้ว มะเร็งจะเกิดซ้ำหรือไม่
2. มะเร็งมีการกระจายไปที่ปอดหรือกระจายไปที่กระดูกหรือไม่ โดยจะมีการเอกซเรย์ หรือ Bone Scan เป็นระยะ ๆ ประมาณ 80% ของผู้ป่วยมีการกลับซ้ำภายใน 2 ปี และผู้ป่วยที่เหลือประมาณ 20% ประมาณครบ 5 ปี พอหลังจาก 5 ปีแล้ว เปอร์เซ็นต์การเกิดซ้ำของโรคมะเร็งหรือการกระจายของมะเร็งก็จะลดลงไปมาก ถ้าเกิน 5 ปีไปแล้ว ไม่มีการเกิดซ้ำของโรค เรียกว่าหายขาดได้
แพทย์กับความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งกระดูก
แพทย์ที่เรียนมาเพื่อทำสาขาออร์โธปิดิกส์ในประเทศไทยมีประมาณ 3,000-4.000 คน จะมีแพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่ทำงานทางด้านมะเร็งกระดูกอยู่ประมาณ 30 กว่าคน แต่ที่ทำงานด้านนี้ในภาคปฏิบัติจริง ๆ มีไม่เกิน 20 คน จำนวนที่เหลือขึ้นรับตำแหน่งผู้บริหารไปแล้ว ซึ่งจำนวนแพทย์ที่รักษาไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย เราพยายามที่จะสอนนักศึกษา สอนให้กับแพทย์ประจำบ้านที่จบออกไปแล้ว ให้ทำงานตรงนี้ได้ แต่เนื่องจากการรักษาตรงนี้มีความซับซ้อนมากกว่าการรักษาทั่ว ๆ ไป การดูแลผู้ป่วยต้องใช้สหสาขา โรงพยาบาลหลายแห่งไม่ได้มีแพทย์ครบทุกสาขา ไม่สามารถจัดการเองได้ สุดท้ายเขาส่งผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกมาที่ส่วนกลางที่นี่เพื่อทำการรักษา ซึ่งแพทย์ในขณะนี้มีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งกระดูกมากขึ้น
เทคโนโลยีในอนาคตในการรักษาโรคมะเร็งกระดูก
ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการผ่าตัด คือ มีการผ่าตัดแบบ Minimal Invasive Surgery คือ การผ่าตัดแบบเจาะรู ขณะนี้ผมมีการพัฒนาเรื่องการผ่าตัดแบบเจาะรูเพื่อรักษาโรคมะเร็งกระดูกขึ้นมาในผู้ป่วยระยะเริ่มต้นที่มาพบแพทย์เร็ว วิธีการ คือ เมื่อตรวจพบว่าผู้ป่วยเริ่มมีการก่อเซลล์มะเร็งขึ้นในจุดใดจุดหนึ่งในกระดูก ก็จะเจาะรูที่กระดูกตรงนั้น จากนั้นใช้ probe ตัวเส้นที่ให้ความร้อน ผ่านระบบแรงสั่นสะเทือนให้ความร้อนทำลายมะเร็ง ซึ่งเราเริ่มทำในผู้ป่วยประมาณ 2-3 รายแล้ว และได้ผลดี เพียงแต่ว่าผู้ป่วยต้องเข้ามาในระยะเริ่มต้นเท่านั้น
ในอนาคตเรื่องมะเร็งกระดูกอาจจะไม่ใช่โรคที่ต้องรักษาโดยการผ่าตัดอีกต่อไป จะเป็นโรคของการให้ยา เรียกว่า Targeted Therapy เป็นการรักษาโดยใช้ยาที่เข้าไปรักษายีนโดยตรง ตอนนี้มีการค้นพบเรื่อย ๆ ในเรื่องยีนที่เฉพาะเจาะจงกับโรคมะเร็งกระดูก แต่ว่ามะเร็งกระดูกจะแตกต่างจากมะเร็งชนิดอื่น คือ ในก้อนมะเร็งกระดูกจะมียีนอยู่หลายชนิดและยีนแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน จึงไม่สามารถบอกได้ว่ามะเร็งกระดูกมียีนที่เป็นยีนชนิดเดียวกัน ดังนั้น Targeted Therapy จะยังเข้าไม่ถึงจนกว่าจะสามารถทราบได้ว่ามะเร็งกระดูกมียีนอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง
สุดท้าย การรักษาโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ อยากให้การรักษาอยู่ในระดับเริ่มต้น ดังนั้น พ่อแม่ที่ดูแลลูก เวลาลูกไม่สบายมีอาการเจ็บที่แขนขา ให้ความสนใจและเอาใจใส่ อย่ารอให้ลูกเป็นมากถึงพาไปพบแพทย์ และการไปพบแพทย์ควรไปพบแพทย์ที่เชี่ยวชาญโดยตรง
โรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิเป็นปัญหาที่ล้นมือ อยากให้แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยช่วยประเมิน และส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป เนื่องจากผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกจำเป็นต้องได้รับการติดตามในระยะยาว ก็ฝากแพทย์ที่ดูแลดูแลต่อ และหากมีข้อสงสัยในเรื่องแผนการรักษา สามารถปรึกษาแพทย์ที่ทางเราได้โดยตรง ซึ่งเรามีทีมงานพยาบาลด้วย นอกจากนี้ ควรนึกถึงจิตใจผู้ป่วยและญาติด้วย ควรให้ข้อมูลกับผู้ป่วยอย่าให้ในทางลบมากนัก หรือให้ในทางบวกมากเกินไป
ขอขอบคุณข้อมูล : ผศ.นพ.อดิศักดิ์ นารถธนะรุ่ง
ขอขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล : https://www.rama.mahidol.ac.th/cancer_center/th/knowledge_/bone_cancer