วิจัยใหม่คาดเชื้อดื้อยาคร่าชีวิต 39 ล้านคนภายในปี 2050

07 ต.ค. 2567 10:34:10จำนวนผู้เข้าชม : 234 ครั้ง

 


งานศึกษาใหม่คาดทั่วโลกอาจมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยามากกว่า 39 ล้านคนภายในปี 2050


งานศึกษาวิจัยใหม่ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet ได้ทำการวิเคราะห์แนวโน้มการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อดื้อยา (Superbug) ในช่วงเวลาต่าง ๆ ทั่วโลกครั้งแรก


งานศึกษานี้มีนักวิจัยจากสถาบันต่าง ๆ ทั่วโลกเกี่ยวข้องมากกว่า 500 คน โดยใช้ข้อมูลจาก 204 ประเทศและดินแดน เพื่อประมาณการจำนวนผู้เสียชีวิตตั้งแต่ปี 1990 จนถึงปี 2021 และคาดการณ์ไปจนถึงปี 2050

งานศึกษาคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 ทั่วโลกจะมีผู้ที่เสียชีวิตโดยตรงจากการดื้อยา 1.91 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 1.14 ล้านคนในปี 2021 ขณะที่ผู้ที่เสียชีวิตทางอ้อมจากการดื้อยาจะเพิ่มขึ้นจาก 4.71 ล้านคน เป็นปีละ 8.2 ล้านคน


โมห์เซน นากาวี จากสถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ (IHME) แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า “ยาปฏิชีวนะเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของการรักษาสมัยใหม่ และการดื้อยาที่เพิ่มขึ้นก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความกังวล โดยงานศึกษานี้ย้ำว่า การดื้อยาเป็นภัยคุกคามสำคัญทั่วโลกมาหลายสิบปีและภัยคุกคามนี้ยังรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ”


งานศึกษาพบด้วยว่า การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาในเด็กเล็กลดลงเนื่องจากการฉีดวัคซีนและสุขอนามัยที่ดีขึ้น แต่กลุ่มผู้สูงอายุกลับมีแนวโน้มตรงข้าม


โดยการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ลดลงอย่างมากจาก 488,000 คน เหลือ 193,000 คน ระหว่างปี 1990 ถึงปี 2020 และมีแนวโน้มลดลงอีกครึ่งหนึ่งภายในปี 2050


อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตจากการดื้อยาในกลุ่มอายุอื่นกลับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่มีอัตราการเสียชีวิต 80% ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 146% ภายในปี 2050 จาก 512,353 คน เป็น 1.3 ล้านคน


นพ.โทมิสลาฟ เมสโทรวิช ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนอร์ธในโครเอเชีย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่สถาบัน IHME ระบุว่า แนวโน้มนี้สะท้อนถึงประชากรที่เข้าสู่วัยสูงอายุอย่างรวดเร็ว และการที่ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่า ขณะที่การฉีดวัคซีนจะมีประสิทธิภาพน้อยลงในผู้สูงอายุ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันเสื่อมลงตามวัย และผู้สูงอายุยังมีปฏิกิริยาต่อยาปฏิชีวนะ


งานศึกษาคาดว่า ภูมิภาคที่มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยามากที่สุดในอนาคตคือ ประเทศในแถบเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทวีปแอฟริกาที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮาราลงมา


ทั้งนี้ งานศึกษาได้เสนอแนะว่า การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาสามารถป้องกันได้โดยการป้องกันโรคและการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น รวมถึงการพัฒนายาปฏิชีวนะชนิดใหม่ ๆ


ผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะพบกันที่นครนิวยอร์กในเดือนนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับการดื้อยา ระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ โดยคาดว่าจะมีการตอกย้ำประกาศทางการเมืองเกี่ยวกับการยกระดับความพยายามในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งฝ่ายที่เคลื่อนไหวรณรงค์หวังว่า จะมีการกำหนดเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 10% ภายในปี 2030

 


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/232871