ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน อันตรายถึงขยับไม่ได้

24 ก.ค. 2566 15:56:18จำนวนผู้เข้าชม : 385 ครั้ง

หลายคนเมื่อมีอาการปวดตามข้ออาจจะมีสาเหตุจากโรคข้ออักเสบทั่วไป แต่ถ้าอาการปวดข้อเกิดขึ้นร่วมกับอาการทางผิวหนัง เช่น ผิวหนังอักเสบ ตกสะเก็ดเป็นขุยสีขาว อาจบ่งบอกถึงโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน ดังนั้น จึงไม่ควรละเลยข้ออักเสบสะเก็ดเงิน เพราะอาจเกิดขึ้นได้และรุนแรงมากกว่าที่คิด


รู้จักข้ออักเสบสะเก็ดเงิน
                   โรคข้ออักเสบและปวดหลังเกิดขึ้นได้ใน 35% ของผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบสะเก็ดเงิน โดยที่ผู้ป่วยข้ออักเสบอาจมีอาการปวดบวมข้อได้หลายรูปแบบ เช่น มีอาการในข้อข้อเดียว หรือมีอาการในหลาย ๆ ข้อก็ได้ รวมทั้งอาการปวดหลัง บางคนมีเอ็นอักเสบบวมทั้งนิ้ว บางคนปวดหลายที่ย้ายไปเรื่อย ๆ แต่อาจไม่บวมให้เห็นชัด บางคนมีปวดหลังเป็นหลัก บางคนเจ็บหรือบวมเฉพาะเอ็นร้อยหวายหรือส้นเท้า
                   คนไข้ส่วนใหญ่ที่มีอาการปวดหลังเป็นหลัก มักแสดงอาการปวดหรือตึงหลังตอนเช้าหรือหลังจากอยู่เฉย ๆ ได้สักพัก เวลาขยับตัวแล้วอาการจะดีขึ้น บางรายอาจปวดแบบอื่น ผู้ป่วยอาจปวดที่เอวหรือต่ำกว่าเอว
                   อาการปวดข้อในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน อาจมีสาเหตุมาจากการอักเสบในเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ที่เชื่อมระหว่างเส้นเอ็นและกระดูก (entheses) โดยผู้ป่วยมักมีอาการปวดใกล้ ๆ ข้อ แต่อาการบวมอาจจะไม่สามารถสังเกตได้ชัดเจน และอาจจะมีค่าการอักเสบในเลือดสูงขึ้น
ตรวจวินิจฉัยโรค
การตรวจวินิจฉัยนอกจากพิจารณาจากประวัติและการตรวจร่างกายแล้ว ยังพิจารณาจาก
-การตรวจเลือด เพื่อดูค่าการอักเสบ
-การถ่ายภาพรังสี เพื่อดูการกร่อนของกระดูก
-การทำอัลตราซาวนด์ เพื่อดูการอักเสบของเอ็นหรือถุงน้ำ
-การทำ MRI แบบฉีดสี เพื่อดูการอักเสบของเอ็นยึดข้อกระดูกสันหลังหรือข้อกระเบนเหน็บ
                   ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดบริเวณเอว และ/หรือ ก้นเพียงอย่างเดียว มีความจำเป็นที่จะต้องทำ MRI ทั้งส่วนกระดูกสันหลังระดับเอวและส่วนข้อกระเบนเหน็บ เพื่อใช้ในการแยกโรคอื่น ๆ ที่อาจมีอาการแสดงคล้ายกัน เช่น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และโรคมะเร็ง

รักษาข้ออักเสบสะเก็ดเงิน
การรักษาข้ออักเสบจากโรคผิวหนังสะเก็ดเงิน ทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับอาการเป็นหลัก
-ข้ออักเสบข้อเดียว สามารถรักษาโดยการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อและติดตามอาการได้
-ข้ออักเสบหลายข้อ การรักษาขึ้นกับองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น ผลเลือด ผลภาพถ่ายรังสี แพทย์จะพิจารณาว่าจะใช้ยารับประทานแบบใด ซึ่งยาที่ใช้ในการรักษามีหลายชนิด เช่น ยาต้านรูมาติสซั่มแบบดั้งเดิม เช่น เม็ทโธเทรกเสด ซัลฟาซาลาซีน ในปัจจุบันมียากลุ่มใหม่ เช่น กลุ่ม janus kinase inhibitor ในรูปแบบยารับประทาน หรือยาฉีดสารชีวภาพ ซึ่งยาในกลุ่มใหม่นี้จะออกฤทธิ์เร็วขึ้นเพื่อลดการอักเสบ โดยการออกฤทธิ์ของยากลุ่มใหม่นี้จะจำเพาะเจาะจงกับระบบภูมิคุ้มกันส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการอักเสบโดยตรง
-หากมีอาการปวดหลังเป็นอาการหลัก แพทย์จะเริ่มจากให้ยารับประทานต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น จะปรับการรักษาเป็นยาฉีดสารชีวภาพมากกว่าที่จะให้ยาต้านรูมาติสซั่มแบบดั้งเดิม เพราะประสิทธิภาพดีกว่า ส่วนการจะเลือกยาตัวใดนั้น ยังขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการทางผิวหนัง และประวัติการใช้ยาในอดีตด้วย
                   โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมโดยเร็ว หากปล่อยทิ้งไว้อาการอาจรุนแรงจนไม่สามารถใช้งานข้อได้ หรือพิการ เมื่อมีอาการปวดข้อหรือปวดหลัง ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและรักษาให้ถูกวิธี


ขอขอบคุณข้อมูล : พญ. กัลยกร เชาว์วิศิษฐ
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.bangkokhospital.com/