แพงพวยฝรั่ง

23 ก.ค. 2567 14:10:17จำนวนผู้เข้าชม : 508 ครั้ง

แพงพวยชื่อสามัญ West Indian periwinkle[1], Madagascar periwinkle[2] ,Bringht eye, Indian periwinkle, Cape periwinkle, Pinkle-pinkle, Pink periwinkle, Vinca[4] ,Cayenne jasmine, Rose periwinkle, Old maid


แพงพวย ชื่อวิทยาศาสตร์ Catharanthus roseus (L.) G.Don จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยระย่อม (RAUVOLFIOIDEAE) (เป็นคนละชนิดกับแพงพวยน้ำ ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ludwigia adscendens (L.) H.Hara)


สมุนไพรแพงพวยฝรั่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า แพงพวยบก แพงพวยฝรั่ง (กรุงเทพฯ), นมอิน (สุราษฎร์ธานี), ผักปอดบก (ภาคเหนือ), แพงพวยบก พังพวยบก แพงพวยฝรั่ง พังพวยฝรั่ง (ภาคกลาง), ฉางชุนฮวา (จีนกลาง) เป็นต้น


สรรพคุณของแพงพวยฝรั่ง


 1.ที่เมือง La Reunion ของประเทศฝรั่งเศส จะใช้รากที่หมักจนเปื่อยยุ่ยเป็นยาบำรุงและเป็นยาธาตุ เจริญอาหาร (ราก)


2.รากและก้านสดนำมาต้มกับน้ำ ดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (ราก, ก้าน)


3.ทั้งต้นมีรสขมเล็กน้อย เป็นยาเย็น มีพิษ ใช้เป็นยารักษามะเร็ง ต่อต้านมะเร็ง รักษาเนื้องอกในต่อมน้ำเหลือง มะเร็งของเซลล์เม็ดเลือดขาว หรือเม็ดเลือดขาวในต่อมน้ำเหลืองมากเกินควร ด้วยการใช้ครั้งละ 6-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (บางแห่งใช้บำบัดรักษามะเร็งเต้านม) (ทั้งต้น) รากช่วยรักษามะเร็งในเลือด (ราก) ส่วนใบมีรสเอียน เป็นยาแก้มะเร็งต่างๆ แก้มะเร็งในเม็ดเลือดของเด็ก (ใบ)


4.ใบช่วยบำรุงหัวใจ (ใบ, ต้นและใบ)


5.ทั้งต้นมีรสเอียน ใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้เบาหวาน บำบัดเบาหวาน (ทั้งต้น) ส่วนใบก็เป็นยาแก้โรคเบาหวานเช่นกัน โดยชาวจาเมกาเชื่อว่ายาดองเหล้าจากใบแพงพวยฝรั่งตากแห้ง สามารถช่วยรักษาโรคเบาหวานได้ (ใบ)


6.ทั้งต้นใช้ต้มดื่มช่วยลดความดันโลหิต ตามตำรับยาให้ใช้แพงพวย 15 กรัม ชุมเห็ดไทย 6 กรัม เก๊กฮวย 6 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้แพงพวย และแห่โกวเช่าอย่างละ 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานก็ได้เช่นกัน (ทั้งต้น)


7.ทั้งต้นมีรสจืดเย็น ช่วยแก้ร้อน ทำให้เลือดเย็น แก้หวัด ตัวร้อน แก้อาการไอแห้งอันเกิดจากความร้อน ด้วยการใช้ต้นแห้ง 15-30 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ทั้งต้น)


8.ใช้เป็นยารักษาโรคมาลาเรีย โรคเจ็บคอ และโรคช่องคออักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)


9.ต้นและใบช่วยลดไขมันในเลือดสูงได้ ด้วยการใช้ใบและต้น 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น (ต้น, ใบ)


10.ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำและแก้อาการท้องผูก ด้วยการใช้ต้นสด 60-120 กรัมนำมาตำคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำผึ้งเดือนห้าอุ่นพออุ่นดื่ม (ทั้งต้น)


11.ใช้เป็นยาขับเหงื่อ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]


12.ใช้ต้นสด 60 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดฟัน (ทั้งต้น)[4]


13.ช่วยแก้อาการท้องผูกเรื้อรัง ช่วยในการย่อย (ใบ)[1],[4]


14.รากมีรสเอียน เป็นยาแก้บิด (ราก)[1],[4],[7]


15.รากมีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิ (ราก)[1],[4],[7]


16.ทั้งต้นใช้ครั้งละ 6-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำ รับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)[3],[4]


17.ช่วยแก้โรคหนองใน ปัสสาวะเป็นหนอง ด้วยการใช้ต้นสด 30 กรัมผสมกับน้ำตาลกรวด 15 กรัม ต้มดื่มหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง (ทั้งต้น)[4]


18.รากใช้เป็นยาขับระดูของสตรีและทำให้แท้ง (ราก)[1],[7] นอกจากนี้ยังใช้รักษาโรคเลือดออกมากเกินไปในช่วงระหว่างมีประจำเดือนของสตรี ด้วยการนำใบมาเคี้ยวแล้วอมไว้เพื่อให้ตัวยาเข้าไปทางปาก (ใบ)[4]


19.ช่วยแก้อาการตัวเหลืองอันเกิดจากพิษสุรา ด้วยการใช้ต้นสด 1 กำมือนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำผึ้งเดือนห้าดื่ม (ทั้งต้น)[4]


20.ทั้งต้นใช้เป็นยาถอนพิษสำแดง ถอนพิษต่างๆ (ทั้งต้น)[4]


21.ช่วยแก้งูกัด สุนัขกัด ให้ใช้ต้นสด 1-2 กำมือนำมาล้างให้สะอาด ตำคั้นเอาแต่น้ำมาดื่ม ส่วนกากที่เหลือใช้พอกบริเวณที่ถูกกัด (ทั้งต้น)[4]


22.ในประเทศอินเดีย (เมือง Orissa) จะใช้น้ำสกัดจากใบแพงพวยฝรั่ง มารักษาโรคแมลงกัดต่อย (ใบ)[4]


23.ช่วยห้ามเลือด (ราก)[1],[4]


24.ช่วยแก้หัด แก้หัดหลังจากหัดออกแล้วไข้ไม่ลด แก้ผดผื่นคัน และแผลอักเสบอื่นๆ ให้ใช้ต้นสด 30-60 กรัม นำมาคั้นเอาแต่น้ำแล้วต้มดื่ม (ทั้งต้น)[4]


25.ช่วยแก้เด็กเป็นฝี มีหัวกลัดหนองยังไม่แตก ด้วยการใช้ต้นสดนำมาต้มเอาน้ำชะล้างและใช้ตำพอก (ทั้งต้น)[4]


26.ใช้ต้นสดตำพอกเป็นยาแก้กลากน้ำนม (ทั้งต้น)[4]


27.ช่วยแก้บวม แก้แผลอันเกิดจากการหกล้ม แผลเน่าเปื่อย ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น (ทั้งต้น)[4]


28.รากและก้านสดนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวด (ราก, ก้าน)[6]


หมายเหตุ : วิธีใช้สมุนไพรแพงพวยตาม [4] ให้ใช้ทั้งต้นแห้งครั้งละ 15-30 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้ต้นสดนำมาคั้นเอาแต่น้ำดื่ม ส่วนใช้ภายนอกให้นำมาตำพอกหรือสุมไฟให้เป็นถ่านผสมเป็นยาพอก[4]


ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของแพงพวยฝรั่ง


- สารสำคัญที่พบ ได้แก่ acenine, ajalicine, akummigine, ammocalline, arginins, carosine, campesterol, glutamine, Leurosidine, loganin[7]


- แพงพวยฝรั่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ขับปัสสาวะ ลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเลือด[7]


- ทั้งต้นสกัดได้สารอัลคาลอยด์ Vineristine และ Vinblastine นำมาทำให้บริสุทธิ์ แล้วใช้ในรูปของยาฉีดรักษาคนไข้มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือด เป็นต้น[1]


- นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการแยกสารอัลคาลอยด์และตั้งชื่อว่า Vinblastine และได้นำไปใช้ทดลองกับหนูทดลอง พบว่าสารชนิดนี้มีฤทธิ์ทำให้ปริมาณของเม็ดเลือดขาวลดน้อยลง ต่อมาได้ทำการสกัดและแยกสารอัลคาลอยด์จากพรรณไม้ชนิดนี้ได้ประมาณ 50 ชนิด (อีกข้อมูลบอกว่าพบประมาณ 70 กว่าชนิด เช่น Vincaleukoblastine, Vinblastine, Vinrosidine, Vincristinem Vinleurosine, Rovidine, Leurosivine อีกทั้งยังมี Carosine, Perivinem Perividine, Catharanthine, Vindolie, Vincolidine เป็นต้น[3])ซึ่งในจำนวนนี้จะมีสารอัลคาลอยด์อยู่ด้วยกัน 4 ชนิดที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดโรคได้ คือ Vincristine, Vinblastine, Vinrosidine, Vinleucostine (สารทั้ง 4 ชนิดนี้เป็นสารอัลคาลอยด์ที่มีอยู่ในพวก Dimeric indoleindoline) โดยต้นแพงพวยฝรั่งหนัก 500 กิโลกรัม จะให้สารอัลคาลอยด์ Vincristine เพียง 1 กรัมเท่านั้น โดยสาร Vinblastine ที่นิยมใช้ Vinblasine sulphate ทำเป็นยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือใช้ทำเป็นยารับประทานเพื่อบำบัดรักษาโรคมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง ส่วนสาร Vincristine ที่นิยมใช้ Vincristine sulphate ทำเป็นยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก[2]


- เมื่อนำสาร Vinblastine ที่สกัดได้ไปทดลองกับหนูขาวทดลองที่มีโรคมะเร็งในเม็ดเลือด พบว่าสารดังกล่าวมีฤทธิ์ยับยั้งโรคต่อมน้ำเหลือง P-1534 ของหนูทดลองได้[3]


- น้ำที่ได้จากแพงพวยฝรั่ง เมื่อนำไปให้สุนัขทดลองกินพบว่ามีฤทธิ์สามารถลดความดันโลหิตของสุนัขได้ และยังพบว่ามีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ไม่กระทบกับการเต้นของหัวใจและการหายใจของปอดด้วย[3]


- เมื่อปี ค.ศ. 2004 ในประเทศไทยได้ทำการศึกษาทดลองผลของแพงพวยในการลดไขมันในเลือดสูง โดยทำการทดลองในหนู (Mice) ด้วยการให้สารสกัดจากแพงพวยในขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม สำหรับทดสอบค่าความเป็นพิษ และทดสอบผลการลดความดันโลหิตสูงในแมวที่ให้สารสกัดแพงพวยในขนาด 0.3 กรัมต่อกิโลกรัม และทดสอบผลในการลดไขมันในเลือดในหนูด้วยการให้สารสกัดแพงพวยในขนาด 0.3 กรัมต่อกิโลกรัมเป็นเวลา 3 สัปดาห์ และดูผลในการขับปัสสาวะในขนาด 0.1 กรัม ใช้เวลา 24 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับสาร Furosemide ผลการทดลองสรุปว่าสารสกัดแพงพวยที่ใช้ในรูปยาที่มีชื่อว่า RUVINAT นั้น ได้ผลดีในการลดความดันโลหิตสูง ขับปัสสาวะ และลดไขมันในเลือดสูง[7]


- สมุนไพรแพงพวยฝรั่งมีฤทธิ์ทำให้เม็ดเลือดขาวลดลง เวลานำมาใช้ต้องระวัง[3]


- จากการทดสอบความเป็นพิษด้วยการฉีดสารสกัดจากใบแพงพวยฝรั่งด้วย 95% เอทานอลเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าในขนาดที่ทำให้หนูทดลองตายครึ่งหนึ่งคือ 4 กรัมต่อกิโลกรัม[7]


เอกสารอ้างอิง


1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “แพงพวยฝรั่ง (Phaengphuai Farang)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 202.


2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “แพงพวยบก”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 573-575.


3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “แพงพวย”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 400.


4. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “แพงพวยฝรั่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [09 พ.ค. 2014].


5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “แพงพวยฝรั่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [09 พ.ค. 2014].


6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “Periwinkle madagascar, Periwinkle, Vinca, Old”.  อ้างอิงใน: หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสรและคณะ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [09 พ.ค. 2014].


7. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  “แพงพวยฝรั่ง”.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  หน้า 132-133.

 


อ้างอิง :https://medthai.com/


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://pharmoffice.kku.ac.th/iss/smhcontrol/herb/244