โควิดสายพันธุ์ใหม่ FLiRT อาการเป็นอย่างไร น่ากังวลแค่ไหน ?

18 ก.ค. 2567 15:41:02จำนวนผู้เข้าชม : 215 ครั้ง

พบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และยุโรป

 


จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า "FLiRT" และมันกำลังจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลก


นี่คือเรื่องที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์นี้


เชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้เป็นอย่างไร?
FLiRT เป็นชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่นี้ ชื่อนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชื่อของการกลายพันธุ์ในรหัสพันธุกรรมของโควิดสายพันธุ์นี้ โควิดสายพันธุ์ใหม่นี้กลายพันธุ์มาจากสายพันธุ์ JN.1 ซึ่งกลายพันธุ์มาอีกทีจากโอมิครอน (Omicron)


ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ ของสหรัฐฯ ระบุว่า กลุ่มสายพันธุ์ใหม่นี้มีการกลายพันธุ์สำคัญ 3 ประการในส่วนโปรตีนหนาม (spike protein) ซึ่งช่วยให้พวกมันสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ได้


ขณะที่หน่วยงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UK Health Security Agency) ระบุว่า ยังจำเป็นต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มสายพันธุ์ใหม่นี้ เพื่อทำความเข้าใจความรุนแรงและความยากง่ายในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส อย่างไรก็ดี หน่วยงานนี้เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างในเชิงความรุนแรงของอาการป่วย เมื่อเปรียบเทียบกับอาการที่เกิดขึ้นจากกลุ่มสายพันธุ์อื่นๆ ที่ยังคงพบในสหราชอาณาจักร


จำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 กำลังเพิ่มขึ้นหรือไม่?
รายงานฉบับล่าสุดขององค์การอนามัยโลกที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อระหว่างปลายเดือน เม.ย. จนถึงสิ้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา พบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากประเทศต่างๆ ที่ส่งรายงานอย่างต่อเนื่อง


อย่างไรก็ดี ผู้อ่านควรตระหนักด้วยว่าการตรวจหาและรายงานข้อมูลผู้ป่วยโควิดไม่ได้แพร่หลายเหมือนเมื่อก่อน


อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศพบว่า มีการรายงานผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้น วารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ (British Medical Journal) ระบุว่า "ในช่วงระหว่างเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ที่ผ่านมา พบจำนวนผู้ตรวจหาเชื้อโควิดแล้วมีผลเป็นบวกเพิ่มขึ้น"


"จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดกำลังเพิ่มขึ้นในหลายส่วนของทวีปยุโรปด้วยเช่นกัน ส่วนในสหรัฐฯ จำนวนคนที่ตรวจหาเชื้อโควิดแล้วได้ผลเป็นบวกก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 1.4% ในช่วงสัปดาห์ระหว่างวันที่ 16-22 มิ.ย."


แม้ว่าตลอดปีที่ผ่านมา อัตราการติดเชื้อโควิดจะมีแนวโน้มขึ้นๆ ลงๆ และไม่มีความจำเป็นจะต้องกังวลใดๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังคงจับตาเฝ้าระวังระดับการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง

 ในตอนนี้ผู้คนไม่ได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 บ่อยเหมือนในอดีต

 


อาการจากสายพันธุ์ FLiRT เป็นอย่างไร?
อาการโดยทั่วไปจากการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่นี้ ไม่แตกต่างจากสายพันธุ์ก่อนหน้า องค์การอนามัยโลกระบุว่า "โดยทั่วไป ผู้ป่วยติดเชื้อจะแสดงอาการใน 5-6 วัน หลังจากการสัมผัสเชื้อ และจะหายจากอาการดังกล่าวในระยะเวลา 1–14 วัน"
อาการที่พบได้มากที่สุด มีดังนี้
- มีไข้
- หนาวสั่น
- เจ็บคอ
อาการที่พบได้น้อยกว่า ได้แก่
- ปวดกล้ามเนื้อและรู้สึกหนักแขนหรือขา
- รู้สึกเพลียอย่างรุนแรง หรือเหนื่อยล้า
- น้ำมูกไหล หรือคัดจมูก หรือจาม
- ปวดที่ตา
- เวียนศีรษะ
- ไอเรื้อรัง
- แน่นหน้าอก หรือเจ็บที่หน้าอก
- หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจไม่สะดวก
- เสียงแหบ
- รู้สึกชาหรือเสียวแปล๊บ
- เบื่ออาหาร, คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดท้อง หรือท้องร่วง
- สูญเสียการรับรส/ได้กลิ่น หรือ การรับรส/ได้กลิ่นเปลี่ยนไป
- มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน
องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ควรปรึกษาแพทย์ทันที
- หายใจลำบาก โดยเฉพาะในช่วงการพักผ่อน หรือไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้
- รู้สึกสับสน
- ง่วงนอน หรือหมดสติ
- เจ็บหรือรู้สึกอึดอัดที่อกอย่างต่อเนื่อง
- ผิวหนังเย็น ชื้น หรือซีด หรือดูคล้ำลง
- สูญเสียการพูดหรือการเคลื่อนไหว


วัคซีนในปัจจุบันสามารถรับมือกับสายพันธุ์ FLiRT ได้หรือไม่?
ดร.แอรอน แกลตต์ หัวหน้าแผนกโรคติดเชื้อจากโรงพยาบาลเมาท์ ไซนาย เซาธ์ นัสเซา ในเมืองโอเชียนไซด์ มลรัฐนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ และโฆษกสมาคมแพทย์โรคติดเชื้ออเมริกา (Infectious Disease Society of America - IDSA) ระบุว่า วัคซีนในปัจจุบันยังคงมีประโยชน์บางประการในการต่อต้านเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่


นับตั้งแต่ปี 2022 หน่วยงานกำกับด้านสาธารณสุขได้เรียกร้องให้บรรดาผู้ผลิตวัคซีนคิดค้นวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 รุ่นใหม่ๆ เพื่อให้สามารถต่อกรกับสายพันธุ์ที่ยังคงหมุนเวียนแพร่ระบาดอยู่ได้


ด้านหน่วยงานกำกับในยุโรปได้ระบุว่า ผู้ผลิตวัคซีนควรจะมุ่งเน้นไปยังการสร้างวัคซีนต้านสายพันธุ์ JN.1 ได้แล้ว


ส่วนหน่วยงานกำกับด้านสาธารณสุขในสหรัฐฯ ก็เรียกร้องให้มีการผลิตวัคซีนที่พุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ JN.1 ด้วยเช่นกัน แต่ระบุว่าต้องการให้เน้นไปที่สายพันธุ์ย่อย KP.2 แทน ซึ่งถือเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา


 

ขอขอบคุณแหล่งที่ของข้อมูล :https://www.bbc.com/thai/articles/cx82397gnq1o


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของภาพ  :GETTY IMAGES