โรค COVID – 19 กับหลอดเลือดอักเสบในเด็ก

28 ต.ค. 2563 13:15:25จำนวนผู้เข้าชม : 694 ครั้ง

กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ให้ความมั่นใจกับผู้ปกครอง ไม่ต้องวิตกกังวลกับข่าวที่พบมีรายงานการเกิดโรคหลอดเลือดอักเสบ ที่เรียกเบื้องต้นว่า Pediatric Multisystem Inflammatory Syndrome associated with COVID-19 หรือกลุ่มอาการคล้าย Kawasaki ที่อาจจะสัมพันธ์กับการติดเชื้อ COVID – 19 ในเด็ก ที่พบในประเทศทางตะวันตก
          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีหลายประเทศทางตะวันตกในช่วงที่มีการระบาดของโรค COVID-19 มีจำนวนของเด็กที่เจ็บป่วยด้วยการอักเสบของอวัยวะหลายระบบทั่วร่างกาย คล้ายกับที่พบในโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) ซึ่งปกติจะพบบ่อยในเด็กเอเชีย แต่พบน้อยมากในเด็กอเมริกาหรือยุโรป โดยอาการที่พบจะเป็นอาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ร่วมกับหัวใจอักเสบ และมีภาวะช็อก โดยมีเด็กจำนวนหนึ่งตรวจพบหลักฐานการติดเชื้อ COVID-19 ร่วมด้วย จึงเป็นที่มาของคำแนะนำในประเทศทางตะวันตกว่า หากมีเด็กที่มีอาการแสดงที่น่าสงสัย หรือเข้าได้กับหรือกลุ่มอาการ Kawasaki หรือมีภาวะช็อกที่อธิบายสาเหตุไม่ได้ ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษว่าอาจจะสัมพันธ์กับการติดเชื้อ COVID-19 และควรพิจารณาตรวจหาเชื้อ COVID-19 ร่วมด้วย ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานเด็ก 3 คนในเมือง New York ที่เสียชีวิตด้วยอาการที่เข้าได้กับโรคคาวาซากิ และอยู่ในระหว่างการสอบสวนโรคว่ามีสาเหตุจากการติดเชื้อCOVID -19 จริงหรือไม่
          นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่าโรคหลอดเลือดอักเสบ Kawasaki เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมกับการสัมผัสกับสารก่อโรคในสิ่งแวดล้อมเช่น สารเคมีหรือจุลินทรีย์บางชนิดไปกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่รุนแรงจนกระทั่งเกิดการอักเสบของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 ในภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยและจีน ยังไม่มีหลักฐานว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการติดเชื้อ COVID-19 กับกลุ่มอาการKawasaki นอกจากนั้น ในเดือนที่ผ่านมาสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีมีผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับภาวะหลอดเลือดอักเสบ
ที่หาสาเหตุไม่ได้ 2 ราย หลังจากรักษาประคับประคอง ผู้ป่วยฟื้นตัวดีซึ่งสามารถกลับบ้านได้ และไม่ได้พบว่ามีอุบัติการณ์ของโรคสูงเพิ่มขึ้นผิดสังเกตแต่อย่างใด นอกจากนั้นยังมีการเฝ้าระวังสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดโดยเครือข่ายแพทย์โรคติดเชื้อในเด็ก ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดอักเสบจากภูมิคุ้มกันของประเทศไทย ตลอดจนกุมารแพทย์โรคหัวใจในเครือข่าย Asian Kawasaki Disease Collaborating Research Network (AKDCRN) จากญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย และมาเลเซีย แต่ก็ยังไม่มีการรายงานกลุ่มอาการนี้ ในทางตรงข้ามกลับพบว่าโรคคาวาซากิและการเจ็บป่วยเฉียบพลันลดลงจากการทำ physical distancing โดยสรุปในภูมิภาคเอเชียยังไม่พบมีจำนวนผู้ป่วยเด็กที่มีอาการเหล่านี้มากขึ้นแต่อย่างใด
          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการติดเชื้อ COVID-19 ในเด็กส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่ถ้าหากเด็กมีอาการที่น่าสงสัยคือ ไข้สูงหลายวัน มีผื่นผิวหนัง มีอาการทางเดินอาหารคลื่นไส้ อาเจียน ซึมผิดสังเกต สามารถปรึกษากุมารแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทร. มาขอคำปรึกษาที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หมายเลข call center 1415 เพื่อให้คำแนะนำในการมาตรวจรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป