สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
ทำไมชาวยุโรปเหนือถึงสูงกว่าชาวยุโรปใต้ ? เหตุใดโรคบางชนิดจึงพบมากในบางส่วนของภูมิภาคยุโรปเท่านั้น ? คำถามเหล่านี้สามารถหาคำตอบได้จากสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ ที่ตกค้างอยู่ในซี่ฟันหรือโครงกระดูกของคนโบราณ
ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากสหราชอาณาจักรและเดนมาร์ก ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาที่น่าสนใจลงในวารสาร Nature ซึ่งเผยว่ายีนหรือหน่วยพันธุกรรมที่เคยปกป้องมนุษย์ไม่ให้ติดโรคร้ายจากสัตว์ ปัจจุบันกลับกลายเป็นยีนที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคปลอกประสาทอักเสบ หรือปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis – MS)
การค้นพบดังกล่าวถือว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่แบบก้าวกระโดดของวงการแพทย์เลยทีเดียว เพราะได้ปรับความเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริง และส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อวิธีการรักษาโรค MS ไปอย่างมาก
ทำไมต้องเป็นโรค MS ?
เมื่อเทียบกับประชากรของภูมิภาคยุโรปใต้แล้ว มีผู้ป่วยโรค MS มากเป็น 2 เท่า ในจำนวนประชากรทุก 1 แสนคนของภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรป ซึ่งบริเวณนี้รวมถึงสหราชอาณาจักรและกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวียด้วย
ด้วยเหตุนี้ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก รวมทั้งจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ของสหราชอาณาจักร จึงทำการศึกษาทางพันธุศาสตร์และโบราณคดีนานกว่า 10 ปี จนสามารถชี้ชัดได้ว่าสาเหตุของโรค MS ในชาวยุโรปทางตะวันตกเฉียงเหนือนั้น มาจากยีนบางตัวที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษนั่นเอง
โรค MS นั้นเกิดจากเซลล์ภูมิคุ้มกันโจมตีระบบประสาทส่วนกลางของตนเอง ซึ่งได้แก่สมองและไขสันหลัง ส่งผลให้กล้ามเนื้อแข็งตัวไม่ยืดหยุ่น จนผู้ป่วยประสบปัญหาในการเดินและการพูด
อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยล่าสุดพบว่ายีนที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรค MS นั้น เข้ามาอยู่ในกลุ่มประชากรชาวยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือตั้งแต่ราว 5,000 ปีก่อน เนื่องจากมีการอพยพเข้ามาของชนเผ่าที่ต้อนเลี้ยงฝูงปศุสัตว์ ชื่อว่า “ยัมนายา” (Yamnaya
รูป 2 บรรพบุรุษมนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับฝูงสัตว์ เช่น วัวและม้า
ชาวยัมนายานั้นมาจากทางตะวันตกของรัสเซีย รวมทั้งดินแดนของประเทศยูเครนและคาซักสถานในปัจจุบัน ซึ่งในอดีตนั้นพวกเขามียีนที่ช่วยป้องกันไม่ให้ติดโรคร้ายจากฝูงสัตว์ ซึ่งรวมถึงแกะ วัว และม้า ที่พวกเขาเลี้ยงและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิด
ทว่า รูปแบบการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไปในยุคปัจจุบัน ทำให้บทบาทของยีนตัวนี้ผันแปรไปด้วย จนมันกลับกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคสมัยใหม่ขึ้นหลายชนิด
มีการถอดรหัสพันธุกรรมจากซากร่างของมนุษย์โบราณจำนวนหนึ่งที่ค้นพบในภูมิภาคยุโรปและเอเชียตะวันตก แล้วจึงนำข้อมูลดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับยีนของชาวอังกฤษยุคปัจจุบันนับแสนคน ซึ่งผลปรากฏว่า มียีนที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันระหว่างบรรพบุรุษที่ต้อนเลี้ยงฝูงสัตว์กับผู้ป่วยโรค MS ในทุกวันนี้
ค้นหาจุดสมดุล
ศ. ลาร์ส ฟุกเกอร์ ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระบุว่า การค้นพบครั้งนี้ช่วยไขปริศนาอันลึกลับของโรค MS ให้กระจ่าง “โรคนี้ไม่ได้เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน แต่เกิดจากยีนธรรมดาที่ปกป้องเราจากเชื้อโรคร้าย”
แต่ชีวิตสมัยใหม่ที่มีมาตรฐานทางสุขอนามัยสูงขึ้น รวมทั้งมีการฉีดวัคซีนและใช้ยาปฏิชีวนะ แม้จะทำให้คนเรามีอายุยืนขึ้นและโรคหลายชนิดถูกกำจัดหมดสิ้นไป ทว่า ระบบภูมิคุ้มกันของคนสมัยใหม่นั้น เปราะบางต่อโรคภูมิคุ้มกันโจมตีตนเองอย่างเช่น MS เป็นอย่างมาก
ทุกวันนี้แพทย์นิยมใช้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อรักษาโรค MS แต่วิธีนี้ก็มีข้อเสีย เพราะคนไข้จะมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงและติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งประเด็นนี้ ศ.ฟุกเกอร์ กล่าวว่า “อันที่จริงเมื่อเราลงมือรักษาโรค MS นั่นเท่ากับกำลังฝืนต้านกระแสวิวัฒนาการของมนุษย์ ดังนั้น แทนที่จะขจัดภูมิคุ้มกันให้หมดสิ้นไป เราควรจะค้นหาจุดสมดุลของภูมิคุ้มกันให้ได้จะเป็นการดีกว่า”
หลังจากนี้ทีมผู้วิจัยมีแผนจะศึกษาพันธุกรรมยุคโบราณเพิ่มเติม เพื่อค้นหาสาเหตุของโรคอื่น ๆ ที่ยังเป็นปริศนาอยู่ เช่น ภาวะออทิสติก, สมาธิสั้น, โรคซึมเศร้า และไบโพลาร์
รูป 3 กะโหลกศีรษะของมนุษย์ยุคหินใหม่ที่พบในเมือง Porsmose ของเดนมาร์ก เมื่อปี 1947
ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นที่ลงตีพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับเดียวกัน ยังใช้การวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากโครงกระดูกชาวยูเรเชียยุคโบราณหลายพันร่าง ชี้ว่า พันธุกรรมของชาวยัมนายาทำให้ชาวยุโรปเหนือตัวสูงกว่าชาวยุโรปใต้อีกด้วย
ในขณะที่ชาวยุโรปเหนือเสี่ยงต่อโรค MS สูงกว่า ชาวยุโรปใต้กลับมีความเสี่ยงต่อภาวะไบโพลาร์สูงกว่า ซึ่งเป็นผลมาจากยีนของบรรพบุรุษในยุคริเริ่มทำการเกษตร ส่วนชาวยุโรปตะวันออกนั้น มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์สูงกว่า ซึ่งเป็นผลมาจากยีนของบรรพบุรุษนักล่าสัตว์และหาเก็บของป่ายุคก่อนประวัติศาสตร์
งานวิจัยดังกล่าวยังพบว่า ยีนที่ทำให้คนเราย่อยนมและอาหารที่เป็นพืชผักได้นั้น เพิ่งปรากฏขึ้นเมื่อราว 6,000 ปีมานี้เอง โดยก่อนหน้านั้นบรรพบุรุษมนุษย์กินแต่เนื้อเป็นอาหารหลัก
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :www.bbc.com
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของภาพ : SAYOSTUDIO , GETTY IMAGES , NATURE / UNIVERSITY OF COPENHAGEN