ไทยคืบหน้ามากในการฉีดวัคซีน HPV มั่นใจฉีดได้ตามเป้าหมาย 1 ล้านโดส ในสิ้นปีนี้

12 ธ.ค. 2566 10:06:21จำนวนผู้เข้าชม : 341 ครั้ง

กระทรวงสาธารณสุขฉีดวัคซีน HPV ให้หญิงไทย อายุ 11-20 ปี ไปแล้วกว่าครึ่งล้านโดส เร็วกว่าที่คาดไว้ว่าจะถึง 5 แสนโดส ช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยกรุงเทพมหานครฉีดได้ครบตามเป้าหมายแล้ว สัปดาห์นี้เตรียมขยายบริการในสถานประกอบการและสถานพยาบาลใกล้บ้านให้ครอบคลุมมากขึ้น มั่นใจฉีดได้ตามเป้าหมาย 1 ล้านโด๊ส ในเดือนธันวาคมนี้
                   จากนโยบาย “มะเร็งครบวงจร” ซึ่งเป็นหนึ่งใน 13 นโยบายหลักของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ในการเดินหน้าให้บริการด้านโรคมะเร็ง ครอบคลุมทั้งการส่งเสริม ป้องกัน คัดกรอง วินิจฉัย รักษา และดูแลฟื้นฟูกายใจ โดยได้เริ่มขับเคลื่อนการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันและตรวจคัดกรองความเสี่ยงได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ให้กับหญิงไทย อายุ 11-20 ปี ตั้งเป้า 1 ล้านโดส ภายใน 100 วัน
                 ล่าสุด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศความสำเร็จการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกว่า ตั้งแต่วันที่ 8 จนถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการฉีดวัคซีน HPV (Human papillomavirus) ให้หญิงไทย อายุ 11-20 ปี ไปแล้ว 501,608 โดส โดยสามารถทำได้เร็วกว่ากำหนดเดิมที่คาดไว้ว่าจะถึง 5 แสนโดสแรก ในช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ทั้งนี้ ในช่วงแรกของการรณรงค์ได้เน้นการฉีดให้กับนักเรียนในโรงเรียนแต่ช่วงสัปดาห์นี้ จะขยายการจัดบริการให้ครอบคลุมมากขึ้นในสถานประกอบการ และสถานพยาบาลใกล้บ้าน จึงขอเชิญชวนหญิงไทย อายุตั้งแต่ 11 – 20 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีน HPV โดยสามารถนัดหมายเข้ารับวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ทั้งนี้ มั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายครบ 1 ล้านโดส ในเดือนธันวาคม 2566 โดย 10 จังหวัดที่มีอัตราการฉีดวัคซีนตามเป้าหมายสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร หนองคาย มุกดาหาร อุดรธานี นครพนม สงขลา ระนอง แม่ฮ่องสอน สุโขทัย และนราธิวาส
                  ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตอันดับ 2 ของหญิงไทย อายุต่ำกว่า 45 ปี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้การดูแลประชาชนตั้งแต่การป้องกันโรค ตรวจคัดกรอง พัฒนาวิธีการรักษา และการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง เพื่อลดอัตราป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกในทุกมิติ ขณะนี้วัคซีน HPV มากกว่า 1 ล้านโดส ได้ส่งถึงพื้นที่ครบแล้ว และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งได้จัดทำแผนการฉีดวัคซีนให้ครบตามเป้าหมาย 1 ล้านโดส เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับภูมิคุ้มกันโดยเร็ว ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้ประชาชนอายุ 30-60 ปี ได้คัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง เพื่อให้ประชากรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข
                   ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเผยทั่วประเทศฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ต้นเหตุมะเร็งปากมดลูก สะสมกว่า 1.6 แสนโดส เพชรบุรี ติดอันดับจังหวัดที่มีอัตราฉีดวัคซีนตามเป้าหมายสูงสุด รองลงมา ได้แก่ แม่ฮ่องสอน มุกดาหาร นครพนม ตราด ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรปราการ พังงา และอำนาจเจริญ ตามลำดับ ย้ำทุกหน่วยเร่งรณรงค์และจัดบริการฉีดให้ครอบคลุมทั้งในสถานศึกษา สถานประกอบการ และสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพิ่มการเข้าถึงวัคซีนตามเป้าหมาย
                   โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ให้กับหญิงไทย อายุ 11-20 ปี จำนวน 1 ล้านโดส ตามนโยบาย “มะเร็งครบวงจร” และการขับเคลื่อน Quick Win ภายใน 100 วัน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ว่า ข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 มียอดการฉีดสะสมแล้ว 163,160 โดส โดย 10 จังหวัดที่มีอัตราการฉีดวัคซีนตามเป้าหมายสูงสุด ได้แก่ เพชรบุรี แม่ฮ่องสอน มุกดาหาร นครพนม ตราด ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรปราการ พังงา และอำนาจเจริญ ตามลำดับ สำหรับวัคซีน HPV ได้ทยอยส่งลงถึงพื้นที่ครบ 1 ล้านโดสแล้ว

                   ส่วนในด้านการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสำหรับคนไทย กรมวิทย์ร่วมกับเครือข่ายตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test ตั้งเป้าตรวจหญิงไทย อายุ 30-60 ปี 1 ล้านคน ภายในปี 2567 เริ่มเดือนธันวาคมนี้ ทั่วประเทศ โดย นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สนับสนุนนโยบายมะเร็งครบวงจรของกระทรวงสาธารณสุข โดยได้จัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง ด้วยวิธีเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทส (HPV DNA Test) แบบแยก 14 สายพันธุ์เสี่ยงสูง ให้กับหญิงไทย อายุ 30-60 ปี จากข้อมูลภาพรวมของประเทศผู้หญิงไทยที่จะต้องตรวจคัดกรองภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2564-2568) จำนวน 15,677,638 คน โดยในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา มีเป้าหมาย 3,135,528 คน แต่ได้รับการตรวจคัดกรองเพียง 613,254 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.6 เท่านั้น ซึ่งเป็นงานที่ต้องเร่งรัด (Quick Win) เนื่องจากพบว่ายังมีหญิงไทยไม่ได้ตรวจจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน
                  ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เห็นชอบให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA Test ให้กับหญิงไทย อายุ 30-60 ปี ครอบคลุมทุกสิทธิ์ทั่วประเทศฟรี จากเดิมที่เคยใช้การตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap smear) หรือวีไอเอ (VIA) ซึ่งเป็นไปตามข้อแนะนำการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
                    การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test เป็นการตรวจในระดับโมเลกุลที่มีความถูกต้อง แม่นยำและมีความไวที่สูงกว่าการตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์ สามารถระบุสายพันธุ์ของเชื้อ HPV ความเสี่ยงสูงทั้ง 14 สายพันธุ์ หรือมากกว่า ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก อาทิ สายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18 ที่พบเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 70% กรณีตรวจไม่พบเชื้อไวรัส HPV สามารถเว้นการตรวจซ้ำได้ถึง 5 ปี ให้ความแม่นยำในการตรวจพบการติดเชื้อสูง สามารถตรวจค้นหาผู้ป่วยได้ในระยะก่อนที่จะเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูก ทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่การรักษา ป้องกันได้ก่อนที่จะพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูก การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ตรวจพบผู้ป่วยในระยะแรกเริ่มเพิ่มขึ้น และเข้าสู่การรักษาได้โดยเร็วก่อนลุกลาม ช่วยลดอุบัติการณ์ และการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก เมื่อเทียบกับการตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์ นอกจากนี้ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA Test สามารถใช้ตรวจตัวอย่างที่หญิงไทยเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง ไม่ต้องขึ้นขาหยั่งให้แพทย์ตรวจ ลดความเขินอาย และหลีกเลี่ยงความไม่สะดวกเข้ารับการตรวจคัดกรองในหน่วยบริการที่อยู่ห่างไกลด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกัน

                    “ขณะนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 แห่ง ได้อบรมบุคลากรด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้เชิงเทคนิคและควบคุมคุณภาพการตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพ อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน (อสม.นักวิทย์) ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 21,889 คน กระจายอยู่ในทุกตำบลทั่วประเทศ ให้มีความรู้และความชำนาญเกี่ยวกับการใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง ตลอดจนความรู้เรื่องโรคมะเร็งปากมดลูก การป้องกัน และการรักษา เพื่อที่จะนำไปถ่ายทอดให้กับผู้หญิงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ตนเองตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยบูรณาการดำเนินงานร่วมกันกับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจคัดกรอง และป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก อันจะนำมาเพื่อการเข้าถึงการรักษาและลดความเสี่ยง ตลอดจนการเสียชีวิตของผู้หญิงไทย
                    โดยจะเริ่มดำเนินการเก็บตัวอย่างตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 นี้ เป็นต้นไป พร้อมกันทั่วประเทศทั้ง 13 เขตสุขภาพ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้หญิงไทยได้รับการตรวจคัดกรอง จำนวน 1,000,000 ตัวอย่าง ภายในปี 2567 ซึ่งจะช่วยให้ผู้หญิงไทยเข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุมทั่วถึงในทุกพื้นที่ นอกจากนี้ ยังจะได้ข้อมูล Big Data ที่จะสนับสนุนการดำเนินงานทางการแพทย์และสาธารณสุขไทย ก้าวสู่การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine)” นพ.ยงยศกล่าว
                     อนึ่ง ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2565 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ได้เผยแพร่เอกสารแสดงจุดยืน (position paper) ที่ระบุถึงคำแนะนำสำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีน HPV (Human Papilloma Virus) ฉบับปรับปรุงล่าสุด โดยมีรายละเอียดสำคัญเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข็มเดียว ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกและรายละเอียดของการใช้วัคซีนนอกข้อบ่งใช้แบบเข็มเดียว (off-label single-dose) ที่มีประสิทธิภาพและทนทานในการป้องกันเทียบเคียงกับการฉีดวัคซีน 2 เข็ม ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายหลักการฉีดวัคซีน HPV คือ เด็กหญิง อายุ 9-14 ปี ก่อนเริ่มมีกิจกรรมทางเพศครั้งแรก ขณะที่กลุ่มเป้าหมายรอง ได้แก่ เด็กชายและผู้หญิงที่มีอายุสูงขึ้นไป หากสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่ไม่แพง โดยคำแนะนำล่าสุดสำหรับการฉีดวัคซีน HPV จากองค์การอนามัยโลก ได้แก่ ควรจัดให้มีการฉีดวัคซีน 1 หรือ2 โดส สำหรับเด็กหญิง อายุ 9-14 ปี, ควรจัดให้มีการฉีดวัคซีน 1 หรือ 2 โดส สำหรับผู้หญิงอายุ 15-20 ปี และควรจัดให้มีการฉีดวัคซีน 2 โดส โดยเว้นช่วงห่าง 6 เดือนสำหรับผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 21 ปี นอกจากนี้ position paper ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีน HPV อย่างน้อย 2 หรือ 3 โดส สำหรับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
                    ปัจจุบันมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 4 ในผู้หญิงทั่วโลก และมากกว่า 95% ของการเป็นโรคดังกล่าวเกิดจากเชื้อ HPV ที่ติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์ ขณะที่ในไทยเป็นมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม ดังนั้น “วัคซีน HPV” ที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นอีกหนึ่งวัคซีนสำคัญที่เด็กหญิง ผู้หญิง และผู้ชายทั่วไปควรได้รับในราคาที่เข้าถึงได้ เนื่องจากจะสามารถช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการและป้องกันการเสียชีวิตได้หากเป็นมะเร็งปากมดลูก