สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ
เรียบเรียงโดยนพ.วิวัฒน์เอกบูรณะวัฒน์
วันที่เผยแพร่ 11 เมษายน 2552
น้ำหล่อเย็นคืออะไร?
Metalworking Fluid (MWF) หรือน้ำหล่อเย็น เป็นชื่อเรียกกลุ่มของเหลว ส่วนมากเป็นพวกน้ำมันที่ใช้ในการหล่อลื่นหรือเพื่อลดความร้อนและการเสียดสี เมื่อทำการตัด, เจียร, บดโลหะ ช่วยให้ไม่เกิดความร้อนมากจนไฟไหม้หรือควันขึ้น หรือเกิดประกายไฟ ช่วยให้ขอบหน้าของโลหะที่ตัดมีความเรียบเนียน และช่วยให้เศษผงโลหะที่เกิดขึ้นจากการตัดหลุดออกไปได้ง่ายขึ้น
น้ำหล่อเย็นมีกี่ชนิด?
ของเหลวที่มีคุณสมบัติเป็นน้ำหล่อเย็นได้มีอยู่มากมายหลายชนิด แบบที่หาได้ง่ายที่สุดคือน้ำประปา (tap water) ก็สามารถนำมาใช้เป็นน้ำหล่อเย็นได้ ที่มีการพัฒนาคุณสมบัติให้ดีขึ้นจะเป็นกลุ่มน้ำมันปิโตรเลียม และสารเคมีสังเคราะห์ หากอ้างอิงตาม Canadian Centre for Occupational Health and Safety [1] เราพอจะแบ่งน้ำหล่อเย็นที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 4 กลุ่มดังนี้
- Straight oils หรือ Cutting oils หรือ Neat oils อาจเป็นน้ำมันปิโตรเลียม (mineral or petroleum oil), น้ำมันจากสัตว์, จากสัตว์น้ำ, จากพืช หรือเป็นน้ำมันสังเคราะห์ กลุ่มที่เป็นน้ำมันปิโตรเลียมที่คุณภาพค่อนข้างดีจะผ่านการกลั่น (severely solvent refined หรือ severely hydrotreated) เพื่อลดสารกลุ่ม Polycyclic Aromatic Hydrocarbon (PAH) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งให้น้อยลง เนื่องจากน้ำหล่อเย็นกลุ่มนี้เป็นน้ำมันล้วนๆ ฉะนั้นจะไม่ละลายน้ำ บางครั้งอาจมีการใส่สารเติมแต่ง (additives) ลงไปด้วย เพื่อเพิ่มคุณสมบัติบางอย่าง
- Soluble oils ประกอบด้วยน้ำมันปิโตรเลียม 30-85% ผสมกับสารอีมัลสิไฟเออร์ (emulsifier) ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติทำให้น้ำมันละลายผสมกับน้ำได้
- Semi-synthetic fluids หรือน้ำหล่อเย็นกลุ่มกึ่งสังเคราะห์ ประกอบด้วยน้ำมันปิโตรเลียม 5-30% ผสมกับน้ำ 30-50% และสารเติมแต่ง
- Synthetic fluids หรือน้ำหล่อเย็นสังเคราะห์ กลุ่มนี้จะไม่มีส่วนประกอบของน้ำมันปิโตรเลียมเลย แต่จะเป็นสารเคมีกลุ่มดีเทอร์เจนท์ (detergent) และใส่สารเติมแต่ง
สารเติมแต่ง (additive) ที่ผสมอยู่ในน้ำหล่อเย็นนั้นมีหลายกลุ่ม ทำหน้าที่เพิ่มคุณสมบัติบางอย่างให้กับน้ำหล่อเย็น เช่น
1. เพิ่มสารซัลเฟอร์หรือคลอรีนเพื่อทำปฏิกิริยาเคมี (sulphurized or chlorinated compounds)
2. ป้องกันการกัดกร่อน (calcium sulfonate, fatty acid, amines, boric acid)
3. ช่วยให้ทนความดันสูงได้ (sulfurized fatty materials, chlorinated paraffins, phosphorus derivertives)
4. ลดการเกิดละออง (polyisobutylene polymer)
5. อีมัลสิไฟเออร์ (triethanolamine, sodium petroleum sulphonates, salts of fatty acids and non-ionic surfactants)
6. สารตั้งต้นของอีมัลสิไฟเออร์ (alkanolamines)
7. ยาฆ่าเชื้อ (triazine compounds, oxazolidine compounds)
8. สารเพิ่มความคงตัว (stabilizers)
9. ลดการเกิดโฟม (defoamers)
10. สารแต่งสี (colorants) และสีย้อม (dyes)
11. สารแต่งกลิ่น (odourants) และน้ำหอม (fragrances) เป็นต้น
เมื่อเก็บน้ำหล่อเย็นไว้นานๆ หรือเอามาใช้ซ้ำๆ จะมีการปนเปื้อนของสารบางชนิดเพิ่มขึ้นอีก เช่นสารไนโตรซามีน (nitrosamine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง [2] เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของส่วนผสมในน้ำหล่อเย็นกลุ่มที่มีน้ำผสม (water -based) กับอากาศ สารเคลือบภาชนะบรรจุ หรือสารปนเปื้อน, แบคทีเรีย (bacteria) และเชื้อรา (fungi) สามารถเจริญเติบโตขึ้นได้ในน้ำหล่อเย็น น้ำมันจากเครื่องจักรเช่น น้ำมันเกียร์ น้ำมันเครื่อง อาจปนเปื้อนลงมาผสมกับน้ำหล่อเย็น และเป็นอาหารอย่างดีให้กับแบคทีเรียและเชื้อรา [1] เชื้อโรคเหล่านี้อาจเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจต่างๆ เมื่อทำงานกับน้ำหล่อเย็น เศษโลหะที่ตัดเช่นเศษนิกเกิล (nickel) โครเมียม (chromium) โคบอลท์ (cobalt) เมื่อปนเปื้อนลงมาผสม สามารถก่อให้เกิดผื่นแพ้ที่ผิวหนังได้
น้ำหล่อเย็นเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?
เช่นเดียวกับสารเคมีประเภทอื่นๆ น้ำหล่อเย็นสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือทางการหายใจเอาไอหรือละอองเข้าไป การดูดซึมเข้าสู่ผิวหนัง และทางการกินโดยบังเอิญ (เปื้อนมือ)
น้ำหล่อเย็นทำให้เกิดผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง?
เนื่องจากน้ำหล่อเย็นส่วนใหญ่มักเป็นส่วนผสมของสารเคมีมากมายหลายอย่างปะปนกัน การก่อโรคส่วนใหญ่ก็เกิดจากสารองค์ประกอบแต่ละชนิดนั้นเอง ผู้ที่ทำงานทางด้านอาชีวอนามัยทุกท่านควรทราบว่าพนักงานของตนสัมผัสกับน้ำหล่อเย็นที่มีองค์ประกอบของสารกลุ่มใดอยู่บ้าง เพื่อจะได้สามารถรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับพนักงานที่เราดูแลได้ถูกทาง วิธีการที่ง่ายที่สุดคือดูจาก MSDS ของน้ำหล่อเย็นที่สถานประกอบการซื้อมานั่นเอง ผลต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้มีดังนี้
1. ผลต่อผิวหนัง
- Soluble, Semi-synthetic และ Synthetic MWF (กลุ่ม water-based ทั้งหมด) สามารถทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบทั้งแบบผื่นแพ้ (Allergic Contact Dermatitis, ACD) และแบบผื่นระคายเคือง (Irritant Contact Dermatitis, ICD) ความเสี่ยงในการเกิดโรคจะเพิ่มขึ้นในผู้ที่ทำงานโดยผิวหนังสัมผัสหรือจุ่มอยู่ในน้ำหล่อเย็นเป็นเวลานาน (ในคนงานบางคนก็อาจสัมผัสทั้งวันเลยก็เป็นได้) และกลุ่มที่มีประวัติผิวแพ้ง่าย โดยสาเหตุเชื่อว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียและสารที่แบคทีเรียสร้างขึ้นขณะที่เพาะตัวอยู่ในน้ำหล่อเย็น หรืออาจเกิดจากสารเติมแต่งบางชนิดที่ทำให้เกิดผื่นแพ้ (เช่นกลุ่มยาฆ่าเชื้อ) หรือเกิดจากผงโลหะนิกเกิล (nickel) โครเมียม (chromium) โคบอลท์ (cobalt) ที่ละลายปนอยู่ ซึ่งโลหะทั้ง 3 ชนิดนี้สามารถก่อให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบได้ [1]
- ส่วนกลุ่ม Straight oils ซึ่งเป็นน้ำมันล้วนๆ นั้น ตัวน้ำมันเองสามารถทำให้เกิดรูขุมขนอักเสบ (folliculitis) และสิวจากน้ำมัน (oil acne) เมื่อสัมผัสบ่อยๆ
2. ผลต่อทางเดินหายใจ
- เมื่อสูดดมไอระเหยหรือละอองของน้ำหล่อเย็นเข้าไป อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองทางเดินหายใจ (irritation of respiratory tract) หายใจติดขัด (breathing difficulty) หลอดลมอักเสบ (bronchitis) และคนเป็นโรคทางเดินหายใจอยู่เดิมอาจมีอาการกำเริบได้ เช่นหอบหืดกำเริบ (work-aggravated asthma) [1]
- สำหรับโรคหอบหืดที่เกิดจากการสัมผัสน้ำหล่อเย็น (occupational asthma from MWF) คือก่อนมาทำงานไม่เคยเป็นหอบหืดเลย เมื่อมาทำงานที่สัมผัสน้ำหล่อเย็นแล้วเกิดเป็นหอบหืดขึ้น กรณีนี้พบว่าเกิดขึ้นได้เช่นกัน [3-5] สารที่ก่ออาการหอบหืดได้ในน้ำหล่อเย็นมีอยู่หลายชนิด ซึ่งบางครั้งก็จำแนกได้ บางครั้งก็ไม่สามารถจำแนกได้ว่าเกิดโรคหอบจากสารอะไร [6] ในกลุ่มที่สามารถจำแนกได้เช่นสาร ethanolamine, ยางสน (colophony), น้ำมันสน (pine oil), เศษโลหะบางชนิดที่ปนในน้ำ (chromium หรือ nickel), น้ำมันละหุ่ง (castor oil), ฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde), คลอรีน (chlorine), กรด (acids) และแบคทีเรียที่ปะปนอยู่ในน้ำหล่อเย็น รวมทั้งพิษของแบคทีเรียชนิดแกรมลบด้วย (Gram-negative bacterial endotoxin)
- Hypersensitivity pneumonitis (HP) เป็นอีกโรคหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานสูดดมไอน้ำหล่อเย็นได้ [7] โดยเชื่อว่าเกิดจากการสูดดมแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำหล่อเย็น โรคนี้มีกลไกการเกิดเป็นลักษณะปฏิกิริยาภูมิแพ้ จะมีอาการไข้หนาวสั่น ไอ และหายใจลำบากคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ (flu-like symptoms) แม้พบไม่บ่อยแต่หากไม่แก้ไขอาการจะไม่หาย และปอดอาจถูกทำลายถาวรได้ การแก้ไขที่เหมาะสมทำได้เพียงวิธีการเดียวคือย้ายออกจากแผนกที่สัมผัสไปทำงานในแผนกอื่น แล้วอาการจะดีขึ้นเอง
3. ผลก่อมะเร็ง
- มีความเชื่อว่าการทำงานสัมผัสน้ำหล่อเย็นอาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งบางชนิดได้ เช่นมะเร็งลำไส้ส่วนปลาย (rectum), ตับอ่อน (pancreases), กล่องเสียง (larynx), ผิวหนัง (skin), ลูกอัณฑะ (scrotum), หลอดอาหาร (esophagus) และกระเพาะปัสสาวะ (bladder cancer)[1 , 6] สาเหตุที่นักวิชาการเชื่อเช่นนี้เนื่องจากมีสารองค์ประกอบหลายอย่างในน้ำหล่อเย็นที่ยอมรับกันว่าเป็นสารก่อมะเร็งเช่น mineral oil, PAH, nitrosamine, chlorinated paraffin (ทำให้เกิดสาร dioxin) อย่างไรก็ตามการพิสูจน์ว่าการทำงานสัมผัสน้ำหล่อเย็นเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งจริงหรือไม่นั้นทำได้ลำบากมาก เนื่องจากองค์ประกอบของน้ำหล่อเย็นที่สถานประกอบการแต่ละแห่งใช้นั้นต่างกันมาก มีสารผสมและปนเปื้อนอยู่มากมายหลายชนิด ข้อมูลการสัมผัสก็เก็บได้ยาก [6]จึงทำให้ไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าการทำงานสัมผัสน้ำหล่อเย็นเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งจริงหรือไม่
- อย่างไรก็ตามบริษัทผู้ผลิตน้ำหล่อเย็นที่มีคุณภาพ ก็พยายามกำจัดสารก่อมะเร็งออกไปจากส่วนผสม เช่นทำการกลั่นเพื่อให้น้ำมันปิโตรเลียมมีส่วนของ PAH น้อยลง ไม่ผสมสารกลุ่ม nitrite, nitrate และ amine ซึ่งจะก่อให้เกิดสาร nitrosamine ลงในส่วนของสารเติมแต่งแล้ว เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
1.Canadian Centre for Occupational Health and Safety. Metalworking Fluid. [cited 30 July 2008]; Available from http://www.ccohs.ca/oshanswers/chemical/metalworking_fluids.html
2.International Agency for Research on Cancer (IARC). IARC Monographs on the evaluation of carcinogenic risks to humans Supplement 7 (1987), Overall Evaluations of Carcinogenicity: An Updating of IARC Monographs Volumes 1 to 42. Lyon 1987 .
3.Forbes JD, Markham TN. Cutting and grinding fluids in chronic pulmonary airway disease. J Occup Med. 1967;9(8):421-423.
4.Robertson AS, Weir DC, Burge PS. Occupational asthma due to oil mists. Thorax 1988;43(3):200-205.
5.Hendy MS, Beattie BE, Burge PS. Occupational asthma due to an emulsified oil mist. Br J Ind Med. 1985;42(1):51B54.
6.National Institute for Occupational Safety and Health (NIOSH). What you need to know about Occupational Exposure To Metalworking Fluids. NIOSH Publication No.98-116, March 1998.
7.Bernstein DI, Lummus ZL, Santilli G, Siskosky J, Bernstein IL. Machine operator’s lung: a hypersensitivity pneumonitis disorder associated with exposure to metalworking fluid aerosols. Chest 1995;108(3):636-641.
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :https://www.summacheeva.org/article/mwf