สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Queen’s University Belfast (QUB) สหราชอาณาจักร และศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (International Joint Research Center on Food Security หรือ IJC-FOODSEC) เปิดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “ASEAN-ASSET 2023: Global Summit on the Future of Future Food” ในธีม Global Protein Integrity โดยมี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วยผู้บริหาร สวทช. ม.ธรรมศาสตร์ และ QUB ร่วมเปิดงาน โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 15 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในทวีปเอเชีย เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความตระหนักเรื่องความมั่นคงของอาหารเพื่ออนาคต โดยมุ่งเน้นเรื่องขอบเขตอาหารในอนาคต ความปลอดภัยอาหารในอนาคต ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการศึกษาสำหรับอาหารในอนาคต และแนวโน้มปัจจุบันและอนาคตของอาหาร โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากทั่วทุกมุมโลกในงานนี้
ธนาคารโลก (World Bank) ได้เน้นย้ำว่า วิกฤตอาหารโลก (Global Food Crisis) ได้เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งถือเป็นการเตือนภัยครั้งใหญ่ นอกจากนี้ โครงการอาหารโลก (World Food Programme) ยังเปิดเผยข้อมูลว่า ในเวลาเพียง 2 ปี จำนวนผู้ที่เผชิญหรือมีความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันเพิ่มขึ้นจาก 135 ล้านคน ใน 53 ประเทศก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 เป็น 345 ล้านคน ใน 79 ประเทศ ในปี 2566
Prof. Dr. Christopher Elliott (ศ.ดร. คริสโตเฟอร์ เอลเลียต), OBE, Institute for Global Food Security, Queen’s University Belfastเปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยควีนส์ (Queen’s University Belfast) สวทช. และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันจัดงาน ASEAN-ASSET 2023: Global Summit on the Future of Future Food ระหว่างวันที่ 14 - 15 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ งานประชุม ASEAN-ASSET 2023 ถือเป็นเวทีสำคัญระดับนานาชาติในการแลกเปลี่ยน อภิปราย และแสดงความคิดเห็น รวมถึงเผยแพร่ผลงานวิจัยครอบคลุมหัวข้อเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องทั่วโลก เช่น วิธีการจัดหาอาหารกลุ่มโปรตีนทางเลือกผ่านการคิดเชิงนวัตกรรม การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อช่วยสนับสนุนการผลิตอาหารเพื่ออนาคต และความปลอดภัยของอาหารเพื่ออนาคตจากแหล่งต่าง ๆ เป็นต้น
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ประธานในพิธีเปิดการประชุม ASEAN-ASSET 2023 กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและได้พยายามที่จะผลักดันให้เกิดความมั่นคงทางอาหารผ่านกลไกและมาตรการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย การจัดตั้งคณะกรรมการอาหารแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2551 โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร มีหน้าที่เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านคุณภาพอาหาร ความปลอดภัยด้านอาหาร ความมั่นคงด้านอาหารและอาหารศึกษา รวมทั้งจัดทำแผนเผชิญเหตุและระบบเตือนภัยด้านอาหารต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมาย นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2553 ได้มีการจัดทำ “กรอบยุทธศาสตร์ด้านการจัดการอาหารของประเทศไทย” ซึ่งพัฒนาเป็นแผนแม่บทที่มุ่งเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ความปลอดภัย คุณภาพ และการศึกษาในประเทศไทย ถือเป็นก้าวแรกสู่การประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบอาหารทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น จนมาถึงปี พ.ศ. 2564 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ โดยกระทรวง อว. เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อน BCG Model ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตร เพิ่มปริมาณอาหารโปรตีนจากการนำนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ ควบคุมเรื่องของการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร (Food Loss and Food Waste) เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวง อว. ผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุน ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ผศ.ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)กล่าวเสริมว่า อาหารแห่งอนาคต (future food) ถือเป็นหนึ่งในหัวข้อจำเป็นเร่งด่วนที่จะช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร และ บพค. ยังส่งเสริมความร่วมมือกับทั้งภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศผ่านแผนงานต่าง ๆ เช่น แผนงานย่อยพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติ (Global Partnership)
ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กล่าวว่า สวทช. ได้พัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่หลากหลายครอบคลุมระบบอาหารยั่งยืน (sustainable food system) ทั้งหมด โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาสายพันธุ์พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ข้าว มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น อีกทั้งยังรับมือกับภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งทนทานต่อโรคและแมลง ขณะที่ด้านเกษตรสมัยใหม่ได้ส่งเสริมให้เกษตรนำระบบดิจิทัลเข้ามาวางแผนระบบเกษตรในภาพรวม อาทิ TAMIS ระบบขึ้นทะเบียนเกษตรกร Agri-Map ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการจัดการเชิงรุก สำหรับงานวิจัยด้านอาหารเรามุ่งผลักดันการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเกิดอุตสาหกรรมอาหารมูลค่าเพิ่มสูงและสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (high value added and functional ingredient) ต้นแบบผลิตภัณฑ์/กระบวนการใหม่ในกลุ่ม functional ingredients เช่น functional microbes และ functional protein การผลิตอาหารเฉพาะกลุ่มที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีการปรับโครงสร้างอาหาร การปรับสูตรและวัตถุดิบใหม่ เช่น อาหารทางสายยางสำหรับผู้ป่วย รวมถึงการวิจัยเรื่องความปลอดภัยอาหาร วิธีการตรวจวินิจฉัยเชื้อก่อโรค สารปนเปื้อนในอาหาร ตลอดจนบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารที่มีคุณสมบัติพิเศษ นอกจากนี้ เรายังริเริ่มพัฒนาการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรส่งออกที่มีมูลค่าสูงของประเทศไทยเช่น ทุเรียน อีกด้วย
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวเสริมว่าQueen’s University Belfastสวทช. และ ม.ธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันก่อตั้งศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (International Joint Research Center on Food Security หรือ IJC-FOODSEC) ในปี พ.ศ. 2565 ที่ไบโอเทค สวทช. เพื่อช่วยผลิตงานวิจัยระดับโลกเพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอาเซียน ที่ผ่านมานักวิจัยภายใต้ IJC-FOODSEC มีงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตทางการเกษตรและทรัพยากรชีวภาพในประเทศและศึกษาด้านความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะในเรื่องสารพิษจากรา เพื่อยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในประเทศไทยและอาเซียนให้มีศักยภาพในการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของการผลิตและการส่งออกอาหารในระดับโลก
รศ. เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ธรรมศาสตร์มุ่งผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ที่มีความรู้ความสามารถทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในทุกมิติของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสริมประสบการณ์เรียนรู้ในหน่วยงานหรือโรงงานอุตสาหกรรมอาหารต่าง ๆ ให้แก่บัณฑิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรงในสาขาวิชา และมีความพร้อมทั้งความรู้และประสบการณ์ที่จะนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ
โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เข้าร่วมในโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลกเมื่อต้นปี พ.ศ. 2566 ผ่านการดำเนินงานของ IJC-FOODSEC ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คาดหวังให้การผนึกกำลังระหว่าง IJC-FOODSEC บริษัทเมืองนวัตกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาคอุตสาหกรรมอาหารทั้งในและต่างประเทศ จะเป็นหนึ่งใน Game changer สำหรับการพัฒนากำลังคนขั้นสูงให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ การส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นเลิศ และมีจุดยืนบนเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิต่อไป
ทั้งนี้ ที่ผ่านมางานประชุมนานาชาติ ASSET ซึ่งเป็นงานประชุมในสาขา Food Integrity ชั้นนำระดับโลก จัดโดย Institute for Global Food Security (IGFS), Queen's University Belfast จะจัดในทวีปยุโรปเท่านั้น แต่หลังจากที่ QUB ม.ธรรมศาสตร์ และ สวทช. ได้ร่วมกันก่อตั้ง IJC-FOODSEC ขึ้นที่ไบโอเทค สวทช. ในปีนี้ (2566) ถือเป็นครั้งแรกที่งานประชุม ASEAN-ASSET จัดขึ้นในทวีปเอเชีย ระหว่างวันที่ 14 - 15 พ.ย. 66 มีผู้เข้าร่วมงานจากทั่วทุกมุมโลกมากกว่า 400 คน และมีผู้นำเสนอผลงานมากถึงจำนวน 36 เรื่อง