ความดันโลหิตต่ำ

21 ก.ย. 2566 14:42:46จำนวนผู้เข้าชม : 861 ครั้ง

ความดันโลหิตคืออะไร ? ระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายจะเกิดจากการที่หัวใจเต้น หรือหัวใจทำงานซึ่งผลจากการทำงานของหัวใจจะทำให้เกิดความดันโลหิตขึ้นมาเพื่อให้เลือดสามารถไหลเวียนผ่านระบบเส้นเลือด และหลอดเลือดได้ทั่วทั้งร่างกาย ซึ่งหากร่างกายปกติระดับความดันของเลือดก็จะอยู่ในภาวะปกติ หากร่างกายเกิดผิดปกติอาจจะทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หรือความดันโลหิตต่ำได้
                     อาการความดันโลหิตต่ำ จัดเป็นอาการเกี่ยวกับระบบการไหลเวียนโลหิต เป็นอาการที่ความดันโลหิตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น กล่าวคือ ความดันโลหิตปกติจะอยู่ที่ประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ ความดันโลหิตจะอยู่ที่ประมาณ 90/60 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) ซึ่งอาการความดันโลหิตต่ำมักจะเกิดกับผู้ป่วยที่มีภาวะอ่อนแอทางร่างกาย รวมถึงมีภาวะเลือดไม่พอ หรือมีคนในครอบครัวมีอาการโลหิตต่ำ
อาการความดันโลหิตต่ำ
อาการของความดันโลหิตต่ำมักจะมีอาการต่าง ๆ ดังนี้

- อาการเวียนศีรษะเป็นลม หมดสติ หรือหน้ามืด เกิดจากการที่ความดันโลหิตต่ำจนโลหิตไม่สามารถเลี้ยงร่างกายได้ทันโดยเฉพาะในส่วนของศีรษะ ทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้
- อาการใจสั่น เกิดจากการที่ความดันโลหิตต่ำจนทำให้หัวใจตัองทำงานหนักขึ้นเพื่อให้ร่างกายสามารถสูบฉีดโลหิตได้เพียงพอ จนทำให้เกิดอาการใจสั่นได้
- อ่อนเพลีย เนื่องจากผู้ที่มีอาการความดันโลหิตต่ำมักจะมีภาวะเลือดในร่างกายไม่พอ หรือเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่ทันซึ่งเป็นผลให้เกิดการอ่อนเพลียได้
- มึนศีรษะเมื่อมีการเปลี่ยนอิริยาบท เช่น เมื่อนั่งเป็นเวลาระยะหนึ่ง แล้วลุกขึ้นยืนกะทันหัน หรือนอนแล้วลุกขึ้นนั่งกะทันหัน แล้วเกิดการมึนศีรษะ หรือหน้ามืด อาการเหล่านี้เกิดจากการที่ร่างกายปรับสภาพไม่ทันเพราะความดันต่ำ และอาจเกิดจากการที่เลือดไม่พอ
- นอกจากนี้ อาการความดันโลหิตต่ำมักจะมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น
- ท้องผูก มีความรู้สึกมีลม หรือแก๊สในท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ
- ขี้หลงขี้ลืม ขาดสมาธิ สมองล้า
- เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือประจำเดือนผิดปกติ
                   อย่างไรก็ตาม อาการความดันโลหิตต่ำจัดเป็นอาการที่มีความอันตรายไม่แพ้อาการความดันโลหิตสูง เพราะเนื่องจากอาการความดันโลหิตต่ำมักจะเกิดอาการหน้ามืด เป็นลม มึนศีรษะ ซึ่งหากอยู่ระหว่างที่ผู้ป่วยขับรถ ใช้เครื่องจักรหนัก หรือทำงานที่เสี่ยงอันตราย อาการความดันโลหิตต่ำอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้
สาเหตุของอาการความดันโลหิตต่ำ
                  อาการความดันโลหิตต่ำจะแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ความดันโลหิตต่ำชนิดเฉียบพลัน คือ เกิดอาการความดันโลหิตลดลงต่ำอย่างรวดเร็วผิดปกติ ซึ่งทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืดได้ และอีกชนิดหนึ่ง คือ ความดันโลหิตต่ำชนิดเรื้อรัง คือ ความดันโลหิตต่ำเป็นปกติ หรือเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาการความดันโลหิตต่ำจะเกิดได้จากสาเหตุหลากหลาย เช่น
                 1.ความดันโลหิตต่ำที่เป็นมาแต่กำเนิดหรือไม่ทราบสาเหตุ ส่วนใหญ่พบว่าเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือรูปร่างที่อ่อนแอผอมบาง ซึ่งมักจะพบในหญิงสาวรูปร่างผอมเพรียว และผู้สูงอายุ บางรายไม่แสดงอาการเจ็บป่วยใด ๆ แต่ในรายที่เป็นมากอาจจะมีอาการอ่อนเพลียรุนแรง ใจสั่น วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หรืออาจจะถึงขั้นเป็นลม โดยเฉพาะในหน้าร้อนที่อุณหภูมิสูงอาการจะยิ่งชัดเจนขึ้น
                 2.ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนอิริยาบถ หมายถึง ความดันโลหิตจะลดต่ำลงอย่างรวดเร็วจากการเปลี่ยนท่าทางจากการนอนมาเป็นการนั่งหรือยืนในทันที หรือมีการยืนนาน ๆ ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ส่งผลให้สมองทำงานผิดปกติจนเกิดอาการเวียนศีรษะ ตาพร่า คลื่นไส้ ใจสั่น ปวดต้นคอ ปวดหลัง เป็นต้น
                 3.ความดันโลหิตต่ำจากการใช้ยาหรือการเจ็บป่วยของร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ โรคมะเร็ง โรคตับอักเสบ วัณโรค โรคหัวใจรูมาติก ขาดสารอาหารเรื้อรัง ยาลดความดันโลหิต ยากล่อมประสาท ยาต้านโรคซึมเศร้า เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงใช้ยาความดันมากเกินขนาดเพื่อให้ความดันโลหิตต่ำลงโดยเร็วและลดต่ำลงมากยิ่งขึ้น ก็จะส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลงอย่างเฉียบพลันหลังปัสสาวะ เนื่องจากปัสสาวะถูกขับออกไปทำให้ความดันในช่องท้องลดต่อลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปริมาณเลือดที่กลับไปสู่หัวใจลดน้อยลงด้วย ทำให้เกิดอาการเป็นลมเนื่องจากความดันโลหิตต่ำลงอย่างเฉียบพลัน ซึ่งมักเกิดขึ้นในระหว่างที่ผู้สูงอายุตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางดึก
อาการของโรคทางทรรศนะแพทย์แผนจีน
                    ทางการแพทย์แผนจีนมองอาการความดันโลหิตต่ำจัดอยู่ในกลุ่มอ่อนแอไร้กำลัง (Xuán Yūn) เนื่องจากภาวะชี่พร่องเป็นพื้นฐาน ซึ่งเกี่ยวพันถึง หัวใจ ปอด ม้าม ไต และอวัยวะภายในต่าง ๆ เส้นลมปราณที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจ ปอด มีภาวะชี่พร่องไม่สามารถผลักดันเลือดให้ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างพอเพียง รวมถึงชี่ม้ามอ่อนแอ ทําให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชี่และเลือดได้ ชี่ไตพร่อง ชี่และเลือดไม่สามารถโคจรได้เป็นปกติเกิดพร่องในเส้นลมปราณและทําให้การหล่อเลี้ยงบํารุงทําได้ไม่ดี สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของโรคทั้งสิ้น
อาการและอาการแสดงออก
                   กลุ่มที่มีอาการเล็กน้อย จะมีอาการเพียงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ความอยากอาหารลดลง เหนื่อยอ่อนเพลีย สีหน้าซีด การย่อยอาหารไม่ดี เมารถ เมาเรือง่าย รวมทั้งควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดี ปฏิกิริยาเชื่องช้า จิตใจไม่สดชื่น กลุ่มที่มีอาการมากจะมีอาการหัวใจเต้นเร็วไม่ต่อเนื่อง มักเวียนศีรษะในท่ายืน หายใจลําบาก เสียงค่อย คลุมเครือ ร่างกายขาดการบํารุง แขนขาทั้งสี่หนาวเย็นหรืออาจเป็นมากจนหมดสติได้
การวินิจฉัยทางแพทย์แผนจีน
1.เกิดจากหยางหัวใจอ่อนแอ
อาการทางคลินิก มีอาการวิงเวียนศีรษะ ขี้ลืม จิตใจเศร้าซึม หดหู่ อ่อนเพลีย ง่วงซึม เฉื่อยชา สีหน้าซีดขาว แขนขาทั้งสี่อ่อนเพลีย ไม่มีแรง มือเท้าเย็น
ลักษณะลิ้น ลิ้นซีด อ้วน นิ่ม
ลักษณะชีพจร ชีพจร จม(เฉิน) เล็ก(ซี่) หรือ เชื่องช้า(ห่วน) และไม่มีแรง(อู๋ลี่)
2.เกิดจากจงชี่ไม่เดิน
อาการทางคลินิก มีอาการเวียนศีรษะ หายใจลําบาก เหงื่อออกเอง แขนขาทั้งสี่ปวดเมื่อยไม่มีแรง ความอยากอาหารลดลง
ลักษณะลิ้น ลิ้นซีด ฝ้าขาว
ลักษณะชีพจร ชีพจร เชื่องช้า(ห่วน) ไม่มีแรง(อู๋ลี่)
3.หยางหัวใจ และไตพร่อง
อาการทางคลินิก มีอาการวิงเวียนศีรษะ หูอื้อ ใจสั่น เมื่อยเอว เข่าอ่อน แขนขาเย็นมีเหงื่อ
ออกง่าย มือเท้าเย็น ความต้องการทางเพศลดลง ปัสสาวะบ่อยในช่วงกลางคืน
ลักษณะลิ้น ลิ้นซีด ฝ้าบางขาว
ลักษณะชีพจร ชีพจร จม(เฉิน) เล็ก(ซี่)
4.หยางชี่อ่อนแอ
อาการทางคลินิก มีอาการวิงเวียนศีรษะ สีหน้าซีดคล้ำ คลื่นไส้อาเจียน แขนขาเย็นมีเหงื่อออกง่าย ท่าทางการเดินไม่มั่นคง ยืนลําบาก สติสัมปชัญญะเคลิบเคลิ้ม ใจลอย เป็นมากก็อาจเป็นลมได้
ลักษณะลิ้น ลิ้นซีด
ลักษณะชีพจร ชีพจร จม(เฉิน) เล็ก(ซี่) ไม่มีแรง(อู๋ลี่)
การบำบัดรักษาทางแพทย์แผนจีน
ทานยาสมุนไพรจีนแคปซูลที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย ไร้สารตกค้าง ตามแต่ละอาการ เช่น
- อาการความดันต่ำตามกลุ่มอาการหยางหัวใจอ่อนแอ ทานยาสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณ บำรุงหยางหัวใจ ปรับสมดุลการไหลเวียนของเลือด
- อาการความดันต่ำตามกลุ่มอาการจงชี่ไม่เดิน ทานยาสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณ บำรุงจงชี่ บำรุงเลือด
ฝังเข็มตามกลุ่มอาการ ทำการฝังเข็มปรับสมดุลร่างกายตามแต่ละกลุ่มอาการ เช่น
- อาการความดันต่ำตามกลุ่มอาการหยางหัวใจ และไตพร่อง ทำการฝังเข็มตามจุดเส้นลมปราณที่มีสรรพคุณ บำรุงหยางหัวใจ บำรุงไต
- อาการความดันต่ำตามกลุ่มอาการหยางชี่อ่อนแอ ทำการฝังเข็มตามจุดเส้นลมปราณที่มีสรรพคุณ บำรุงหยางชี่ บำรุงเลือด


สมุนไพรบรรเทาอาการความดันต่ำ

   1.เก๋ากี้ จัดเป็นผลไม้ที่มีการใช้งานมากว่า 2,000 ปี ในตัวเก๋ากี้มีสารอาหารมากมาย โดยเฉพาะสารโพลีแซคคาไรด์ซึ่งสารดังกล่าวนี้มีหน้าที่ในการฟื้นฟูสภาพเซลล์ให้ฟื้นคืนสภาพได้ดี บำรุงตับ ไต และช่วยในการบำรุงสร้างโลหิต ทำให้ระบบโลหิตทำงานได้ดีขึ้น เนื่องจากหนึ่งในสาเหตุของอาการความดันโลหิตต่ำจะเกิดจากเลือดไม่พอ การทานเก๋ากี้จะเป็นการบำรุงเลือดเพื่อให้เลือดเพียงพอ จะช่วยลดอาการความดันโลหิตต่ำได้ สามารถนำมาทานสด หรือนำมาประกอบอาหารก็ได้

    2.พุทราแดงจีน จัดเป็นพืชที่มีสารอาหารประเภท สังกะสี ธาตุเหล็ก แมงกานีส ปริมาณสูง ซึ่งสารอาหารดังกล่าวเป็นสารอาหารที่มีผลในการบำรุงและเสริมสร้างโลหิต ดังนั้น การทานพุทราแดงจีนจึงช่วยในการบำรุงเลือดได้เป็นอย่างดี โดยมากในประเทศไทยจะพบพุทราแดงจีนในรูปแบบอบแห้ง ซึ่งสามารถทานสด หรือนำมาใช้ประกอบอาหารก็ได้

3.ธัญพืชต่าง ๆ  เช่น ถั่วชนิดต่าง ๆ  ข้าวกล้อง ข้าวสาลี ข้าวบาเลต์ ข้าวโอ๊ต งา เป็นต้น ซึ่งในธัญพืชจะเป็นอาหารกลุ่มบำรุง ย่อยง่าย ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารไปใช้งานได้เร็ว การทานธัญพืชเป็นประจำจะช่วยให้ร่างกายมีกำลังมากขึ้น ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ทำให้ร่างกายได้รับเลือดเพียงพอจะทำให้ไม่เกิดอาการหน้ามืด หรือเป็นลมได้ง่าย นอกจากนี้ ในธัญพืชบางชนิด เช่น ถั่วแดง จะมีผลในการเสริมสร้างเลือดอีกด้วย

4.อินทผาลัม เป็นผลไม้ที่ปลูกมากทางตะวันออกกลาง ในอินทผาลัมอุดมด้วยสารอาหารมากมาย ส่วนประกอบที่สำคัญ คือ โพแทสเซียม ธาตุเหล็ก ซึ่งช่วยในการบำรุงเลือด และระบบประสาท ทำให้อาการความดันโลหิตต่ำดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีอาหารอีกมากมายที่ช่วยในเรื่องความดันโลหิตต่ำ เช่น
- พืชตระกูลกล้วย เช่น กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า
- สาหร่ายทะเล
- มะม่วง มะละกอ มะปราง
- ฯลฯ
คำแนะนำจากแพทย์แผนจีน

1.ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เกลือแร่ และเพิ่มปริมาณเลือดให้สูงขึ้น
หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น
2.เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และสารอาหารครบถ้วน เน้นอาหารประเภทผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน
3.การลุกหรือนั่งไม่ควรเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็วมากเกินไป
4.ตรวจเช็กความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ
5.รับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ โดยแบ่งรับประทานเป็นมื้อย่อย ๆ หลายมื้อ และควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น มันฝรั่ง ข้าว พาสต้า และขนมปัง ในปริมาณมาก เพื่อป้องกันความดันโลหิตลดต่ำลงอย่างรวดเร็วหลังรับประทานอาหาร
ความดันโลหิดเป็นเรื่องสำคัญของร่างกาย จึงไม่ควรประมาท หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับความดัน ควรรีบรักษาก่อนที่ความดันโลหิตจะสร้างความลำบากในชีวิตให้กับคุณ


ข้อมูลประกอบบทความ : การฝังเข็มรมยา เล่ม 2 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
https://www.pobpad.com/ความดันต่ำ
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.siamtcm.com/