สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
การได้รับรังสีสามารถก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นกับเนื่อเยื่อและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราได้ ผลที่เกิดจากรังสีนี้เรียกว่า กลุ่มอาการ (syndrome) หรือการเจ็บป่วยจากรังสี (radiation sickness) รังสีสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่ยีนส์ของร่างกาย ทำให้พัฒนาไปเป็นโรคต่างๆ ในภายหลัง เช่น มะเร็ง หรือทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับลูกหลานในรุ่นถัดไป
รังสีทำอะไรกับร่างกาย?
รังสีทำปฏิกิริยากับอะตอม ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเซลล์ในร่างกาย โดยทำให้เกิดประจุไฟฟ้า ซึ่งทำให้เกิดอันตรายได้
รังสีในธรรมชาติมีระดับรังสีต่ำ จึงทำให้เกิดผลกระทบน้อย ร่างกายจึงสามารถซ่อมแซมหรือฟื้นฟูขึ้นใหม่ได้ แต่ร่างกายจะไม่สามารถต่อสู้กับความเสียหาย ถ้าได้รับรังสีระดับสูง
เซลล์ของร่างกายที่ไวต่อรังสีมากที่สุด ได้แก่เซลล์เยื่อบุลำไส้ (crypt cells) เซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค และเซลล์ไขกระดูกซึ่งทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว ผลที่เกิดขึ้นกับเซลล์เหล่านี้ ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยจากรังสีตามมา
เชอร์โนบิล อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในโลก
ความเสียหายที่เกิดกับเซลล์เยื่อบุลำไส้ ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และทำให้มีอาการจากการสูญเสียน้ำ (dehydratation)
รังสีที่ผ่านเข้าไปในร่างกายจะถูกเนื้อเยื่อดูดกลืนไว้บางส่วนหรือทั้งหมด ส่วนกัมมันตภาพรังสีที่ตกลงมาเป็นอนุภาค หรือฝุ่นรังสี (fallout) สามารถจะเข้าไปในร่างกายได้ทั้งจากการรับประทานและการหายใจ
อาการเป็นอย่างไร?
การเจ็บป่วยจากรังสี (radiation sickness) มีหลายอาการปรากฏออกมา โดยความรุนแรงขึ้นกับปริมาณรังสีที่ได้รับ อาการเริ่มต้นได้แก่ อาการคลื่นไส้ (Nausea) อาเจียน (Vomiting) ท้องร่วง (Diahorrea) อ่อนเพลีย (Fatigue) และอาจตามมาด้วยอาการ ปวดศีรษะ หายใจขัด ชีพจรเต้นเร็ว มีแผลในปากและลำคอ เหงือกอักเสบหรือฟันร่วง ผมร่วง ไอแห้งๆ เจ็บหน้าอก ผิวหนังไหม้ หรือมีรอยดำ มีจุดใต้ผิวหนังขึ้นทั่วตัว ตกเลือด โลหิตจาง
ในกรณีที่อาการหนัก เนื่องจากได้รับรังสีปริมาณสูง ประมาณ 10 เกรย์ (gray) หรือมากกว่า อาจจะเสียชีวิตภายใน 2-4 สัปดาห์
หลังจากได้รับรังสีปริมาณสูงทั่วร่างกาย ผู้ที่รอดชีวิตอยู่ได้ถึง 6 สัปดาห์ ร่างกายอาจจะเริ่มฟื้นคืนกลับมา
ทำการรักษาอย่างไร?
เมื่อเกิดการเจ็บป่วยจากรังสี สามารถใช้ยาแก้อาเจียน และยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ รวมทั้งอาจจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อที่ตามมา และอาจต้องมีการให้เลือดในกรณีของผู้ป่วยที่โลหิตจาง
ผลต่อสุขภาพในระยะยาวเป็นอย่างไร?
การเจ็บป่วยเนื่องจากได้รับรังสีจะแสดงอาการอยู่ประมาณ 10 – 15 ปี หลังจากได้รับรังสี เนื่องจากต่อมไร้ท่อที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนมีความไวต่อรังสี
ปัจจุบันมีการยอมรับกันแล้วว่า อุบัติเหตุที่เชอร์โนบิล ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งของต่อมไทรอยด์สูงขึ้นมากใน 3 ประเทศที่ได้ผลกระทบครั้งนั้น
โดยมีผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ 680 รายในเบลารุส รัสเซีย และยูเครน เฉพาะในเบลารุสมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 100 เท่า จาก 0.3 คนในล้านคน ในปี 1981-85 เป็น 30.6 คนในล้านคน ในปี 1991-94
Unicef ได้รายงานการเพิ่มขึ้นของปัญหาสุขภาพอีกหลายชนิดในเบลารุสนับตั้งแต่เกิดการระเบิดขึ้นมา
ตัวอย่างเช่น ปัญหาเกี่ยวระบบประสาทและการรับรู้ เพิ่มขึ้น 43% ปัญหาของระบบทางเดินอาหาร 28% ปัญหาของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น 62%
กระทรวงเชอร์โนบิลในยูเครน ประมาณว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี มีการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อสูงกว่าพื้นที่อื่น 2 เท่า
แต่มีนักวิทยาศาสตร์บางคนตั้งข้อสงสัยว่า อาจมีการกล่าวโทษว่าเป็นผลของรังสี จากปัญหาการดูแลทางด้านสาธารณสุขที่ไม่ดีของรัฐที่อยู่รอบเชอร์โนเบล
Dr George Vargo จากโครงการความปลอดภัยนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ (International Nuclear Safety Program) ได้โต้แย้งว่าการพังทลายของระบบเศรฐกิจการคลังและการสาธารณสุขของยูเครนและเบลารุส รวมทั้งระดับทางโภชนาการที่ต่ำลงน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องนี้
เขาได้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาความเจ็บป่วยบางกรณี อาจเกิดจากความเครียด มากกว่าเป็นผลโดยตรงของการได้รับรังสี
คนรุ่นต่อไปจะเป็นอย่างไร?
นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาผู้เคราะห์ร้ายจากการระเบิดที่เชอร์โนบิลและพบว่า รังสีเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ซึ่งสามารถส่งต่อไปยังรุ่นต่อไป
การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมนี้ เกิดขึ้นในเด็กที่อยู่ในพื้นที่มีการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี สูงเป็น 2 เท่าของการเปลี่ยนแปลงตามปกติ และเป็นผลที่เกิดขึ้นแบบถาวรในดีเอนเอ ซึ่งสามารถส่งไปยังรุ่นต่อไปได้
ผลที่เกิดขึ้นจากรังสีนี้ ไม่มีการสำรวจในผู้ที่รอดชีวิตที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ
ถอดความจาก Radiation sickness
เวบไซต์ http://news.bbc.co.uk
Wednesday, 6 October, 1999
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.nst.or.th/