สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
ผลวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับปัจจัยที่ก่อความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ขั้นรุนแรงของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยวอชิงตันได้ข้อสรุปว่า ผู้ที่เคยเสพกัญชาเพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ขั้นรุนแรงสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้กัญชา
นับตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มแพร่กระจายในช่วงปลายปีค.ศ. 2019 นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบว่าคนกลุ่มใดบ้างที่มีความเสี่ยงมากที่สุดโดยได้ข้อสรุปโดยรวมว่าอายุประวัติการสูบบุหรี่ดัชนีมวลกายที่สูง (BMI) และการมีโรคประจำตัวเช่นโรคเบาหวานโรคหัวใจ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มจะป่วยหนักกว่าและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้มากกว่าแต่ล่าสุดทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยวอชิงตันในเมืองเซนต์หลุยส์ได้ข้อสรุปจากการทดลองเชิงคลินิกว่า กัญชาก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ขั้นรุนแรง
ทีมวิจัยได้บันทึกสุขภาพของผู้ป่วยโควิด 72,501 คน จากโรงพยาบาลและคลินิก BJC HealthCare ในรัฐมิสซูรีและอิลลินอยส์ ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 2020 และ 31 ม.ค. 2022 โดยพบว่า ผู้ที่รายงานว่าใช้กัญชาในรูปแบบใดก็ตามอย่างน้อย 1 ครั้งใน 1 ปีก่อนที่จะเกิดโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะต้องเข้ารับการรักษา ด้วยอาการป่วยที่หนักมากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติการใช้กัญชาอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้เคยใช้กัญชาในปีก่อนหน้า การล้มป่วยมีโอกาสเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 80% และมีโอกาสเข้าห้องไอ.ซี.ยู. มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้กัญชาถึง 27% ความเสี่ยงต่อการเกิดอาการป่วยขั้นรุนแรงนั้นสูงขึ้นพอๆกับความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่
การศึกษานี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อตอบคำถามที่ว่า ทำไมผู้ใช้กัญชาจึงมีอาการโควิด-19 หนักกว่าคนทั่วไป แต่มีความเป็นไปได้ประการหนึ่งคือควันกัญชาทำร้ายเนื้อเยื่อปอดที่บอบบางและทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น เช่นเดียวกับควันบุหรี่ที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคปอดบวม ส่วนผลจากกัญชาที่อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้นนั้น ยังคงต้องศึกษาอย่างละเอียดต่อไป