สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
โรคฝีดาษลิง หรือเอ็มพอกซ์ (Mpox) มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลกและมีการประกาศจากองค์การอนามัยโลก ให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับนานาชาติในขณะนี้ นับเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงในวงการสาธารณสุข สำหรับประเทศไทยมีการพบผู้ป่วยฝีดาษลิงครั้งแรกในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 และมีการพบผู้ป่วยติดเชื้อที่เป็น เคลด 1 ครั้งแรกในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อฝีดาษลิง โดยมีข้อมูลผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงสะสมถึงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2567 ระบุว่า มียอดผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงจำนวน 835 คน แบ่งเป็นเพศชาย 814 คน คิดเป็นกว่าร้อยละ 97 และเพศหญิงจำนวน 21 คน คิดเป็นร้อยละ 2.51 นอกจากนี้ พบผู้ติดเชื้ออยู่ในกลุ่มช่วงอายุ 30 – 39 ปี มากที่สุด โดยเมื่อแบ่งกลุ่มผู้ติดเชื้อตามสัญชาติพบว่า เป็นคนไทยจำนวน 749 คน ทั้งนี้ จังหวัดที่มียอดผู้ติดเชื้อมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 466 คน
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะโรงพยาบาลของรัฐและเป็นโรงเรียนแพทย์ ตระหนักถึงความกังวลที่มีต่อการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย และมุ่งสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เข้าใจในแผนการป้องกันและการตั้งรับในสถานการณ์นี้ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ประชาชนตื่นตัว เฝ้าระวัง มีความตระหนักแต่ไม่ควรตื่นตระหนก เพราะตัวโรคไม่ได้ติดต่อจากการหายใจ และสถานการณ์ปัจจุบันในไทยยังไม่ถือว่าเป็นการระบาดรุนแรง
ศ.พญ. ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “โรคฝีดาษลิงเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศในแถบแอฟริกาอยู่แล้ว แม้จะชื่อว่าฝีดาษลิง แต่เป็นโรคที่พบได้ในกลุ่มสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอกและหนู ด้วย โดยสามารถติดต่อได้จากสัตว์สู่สัตว์ สัตว์สู่คน ไปจนถึงคนสู่คน เดิมมีการแพร่ระบาดเฉพาะในทวีปแอฟริกาเท่านั้น แต่ใน พ.ศ. 2565 ฝีดาษลิงได้มีการระบาดไปยัง
ประเทศในแถบยุโรปและอเมริกา จนเกิดเป็นการระบาดทั่วโลกในปัจจุบัน โดยโรคฝีดาษลิงเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับโรคไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษ (smallpox) สามารถแบ่งได้เป็น 2 สายพันธุ์ ได้แก่ เคลด 1 และเคลด 2 โดยเคลด 2บี ซึ่งมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลกใน พ.ศ. 2565 นั้น พบว่าในผู้ติดเชื้อบางรายมีอาการไม่รุนแรง หรือไม่มีอาการเลย รวมทั้งมีอัตราการเสียชีวิตเพียงร้อยละ 0.2 เท่านั้น ขณะที่ผู้ติดเชื้อเคลด 1บี ที่กำลังมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วใน พ.ศ. 2567 นั้นมีอาการรุนแรงกว่า รวมทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น สมองอักเสบ ปอดอักเสบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ”
การติดต่อของโรคฝีดาษลิงจากสัตว์สู่คน มาจากการสัมผัสตุ่มหนอง และสารคัดหลั่งของสัตว์ หรือการสัมผัสพืชที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งของสัตว์ ส่วนช่องทางการติดต่อโรคฝีดาษลิงจากคนสู่คนนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดผ่านการสัมผัสแบบใกล้ชิด การสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือได้รับเชื้อจากละอองฝอยของผู้ติดเชื้อ ด้วยเหตุนี้จึงมักติดต่อระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสผื่นและตุ่มหนองของผู้ติดเชื้อ รวมทั้งการมีพฤติกรรมทางเพศที่สุ่มเสี่ยง เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า แต่ยังไม่พบว่ามีการติดเชื้อผ่านลมหายใจแต่อย่างใด
อาการโดยทั่วไปของผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงเคลด 2บี คือ อาการทางผิวหนัง ปรากฏเป็นรอยโรคที่มีลักษณะเป็นตุ่มประมาณ ร้อยละ 51.5 ของป่วย จะมีรอยโรคประมาณ 2-5 ตุ่ม ซึ่งพัฒนาการของรอยโรคในช่วง 7 วันแรกนั้น จะเริ่มต้นจากรอยแดง ซึ่งจะมีการพัฒนาเป็นตุ่มน้ำใส และหากมีการอักเสบขึ้น ก็กลายเป็นตุ่มหนองที่ในเวลาต่อมาจะแตกเป็นแผลเปิด จากนั้นจึงมีลักษณะเป็นสะเก็ดปกคลุม โดยจะพ้นระยะแพร่เชื้อเมื่อสะเก็ดหลุดและผิวหนังมีเนื้อโตขึ้นมาเต็ม อย่างไรก็ดี เนื่องจากอาการทางผิวหนังเหล่านี้มีลักษณะคล้ายเริม และอีสุกอีใส จึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยการพิจารณาประวัติของผู้ป่วย ตลอดจนการสังเกตอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อ ประกอบกับตำแหน่ง การกระจาย และจำนวนของตุ่ม กล่าวคือ โรคฝีดาษลิงมักพบเป็นกลุ่มของตุ่มที่บริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก และมีจำนวนของตุ่มไม่มากเท่าอีสุกอีใส
“จุดแรกที่จะมีส่วนช่วยในการวินิจฉัย คือ ประวัติของผู้ป่วย เช่น การสัมผัสผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อฝีดาษลิง ส่วนที่ 2 คือ ประวัติการเป็นอีสุกอีใส กล่าวคือ หากเคยมีประวัติก็ไม่ควรที่จะเป็นอีก นอกจากนี้ การมีตุ่มที่อวัยวะเพศก็เป็นหนึ่งในลักษณะจำเพาะที่จะบ่งชี้อาการของโรคฝีดาษลิง เนื่องจากมักจะเป็นจุดรับเชื้อ ซึ่งโรคนี้สามารถวินิจฉัยได้โดยการสวอบ (swab) ที่ตุ่ม เพื่อเก็บตัวอย่างไปส่งตรวจ ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อฝีดาษลิงเคลด 1บี ในเบื้องต้นอาจมีความจำเป็นที่จะต้องมีการกักตัวที่โรงพยาบาล โดยผู้ที่มีประวัติการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยฝีดาษลิง หรือมีประวัติการเดินทางไปในประเทศที่มีความเสี่ยง เช่น กลุ่มประเทศในแถบแอฟริกากลาง มีอาการที่เข้าข่าย เช่น เป็นตุ่มตามร่างกาย มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว สามารถไปตรวจได้ที่โรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ รวมถึงโรงพยาบาลรามาธิบดี ตลอดจนโรงพยาบาลอื่น ๆ บางแห่งในกรุงเทพมหานคร”
เนื่องจากโรคฝีดาษลิงยังคงไม่มียาต้านไวรัสที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ยาที่ใช้ คือ ยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคฝีดาษ การรักษาในปัจจุบันจึงเน้นไปที่การรักษาตามอาการ เพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ของผู้ติดเชื้อ ในส่วนของการรักษาตุ่มนั้น สามารถใช้น้ำเกลือ ยาใส่แผลที่มีไอโอดีน (lodine) ตลอดจนขี้ผึ้งในการใช้ทำแผล นอกจากนี้ ในระยะที่มีหนองไหลออกมาจากแผล ควรใช้น้ำเกลือชุบผ้าก๊อซประคบประมาณ 5 นาที อย่างน้อย 3-5 รอบต่อวัน ที่สำคัญ คือ ผู้ป่วยควรระมัดระวังอย่าให้แผลสกปรก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ไม่ควรแกะหรือเกาแผล และเมื่อสะเก็ดหลุด สามารถปล่อยให้รอยหายไปตามธรรมชาติ ทายารักษารอยดำ รอยแดง อีกทั้งยังสามารถเลเซอร์ลดรอยแผลได้
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อนั้น สามารถทำได้ทั้งก่อนและหลังการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่มีความเสี่ยงโรคฝีดาษลิง โดยควรฉีดภายใน 4 วัน และไม่เกิน 14 วัน ภายหลังการสัมผัส เพื่อช่วยลดโอกาสและความรุนแรงในการติดเชื้อ หากเป็นผู้ที่ถูกจัดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยฝีดาษลิง หรือเดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่กระจาย ค วรที่จะฉีดวัคซีนเพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อ
“การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคฝีดาษลิงแบบก่อนสัมผัสนั้นไม่ได้จำเป็นสำหรับทุกคน แนะนำเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงเท่านั้น หากฉีดครบ 2 เข็ม ระยะเวลาห่างระหว่างเข็มเป็นเวลา 4 สัปดาห์ จะสามารถป้องกันโรคได้ถึงร้อยละ 80-85 และถือว่ามีภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัส หลังจากฉีดเข็มที่ 2 ไปเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ สำหรับคำถามที่ว่า หากเคยมีการปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคฝีดาษในอดีต จำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงอีกครั้งหรือไม่นั้น ซึ่งหากสงสัยว่าอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง แม้จะมีการปลูกฝีมาแล้ว ก็ยังคงแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกัน โดยสามารถลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีนได้ที่สถานเสาวภาและศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ดังนั้น จึงไม่อยากให้ประชาชนตกใจแต่ควรมีการตื่นตัว และเฝ้าระวัง ติดตามข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจต่อเชื้อไวรัสที่ถูกต้อง”
สำหรับผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิง นอกจากจะมีสิทธิการรักษาตามประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิบัตรทอง และสิทธิในการเข้าถึงยาต้านไวรัสหากมีข้อบ่งชี้ของโรค ที่กระทรวงสาธารณสุขจะจัดหาให้แล้วนั้น
“โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้” ชื่อบัญชี มูลนิธิรามาธิบดี ธนาคารกสิกรไทย เลขที่ 879-2-00448-3 ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 026-3-05216-3 ธนาคารกรุงเทพ เลขที่ 090-3-50015-5 หรือบริจาคออนไลน์ https://www.ramafoundation.or.th
สอบถาม โทร. 0 2201 1111
ธนาคารกรุงเทพ เลขที่ 090-3-50015-5 หรือบริจาคออนไลน์ https://www.ramafoundation.or.th สอบถามโทร. 0 2201 1111 มูลนิธิรามาธิบดีฯ ยังมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยโรงพยาบาลรามาธิบดีที่ไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ที่รวมไปถึงผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงด้วยเช่นกัน เพื่อให้ผู้ป่วยเหล่านี้สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมตั้งแต่ค่ารักษาพยาบาลไปจนถึงปัญหารอบด้านของผู้ป่วย อาทิ ปัญหาทางจิตใจ และครอบครัว ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “การให้” ที่ยิ่งใหญ่ ร่วมบริจาคกับมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อเติมความหวัง ขจัดความทุกข์ และคืนชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วยยากไร้
คำว่าให้...ไม่สิ้นสุด