สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
ศ.ดร.นพ. ฉัตรชัย เหมือนประสาท
โรคซึ่งมีสาเหตุจากกลไกการเกิดโรคที่ซับซ้อน มักอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง NCDs โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโลกอย่างรุนแรง
ศ.ดร.นพ. ฉัตรชัย เหมือนประสาท ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษาหลังปริญญาและวิจัย และอาจารย์ประจำโรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "เบาหวาน" เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะ "ไตเสื่อม" ซึ่งเป็นหนึ่งในโรค NCDs ที่มีกลไกการเกิดโรคที่ซับซ้อนในระยะรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ "เครื่องฟอกไต" เพื่อทดแทนการทำงานของไต ในการขจัดของเสียภายในร่างกายที่กำลังอยู่ในสภาวะไม่สมดุล
ซึ่งการมีภาวะน้ำตาลเกินเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เซลล์ไตไม่แข็งแรง ไปจนถึงเกิดการอักเสบในเลือดจนเป็นพิษต่อไต
ชะเอมเทศ
ศ.ดร.นพ. ฉัตรชัย เหมือนประสาท และทีมวิจัย ประสบผลสำเร็จจากการค้นพบสารสังเคราะห์ที่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากสารชาลโคน (chalcone) ที่พบในสมุนไพรหลายชนิด เช่น ชะเอมเทศ เป็นต้น ที่ป้องกันภาวะไตเสื่อมในสัตว์ทดลองที่เป็นไตจากเบาหวานครั้งแรก โดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ "Biomedicine & Pharmacotherapy"
ซึ่งเป็นการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างนักวิจัยชีววิทยา - เคมี จาก 2 สถาบันอุดมศึกษาของไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ทุนวิจัยร่วมไทย-จีน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) และมหาวิทยาลัยมหิดล และการสนับสนุนสัตว์ทดลองที่ได้รับการเหนี่ยวนำให้อยู่ในสภาวะตามโจทย์วิจัยจาก สถาบันแคโรลินสกา (Karolinska Institute) ราชอาณาจักรสวีเดน
ไตเสื่อม
ไตเสื่อมมีกลไกการเกิดโรคที่ซับซ้อน ไม่ได้เกิดจากภาวะเบาหวานเพียงสาเหตุเดียว และปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันและรักษาโรคดังกล่าว
โดยทีมวิจัยคาดว่าการค้นพบสารสังเคราะห์ที่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากสารที่พบในสมุนไพรไทยดังกล่าว จะเป็นความหวังสู่การพัฒนา "ยาตำรับใหม่" เพื่อมวลมนุษยชาติปลอดโรคไต และเบาหวานได้ต่อไปในอนาคต