สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
หากเราประสบอุบัติเหตุบางอย่างหรือทะเลาะวิวาทชกต่อยกับผู้อื่น บางส่วนของร่างกายอาจชนกระแทกกับของแข็ง จนเกิดเป็นรอยฟกช้ำดำเขียวขึ้นได้ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่อยู่เฉย ๆ กลับมีรอยจ้ำเลือดปรากฏขึ้นตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา (hematology) ออกมาเตือนว่า นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคร้ายแรงที่แอบแฝงอยู่ก็เป็นได้
ศาสตราจารย์ ซุนนัต-เรน พาซรีชา นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยทางการแพทย์วอลเทอร์และเอไลซาฮอลล์ (WEHI) ที่ออสเตรเลีย อธิบายถึงประเด็นข้างต้นในบทความของเขาที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ The Conversation ไว้ดังนี้
ศ.พาซรีชาบอกว่า ผู้ใหญ่ราว 18% ทั่วโลกมีอาการฟกช้ำดำเขียวง่าย ทั้งที่ไม่ได้เดินสะดุดหกล้ม หรือแขนขาไปกระแทกเข้ากับของแข็งใดทั้งสิ้น ทำให้เราต้องย้อนกลับไปพิจารณาว่า การทำงานของระบบหมุนเวียนโลหิตในร่างกายของคนผู้นั้นมีสภาพเป็นอย่างไรบ้าง
อันที่จริงแล้ว เลือดของคนเราก็คือของเหลวที่นำพาออกซิเจนและเซลล์ภูมิคุ้มกันไปยังกล้ามเนื้อและอวัยวะต่าง ๆ โดยในเลือดนั้นมีสารที่ช่วยป้องกันไม่ให้เราเลือดออกไม่หยุดจนตาย และสารที่ลดความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดรวมอยู่ด้วย
หากเส้นเลือดได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะแตก ฉีกขาด หรือมีรูรั่ว เกล็ดเลือด (platelet) จะจับตัวกับผนังเส้นเลือดเพื่อซ่อมแซมส่วนนั้นทันที นอกจากนี้ โปรตีนสร้างลิ่มเลือด (clotting factors) หลายชนิด ยังเข้ามารวมตัวกับเกล็ดเลือด ทำให้เลือดที่อยู่ในบริเวณนั้นข้นขึ้นจนเป็นวุ้น กลายเป็นลิ่มเลือดที่ระงับอาการเลือดไหลออกได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เราไม่มีเลือดออกใต้ผิวหนังมากเกินไปจนกลายเป็นจ้ำเลือดขนาดใหญ่
เนื่องจากเกล็ดเลือดและเม็ดเลือดนั้นถูกผลิตขึ้นที่ไขกระดูก ส่วนโปรตีนที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดถูกผลิตขึ้นที่ตับ ดังนั้นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเกล็ดเลือด โปรตีนสร้างลิ่มเลือด หรือเส้นเลือดของเรา อาจมาจากอวัยวะสำคัญอื่น ๆ ที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโลหิตวิทยา จะให้ความสำคัญกับปัญหานี้เป็นพิเศษในการตรวจวินิจฉัยโรค หากคนไข้มีรอยฟกช้ำหรือจ้ำเลือดขนาดใหญ่ที่แผ่กระจายไปทั่วร่างกาย รวมทั้งมีเลือดกำเดาไหลบ่อยและประจำเดือนมามากผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่เลือดออกมากหลังการผ่าตัด ทำฟัน คลอดบุตร หรือมีเลือดออกมากอย่างฉับพลันในกระดูกข้อต่อ หรือสมอง
แพทย์จะแนะนำให้คนเหล่านี้ตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยอาการข้างต้นอย่างละเอียด โดยเริ่มจากการตรวจนับเซลล์ทุกชนิดที่มีอยู่ทั้งหมดในเลือด (Full Blood Count – FBC) ซึ่งจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเกล็ดเลือดด้วยว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหน หากคนไข้มีเกล็ดเลือดอยู่ต่ำเกินไป นั่นอาจหมายความว่า ไขกระดูกทำงานผิดปกติ หรือเกล็ดเลือดถูกภูมิคุ้มกันขจัดออกจากกระแสโลหิตเร็วเกินไปก็เป็นได้ (Immune Thrombocytopenic Purpura – ITP)
โรคเกล็ดเลือดต่ำเพราะภูมิคุ้มกัน หรือ ITP นี้ มักเกิดขึ้นหลังมีการติดเชื้อไวรัส แต่ก็มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่จู่ ๆ ก็มีอาการของโรคนี้ขึ้นมาเองอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย จนทำให้ผิวหนังเกิดรอยฟกช้ำดำเขียวเล็ก ๆ ทั่วร่างกายคล้ายกับเป็นผื่น ซึ่งในคนไข้เด็กอาการนี้จะเป็นอยู่เพียงชั่วคราวและหายไปได้เอง แต่สำหรับผู้ใหญ่แล้วโรคนี้ค่อนข้างร้ายแรง และแพทย์จะต้องให้ยากดภูมิคุ้มกัน ยากระตุ้นการสร้างเกล็ดเลือด หรือบางรายอาจต้องผ่าตัดเอาม้ามออกไปด้วย
โรคเลือดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมในเพศชาย อย่างเช่น ฮีโมฟีเลียชนิดเอ (Haemophilia A) ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดรอยฟกช้ำตามตัวได้ง่าย เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตโปรตีนสร้างลิ่มเลือดบางชนิด นอกจากนี้ ยังมีโรคฟอนวิลลีแบรนด์ (von Willebrand disease) ซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรมและพบได้ทั้งในเพศชายและหญิง โดยจะทำให้โปรตีนสร้างลิ่มเลือดหลายชนิดมีน้อย หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
การตรวจหาความผิดปกติของโปรตีนสร้างลิ่มเลือด จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมที่กล่าวมาข้างต้น รวมทั้งอาจตรวจสอบการทำงานของตับเพิ่มเติมด้วย เนื่องจากโรคตับส่งผลให้การผลิตโปรตีนสร้างลิ่มเลือดต่ำกว่าปกติได้
การขาดวิตามินซีก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เลือดออกตามไรฟันและเกิดรอยฟกช้ำตามตัวง่าย นอกจากนี้ โรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเองบางชนิดอย่าง Henoch-Schonlein Purpura ยังทำให้ผนังเส้นเลือดเกิดการอักเสบและบางลง จนมักจะเกิดจ้ำเลือดที่ขาหรือสะโพก ส่วนคนชราที่ผิวหนังและเส้นเลือดอ่อนแอก็มักจะฟกช้ำดำเขียวได้ง่ายเช่นกัน
ยาบางชนิด เช่น แอสไพริน ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด clopidrogrel และยาต้านการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) อย่างไอบูโพรเฟน จะส่งผลให้เกล็ดเลือดทำงานได้ไม่ดีนัก ส่วนยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin, apixaban, rivaroxaban ซึ่งแพทย์จ่ายให้ผู้ป่วยที่เสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองสูง ก็อาจทำให้เกิดรอยฟกช้ำดำเขียวได้ง่ายเช่นกัน
การสูดดมหรือรับประทานยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) เป็นเวลานาน จะทำให้ผิวหนังและเส้นเลือดบางลง ส่วนวิตามินอี สารสกัดจากแปะก๊วย (gingko) และยาต้านโรคซึมเศร้าบางชนิด ก็มีผลข้างเคียงในแบบเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม คนที่พบว่าตนเองมีรอยจ้ำเลือดขึ้นตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ ยังไม่ควรจะวิตกกังวลหรือเครียดจนเกินไปนัก หากคุณไม่มีประวัติโรคทางพันธุกรรม หรือความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันมาก่อน ไม่มีอาการเลือดออกมากผิดปกติทางอวัยวะอื่นร่วมด้วย รวมทั้งผลตรวจนับเซลล์ในเลือด และผลทดสอบการทำงานของโปรตีนสร้างลิ่มเลือดยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.bbc.com/
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของรูปภาพ :GETTY IMAGES