พิลังกาสาสรรพคุณและประโยชน์ของต้นพิลังกาสา 20 ข้อ !

21 ก.ย. 2566 14:10:51จำนวนผู้เข้าชม : 13287 ครั้ง

โดย เมดไทย ปรับปรุงเมื่อ 02 พฤษภาคม 2020
พิลังกาสา ชื่อวิทยาศาสตร์ Ardisia polycephala Wall. ex A.DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Tinus polycephala (Wall. ex A. DC.) Kuntze)[4],[6] จัดอยู่ในวงศ์ PRIMULACEAE (MYRSINACEAE)[1]
                     สมุนไพรพิลังกาสา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักจำ ผักจ้ำแดง (เชียงใหม่, เชียงราย), ตีนจำ (เลย), ลังพิสา (ตราด), ทุรังกาสา (ชมพร), ราม (สงขลา), ปือนา (มลายู-นราธิวาส), พิลังกาสา (ทั่วไป), จิงจ้ำ, จ้ำก้อง, มะจ้ำใหญ่, ตาปลาราม, ตาเป็ด, ทุกังสา, มาตาอาแย เป็นต้น[1],[2],[3],[6]
                    หมายเหตุ : ในพืชวงศ์เดียวกัน “พิลังกาสา” ยังเป็นชื่อพ้องของพรรณไม้อีกหลายชนิด เช่น พิลังกาสาชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ardisia elliptica Thunb. ซึ่งในชนิดนี้เราจะเรียกว่า “รามใหญ่” (มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่คล้ายคลึงกับพิลังกาสามาก และยังมีสรรพคุณทางยาที่เหมือนกันหลายอย่าง สามารถอ่านได้ที่บทความ รามใหญ่) และพิลังกาสาชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ardisia sanguinolenta Blume (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ardisia colorata Roxb.) ชนิดนี้โดยทั่วไปแล้วจะเรียกว่า “มะจ้ำก้อง” สามารถอ่านได้ที่บทความ มะจ้ำก้อง
ลักษณะของพิลังกาสา

ต้นพิลังกาสา 


                    - ต้นพิลังกาสา เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปตั้งแต่หมู่เกาะริวกิวของประเทศญี่ปุ่น และกระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงอินเดียภาคใต้[6] โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม มีความสูงของต้นประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขาออกรอบต้น แต่ไม่มากนัก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ชอบดินทรายหรือดินเหนียว แต่ไม่ชอบดินแฉะ โดยจะพบพรรณไม้ชนิดนี้ได้ตามป่าราบและมีประปรายอยู่ทั่วไป[1] บ้างว่าพบได้ตามป่าโปร่ง ป่าดิบเขาทั่วไป ที่ราบสูง[3]
                   - ใบพิลังกาสา ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นคู่ ๆ ตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบไม่มีจัก แผ่นใบเป็นสีเขียวมัน มีลักษณะหนาและใหญ่ ส่วนยอดอ่อนเป็นสีแดง[1],[3]

                   - ดอกพิลังกาสา ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือตามส่วนของยอด ดอกเป็นสีเหลืองนวล[1] บ้างว่าเป็นสีชมพูอมขาว หรือสีขาวแกมชมพู[2] เมื่อดอกบานเต็มที่จะมี 5 แฉก คล้ายรูปดาว[3]   

                    - ผลพิลังกาสา ผลมีลักษณะกลมโต มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร ออกผลเป็นกระจุกมีก้านช่อยาวห้อยย้อยลง และก้านผลยาวเรียงสลับรอบก้านช่อ ผลอ่อนเป็นสีแดง เมื่อแก่หรือสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ[1],[3]
สรรพคุณของพิลังกาสา
1.ผลสุกนำมาตากแห้งบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้ง แล้วปั้นเป็นลูกกลอนกิน หรือใช้ผงยา 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำครึ่งแก้ว ดื่มช่วยบำรุงโลหิต (ผล)[5]
2.ช่วยแก้ธาตุพิการ (ผล)[5]
3.ผลใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ในกองอติสารโรค (ผล)[1],[2]
4.ใบมีรสร้อน ช่วยแก้อาการไอ (ใบ)[2]
5.ใบใช้เป็นยาแก้ลม (ใบ)[2]
6.ช่วยแก้ปอดพิการ (ใบ)[5]
7.ใบและผลช่วยแก้ท้องเสีย (ใบ, ผล)[2]
8.ดอกใช้เป็นยาแก้พยาธิ (ดอก)[2]
9.รากใช้เป็นยาแก้กามโรค หนองใน (ราก)[2],[5]
10.ช่วยแก้โรคระดูของสตรี ด้วยการนำผลสุกมาตากแห้งบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้ง แล้วปั้นเป็นลูกกลอนกิน (ผล)[5]
11.ใบใช้เป็นยารักษาโรคตับพิการ (ใบ)[1]
12.รากใช้เป็นยาพอกปิดแผล ถอนพิษงูกัด แก้พิษงู หรือใช้กากพอกแผล เอาน้ำกิน (ราก)[1],[2],[5]
13.เมล็ดช่วยแก้ลมพิษ (เมล็ด[2], ผล[5])
14.ดอกใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรค (ดอก)[1],[2]
15.ต้นใช้เป็นยาฆ่าพยาธิผิวหนัง (ต้น)[5]
16.ต้นใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง แก้โรคเรื้อน กุฏฐัง (ต้น)[2],[5] ส่วนผลใช้แก้โรคเรื้อน (ผล)[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพิลังกาสา
-สารที่พบ คือ α-amyrin, rapanone[2]
-สมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ช่วยยับยั้ง platelet activating factor receptor binding[2] มีฤทธิ์เหมือนฮิสตามีน ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว ต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด รักษามาลาเรีย แก้อาการท้องเสีย แก้เกลื้อน ส่งเสริมการเจริญเติบโตของเชื้อ Aspergillus[4]
ประโยชน์ของพิลังกาสา
-ผลอ่อน ใบอ่อน ยอดอ่อนมีรสชาติฝาดมัน เปรี้ยวอมหวาน ใช้รับประทานเป็นผักเหนาะได้[2],[3]
-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยได้นำผลสุกของพิลังกาสามาทำเป็น “ไวน์พิลังกาสา” และได้นำไวน์นั้นไปตรวจวิเคราะห์ พบว่ามีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin), สารฟีโนลิค (Phenolic) และฟลาโวนอยด์ (Phenolic flavannoid) สูง จึงเหมาะจะส่งเสริมทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพได้ เนื่องจากสารเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันเส้นเลือดตีบและเส้นเลือดอุดตัน ฯลฯ[4]
-ผลของพิลังกาสาสุกจะเป็นสีม่วงเข้มจนเกือบดำ โดยสีม่วงนี้จะมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันไม่ให้อนุมูลอิสระไปทำลายเซลล์ในร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดในสมองอุดตัน นอกจากนี้ ยังช่วยยับยั้งเชื้ออีโคไล (E. coli) ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคท้องร่วงและอาหารเป็นพิษได้อีกด้วย[4]
-ต้นพิลังกาสาเป็นที่นิยมในการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามสถานที่ราชการหรือตามสวนสาธารณะทั่วไป เพาะปลูกได้ง่าย อีกทั้งดอกยังมีความสวยงามและออกดอกดกเป็นกลุ่มใหญ่[4]


เอกสารอ้างอิง
1.หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “พิลังกาสา”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 560- 561.
2.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “พิลังกาสา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [02 พ.ค. 2014].
3.ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “พิลังกาสา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [02 พ.ค. 2014].
4.ไทยโพสต์ ออนไลน์ 20 พฤษภาคม 2555.
5.หนังสือวัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี. (โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย).
6.ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “พิลังกาสา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com. [02 พ.ค. 2014].


 


ภาพประกอบ : www.baanlaesuan.com (by 3knight), www.kasetporpeang.com (by ruraldoct), oldweb.pharm.su.ac.th, www.hinsorn.ac.th, botanyschool.ning.com/profile/StamPz
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)