สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก แนะผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว หากพบมีอาการหายใจเหนื่อย อ่อนเพลีย มีอาการบวมน้ำ ให้รีบมาพบแพทย์ทันที เพราะเป็นอาการเริ่มต้นของภาวะปอดบวมน้ำ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจผิดปกติที่โครงสร้างหรือการทำหน้าที่ของหัวใจ ส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้พอเพียง ปัจจัยเสี่ยงของภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดจากความผิดปกติของโรคเยื่อหุ้มหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยสาเหตุที่พบบ่อย เช่น ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคลิ้นหัวใจรูมาติก ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ การใช้สารเสพติด รวมทั้งเยื่อหุ้มหัวใจหนาตัวจากการอักเสบและมีน้ำคั่งในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ ความผิดปกติอื่นๆที่ทำให้อาการของโรคมีความรุนแรงมากขึ้น โลหิตจางขั้นรุนแรง ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น ผู้ป่วยจะพบอาการสำคัญของภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่ หอบเหนื่อย ในขณะที่ออกแรง หรือหายใจไม่สะดวกขณะนอนราบ อ่อนเพลีย ทำให้ความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันและการออกกำลังกายลดลง มีอาการบวมน้ำ บวมกดบุ๋มที่เท้าและขา และน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น จากภาวะคั่งน้ำและเกลือ หากพบอาการเหล่านี้ให้รีบมาพบแพทย์ทันที
นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวแพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักประวัติ ประเมินภาวะคั่งน้ำในร่างกาย รวมทั้งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ การตรวจภาพถ่ายรังสีทรวงอก การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของอายุรแพทย์หัวใจ สำหรับแนวทางการรักษาแพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย ดังนี้
1.การรักษาด้วยยา เช่น ยาขับปัสสาวะและยาสำหรับหัวใจล้มเหลวที่มีผลในการลดอาการและลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว
2.การรักษาที่สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดหัวใจล้มเหลว เช่นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันด้วยยาหรือการทำบอลลูนหรือการผ่าตัดบายพาส รวมทั้งการควบคุมปัจจัยเสี่ยงได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูงให้อยู่ในเกณฑ์
3.การใช้เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ/เครื่องกระตุ้นหัวใจถาวร เพื่อให้หัวใจห้องล่างซ้ายและขวาบีบตัวพร้อมกันในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ซึ่งต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
4.การผ่าตัดลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (บายพาสหลอดเลือดหัวใจ) เพื่อแก้ไขที่สาเหตุ
5.การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้ายที่การรักษาอื่นไม่ได้ผล
นอกจากนี้ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวต้องรู้จักควบคุมปัจจัยเสี่ยงและดูแลสุขภาพตนเองด้วยการรับประทานยาตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอ และมาพบแพทย์ตามนัด ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม จำกัดการรับประทานเกลือโซเดียม จำกัดปริมาณน้ำดื่มตามแผนการรักษาของแพทย์ หลีกเลี่ยงความเครียด งดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ หากหอบเหนื่อยควรหยุดพักทันที และควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีในกรณีไม่มีข้อห้าม นอกจากนี้ควรหมั่นสังเกตตนเอง ควรชั่งน้ำหนักก่อนรับประทานอาหารเช้าทุกวัน หรือภายหลังเข้าห้องน้ำขับถ่ายแล้วในช่วงเช้า ถ้าน้ำหนักเพิ่มขึ้น 1 กก. จากเดิมภายใน 1- 2 วัน (หรือเพิ่มขึ้น 2 กก. ภายใน 3 วัน) หรือพบว่ามีอาการขาบวม กดบุ๋ม เหนื่อยนอนราบไม่ได้หรือต้องลุกมานั่งหอบตอนกลางคืนควรรีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน