โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งคืออะไร

24 ก.ค. 2566 11:51:03จำนวนผู้เข้าชม : 381 ครั้ง

เรียบเรียงโดย กภ.สุชญา สถาวรานนท์

โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า เอ็มเอส (MS) ซึ่งย่อมาจาก multiple sclerosis นับเป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังทางระบบประสาทที่พบได้ในคนวัยหนุ่มสาว โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งเป็นโรคที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นโรคที่วินิจฉัยค่อนข้างยาก และผู้ป่วยอาจมีความพิการในระดับสูงหากไม่ได้รับการวินิจฉัยคัดแยกโรค ตลอดจนรับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก (1)


ประวัติความเป็นมาของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง


      Robert Carswell (1793-1857) ศาสตราจารย์ด้านพยาธิวิทยา ชาวอังกฤษ และ Jean Cruveilhier (1791-1873) ศาสตราจารย์ด้านกายวิภาคพยาธิวิทยา ชาวฝรั่งเศส ได้อธิบายและแสดงรายละเอียดอาการแสดงทางคลินิกหลายอย่างของโรคนี้ แต่ ณ ขณะนั้นยังไม่ได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการคัดแยกโรคนี้ออกจากโรคอื่น


      ต่อมา Jean-Martin Charcot (1825-1893) นักประสาทวิทยา ชาวฝรั่งเศส ที่มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 19 ซึ่งทำงานที่โรงพยาบาลในกรุงปารีส เป็นบุคคลแรกที่อธิบายรายละเอียดทางคลินิกร่วมกับได้ตั้งชื่อโรคนี้ว่า โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis) ในปี ค.ศ.1868 โดยเขาได้ตรวจร่างกายหญิงสาวคนหนึ่งที่ป่วยและแสดงอาการสั่น พูดไม่ชัด ร่วมกับมีการเคลื่อนไหวของดวงตาที่ผิดปกติไป เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตลง เขาได้ตรวจสอบเนื้อเยื่อสมองและพบว่ามันมีร่องรอยของแผลเป็นอยู่มากมาย การค้นพบของ Charcot นี้นำไปสู่การสร้างเกณฑ์การวินิจฉัยในเวลาต่อมา ที่เรียกว่า Charcot’s triad ซึ่งประกอบด้วย อาการตากระตุก (nystagmus) อาการสั่น (ataxia) และพูดไม่ชัด (dysarthria) (2)


สาเหตุของการเกิดโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง


        เส้นประสาทในสมองและไขสันหลังของคนเราจะมีปลอกหุ้มเส้นประสาทมัยอิลิน (myelin sheath) ซึ่งทำหน้าที่ช่วยส่งสัญญาณประสาทให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ในผู้ป่วยที่เป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ปลอกหุ้มเส้นประสาทมัยอิลินจะถูกทำลาย ทำให้การสื่อสารของระบบประสาทส่วนกลางในบริเวณนั้นแย่ลง ส่งผลให้ผู้ป่วยแสดงอาการของโรคที่แตกต่างกันไป


        ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการทำลายของปลอกหุ้มเส้นประสาทมัยอิลินนั้น ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าอาจเกี่ยวโยงกับปัจจัยทางพันธุกรรม ระบบภูมิคุ้มกัน การเสื่อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพของระบบประสาทเอง หรือเกิดจากโรคร่วมอื่น นอกจากนี้ อาจมีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น แสงแดด รังสียูวี การติดเชื้อไวรัส หรือมีภาวะพร่องวิตามินดี เป็นต้น (3–5)


อุบัติการณ์/ความชุกในการเกิดโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง


      ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งกว่า 2 ล้านคนทั่วโลก พบได้ในชนผิวขาวมากกว่าชนผิวสี และพบได้บ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชายราว 2-3 เท่า ในช่วงอายุ 20-40 ปี ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งราว 1,500 คนทั่วประเทศ แต่พบในเวชระเบียนของโรงพยาบาลเพียง 500 คน จึงอาจกล่าวได้ว่าผู้ป่วยหลายคนยังไม่ทราบว่าตนป่วยด้วยโรคนี้ กอปรกับการขาดการวินิจฉัยที่ถูกต้อง


      ดังที่  รศ.พญ. นาราพร ประยูรวิวัฒน์ ประธานชมรมแพทย์เอ็มเอสไทย ภาควิชาอายุรศาสตร์ ระบบโรคประสาท คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้กล่าวไว้ว่า “ผู้ป่วยหลายคนไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นโรคนี้ เพราะเป็นโรคที่วินิจฉัยค่อนข้างยาก ต้องอาศัยแพทย์ที่มีประสบการณ์ หรือจบด้านประสาทวิทยา รวมถึงการตรวจ MRI สมองและไขสันหลังเข้าร่วมด้วย เนื่องจากอาการของโรคแตกต่างกันมาก ขึ้นกับระบบประสาทที่ผิดปกติว่าเป็นส่วนใด และระบบประสาทส่วนนั้นเกี่ยวข้องกับอวัยวะใด เนื่องจากระบบประสาทเปรียบเหมือนศูนย์บัญชาการใหญ่ให้ร่างกายสามารถทำงานประสานกันได้ตั้งแต่ระบบกล้ามเนื้อ ความรู้สึกต่าง ๆ ดังนั้น เมื่อเกิดโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง จึงเกิดความผิดปกติได้ทุกระบบของร่างกาย” (1,5,6)


การตรวจวินิจฉัยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง


         แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้โดยอาศัยอาการแสดงทางคลินิกและการซักประวัติเป็นสำคัญ ประกอบกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging: MRI), การเจาะน้ำไขสันหลัง (cerebrospinal analysis: CSF analysis) และการเหนี่ยวนำผ่านทางเดินเส้นประสาท (evoked electrophysiological potentials) (6, 7)


อาการของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง


       ผู้ป่วยแต่ละคนอาจแสดงอาการแตกต่างกันออกไปได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ปลอกหุ้มเส้นประสาทนั้นถูกทำลาย (8, 9) ได้แก่


- รอยโรคในไขสันหลัง


- การรับรู้ความรู้สึกผิดปกติตามแขน ขา เช่น อาการชาแบบไม่รู้สึกหรือรู้สึกเหมือนเข็มทิ่ม


- กล้ามเนื้อกระตุกหดเกร็ง อ่อนแรงหรือล้าง่าย โดยมักส่งผลกระทบที่ขามากกว่าแขน ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก มีรูปแบบการเดิน การทรงตัวผิดปกติไป และอาจทำให้เดินไม่ได้ในที่สุด


- ปัญหาการขับถ่าย เช่น กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ปัสสาวะอุจจาระเล็ด ท้องผูก ท้องเสีย หรือปัสสาวะบ่อย


- ปัญหาสมรรถภาพทางเพศ


รอยโรคในสมอง


- ระดับการรู้สึกตัวที่ลดลง


- อาการชา อ่อนแรงแบบครึ่งซีก ชักเกร็ง


- ปัญหาเรื่องประสานสัมพันธ์การเคลื่อนไหวของร่างกาย (coordination) และการทรงตัว (balance)


- ปัญหาด้านการพูดหรือการกลืน เช่น พูดไม่ชัด กลืนลำบาก


- อาการปวดทั้งแบบฉับพลันและเรื้อรัง


- ปัญหาทางความคิดและอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า ขี้ลืม หรือมีภาวะอารมณ์แปรปรวน


          หากถูกทำลายที่เส้นประสาทตา จะทำให้มีปัญหาด้านการมองเห็น เช่น ตากระตุก (nystagmus) ประสาทตาอักเสบ (optic neuritis) มองเห็นไม่ชัด (blurred vision) หรือเห็นภาพซ้อน (diplopia)


         อาการที่กล่าวมาข้างต้นนี้สามารถเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อถูกกระตุ้นด้วยอุณหภูมิแกนกลางร่างกายเพิ่มขึ้น (Uhthoff phenomenon) (10) เช่น การออกกำลังกายกลางแจ้ง การแช่น้ำร้อน เนื่องจากประสิทธิภาพการส่งสัญญาณประสาทผ่านปลอกหุ้มเส้นประสาทมัยอิลิน (myelin sheath) ลดลง


         การตรวจร่างกายจะเน้นที่การตรวจทางระบบประสาท (neurological examination) โดยจะพบปฏิกิริยาตอบสนองรีเฟลกซ์ที่มากขึ้น (hyperreflexia) กล้ามเนื้อเกร็ง (spasticity) กำลังกล้ามเนื้ออ่อนแรง (muscle weakness) การรับรู้ความรู้สึกที่ผิดปกติ (abnormal sensation) การเดินมีการสั่นส่ายขณะเคลื่อนไหว (ataxia) พูดไม่ชัด (dysarthria) เป็นต้น


รูปแบบการดำเนินของโรค


           โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งส่งผลต่อผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกัน โดยพบว่าอาจแสดงการดำเนินของโรคได้หลากหลายรูปแบบ เช่น (7)


- Relapsing-remitting MS (RRMS) พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 80-85% คือ มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เป็นช่วง ๆ โดยไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะกำเริบเมื่อไร และอาการของโรคจะแย่ลงเร็วหรือไม่


- Secondary progressive MS (SPMS) คือ อาการเป็น ๆ หาย ๆ ในช่วงแรก หลังจากนั้นก็จะแย่ลงอย่างรวดเร็ว


- Primary progressive MS (PPMS) คือ อาการค่อย ๆ แย่ลงไปเรื่อย ๆ เป็นเส้นตรง โดยไม่มีช่วงที่โรคกำเริบ


          ระดับความพิการที่ปรากฏอาจมากขึ้นภายหลังการกำเริบของโรค และพบว่าแนวโน้มการดำเนินของโรคจะแย่ลงไปเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น หากพบว่ามีอาการแสดงคล้ายดังที่ระบุไว้ข้างต้น ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว การได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรค จะช่วยชะลออาการและการดำเนินของโรค ตลอดจนช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้


เอกสารอ้างอิง :


1.       Chanatittarat C, Chaikledkaew U, Prayoonwiwat N, Siritho S, Pasogpakdee P, Apiwattanakul M, et al. Economic burden of Thai patients with inflammatory demyelinating central nervous system disorders (IDCDs). Pharm Sci Asia. 2019; 46(4): 260–9.


2.       Milo R, Miller A. Revised diagnostic criteria of multiple sclerosis. Autoimmun Rev. 2014; 13(4–5): 518–24.


3.       Belbasis L, Bellou V, Evangelou E, Ioannidis JPA, Tzoulaki I. Environmental risk factors and multiple sclerosis: an umbrella review of systematic reviews and meta-analyses. Lancet Neurol. 2015; 14(3): 263–73.


4.       Ramagopalan SV, Dobson R, Meier UC, Giovannoni G. Multiple sclerosis: risk factors, prodromes, and potential causal pathways. Lancet Neurol. 2010; 9(7): 727–39.


5.       Milo R, Kahana E. Multiple sclerosis: Geoepidemiology, genetics and the environment. Autoimmun Rev. 2010; 9(5): A387-94.


6.       เดชเทวพร จ. [Internet]. โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ความอันตรายของหนุ่มสาว [updated 2018 March 15; cited 2022 March 12]. Available from: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง


7.       Multiple Sclerosis Association of America. [Internet]. Types of Multiple Sclerosis. [updated 2020; cited 2022 March 12]. Available from: https://mymsaa.org/ms-information/overview/types/


8.       Ledesma J, Puttagunta PP, Torabi S, Berube K, Tamrazian E, Garcia D, et al. Presenting symptoms and disease severity in multiple sclerosis patients. Neurol Int. 2021; 13(1): 18–24.


9.       Compston A, Coles A. Multiple sclerosis. Lancet Neurol. 2008; 372(9648): 1502–17.


10.      Corvillo I, 10. Varela E, Armijo F, Alvarez-Badillo A, Armijo O, Maraver F. Efficacy of aquatic therapy for multiple sclerosis: a systematic review. Eur J Phys Rehabil Med. 2017; 53(6): 944–52.


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :  https://pt.mahidol.ac.th/knowledge/?p=2610