สมาคมสายใยครอบครัวร่วมกับร.พ.ศรีธัญญาและมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทยจัดประชุมวิชาการ “การเสริมพลังและความหวังที่ยั่งยืน”เปิดตัวแอปพลิเคชัน “APPEER”บริการข้อมูลสุขภาพจิต

20 พ.ย. 2563 09:36:27จำนวนผู้เข้าชม : 788 ครั้ง

          สมาคมสายใยครอบครัวจับมือโรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต และมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย จัดงานประชุมวิชาการ 2020 “การเสริมพลังและความหวังที่ยั่งยืน” พร้อมเปิดโลกออนไลน์เดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล เปิดตัวแอปพลิเคชัน “APPEER” ยกระดับบริการด้านจิตเวช ส่งเสริมคนไทย ใส่ใจสุขภาพจิต รู้เท่าทันสุขภาวะของตนเอง
          15 ตุลาคม 2563 ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และ ดร.นพ.นิรุตต์ ประดับญาติ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และรองประธานกรรมการ มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย เป็นประธานร่วมในพิธีเปิดงานประชุมวิชาการ 2020 “การเสริมพลังและความหวังที่ยั่งยืน” Psychosocial Network Conference 2020 Sustainable Empowerment and Hope for the Lived Experience โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมสายใยครอบครัว และมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย เพื่อเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจในการฟื้นฟูสมรรถภาพจากโรคจิตเวช พร้อมกับการเปิดตัวแอปพลิเคชัน “APPEER” เพื่อเพิ่มช่องทางการสื่อสารให้คนไทยได้เข้าถึงบริการและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งคำแนะนำด้านสุขภาพจิตเบื้องต้นได้สะดวก รวดเร็ว ใช้งานง่ายด้วยปลายนิ้ว
          นพ.จุมภฏ กล่าวเปิดงานว่า การฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชของเรามีความก้าวไกลอย่างมาก เกินกว่างานจิตเวชที่ทางโรงพยาบาลจิตเวชคุ้นเคย และดีใจที่เห็นภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือสมาคมสายใยครอบครัว รวมทั้งผู้ใหญ่หลายๆ ท่านที่เกษียณราชการไปแล้วได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช มีภาคเอกชนหลายๆ คนที่มาเป็นจิตอาสาเสียสละอย่างเต็มที่เพื่องานนี้ จนคำว่า “recovery-oriented service” เป็นกำลังขับเคลื่อนหนึ่งที่ทำให้ผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิตกลับคืนสู่สังคมได้อย่างเต็มภาคภูมิ และในภาครัฐซึ่งไม่เฉพาะในกระทรวงสาธารณสุขหรือกรมสุขภาพจิตเท่านั้นที่อยากเห็นภาพอย่างนี้เกิดขึ้นคือ การร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนโดยเฉพาะเรื่องของจิตเวช การป่วยครั้งหนึ่งจะกระทบอีกหลายคนทั้งครอบครัว ทั้งตัวผู้ป่วยจิตเวชเองกับครอบครัวและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งสังคมที่ผู้ป่วยอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากและยังมีคุณค่ามาก ถ้าเราทำให้คนๆ หนึ่งกลับไปอยู่ในครอบครัวและกลับไปอยู่ในสังคมได้ใกล้เคียงกับที่เป็นอยู่เดิม หรือบางคนอาจโชคดีที่อาจจะดีกว่าเดิม

          การจัดการประชุมครั้งนี้นอกจากจะเป็นการแสดงถึงศักยภาพของสมาคมหรือหน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชแล้ว ยังทำให้เห็นถึงผลงานที่ทำมาและทิศทางที่เรากำลังจะก้าวไปข้างหน้าต่อไปกรมสุขภาพจิตในฐานะที่เป็นหน่วยงานดูแลงานด้านสุขภาพจิตในภาครวมของประเทศยินดีและพร้อมจะให้การสนับสนุนทุกอย่าง รวมทั้งพร้อมที่จะเดินไปด้วยกันกับทุกท่านบนเส้นทางที่น่าจะยาวไกล แต่เป็นเส้นทางที่คงจะมีดอกผลและความสำเร็จเกิดขึ้นเป็นระยะๆ เพื่อทำให้เกิดกำลังใจกับผู้ทำงาน เกิดกำลังใจกับเจ้าหน้าที่ และเกิดกำลังใจกับผู้ป่วยและครอบครับต่อไป
          ต้องขอบพระคุณผู้จัดงานครั้งนี้และหวังว่าการประชุมวิชาการในวันนี้ จะเป็นการสร้างฐานความรู้ ความเข้าใจ ความหวัง และเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นจากภาคเอกชน ภาครัฐ หรือจากต่างประเทศ เพื่อที่จะนำองค์ความรู้ใหม่ๆ และนวัตกรรมใหม่ๆ ไปปรับใช้และเกิดประโยชน์สูงสดต่อผู้ป่วย ญาติ คนในครอบครัวและสังคมต่อไป ขอให้การประชุมครั้งนี้บรรลุวัตถุระสงค์ทุกประการ
          รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตเป็นภัยเงียบที่กำลังคุกคามสังคมไทย ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยโรคจิตเวชเพิ่มสูงขึ้น โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัย อาทิ สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความเร่งรีบในการใช้ชีวิต การเรียน การทำงาน ฯลฯส่งผลให้คนไทยเกิดความเครียดวิตกกังวล เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตและการเจ็บป่วย ตามมาด้วยการทำร้ายตนเองและเกิดปัญหาการฆ่าตัวตายในที่สุด โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แม้ขณะนี้การระบาดของโรคในประเทศไทยจะคลี่คลายลงแล้วก็ตาม แต่คนไทยยังเป็นกังวลว่าจะได้รับเชื้อหรือไม่ รวมทั้งยังมีผลพวงจากวิกฤตครั้งนี้ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมในประเทศ ทำให้คนไทยจำนวนมากเกิดความเครียด ความกดดัน และความวิตกกังวลจากการว่างงานและสภาพการเงินฝืดเคือง ซึ่งสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ผลกระทบทางสุขภาพจิต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยต้องให้ความสนใจและตระหนักในเรื่องสุขภาพจิตและโรคจิตเวชให้มากขึ้น
          งานประชุมวิชาการในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรและภาคีเครือข่าย ทั้งสมาคมสายใยครอบครัว โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต และมูลนิธิไพเซอร์ประเทศไทย นับเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการสร้างความรู้ความเข้าใจและการยกระดับมาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวช และผู้มีประสบการณ์ตรงให้ได้รับการเข้าถึงการบริการสุขภาพจิตที่มีคุณภาพ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมได้ พร้อมที่จะคืนสู่สุขภาวะและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อรณรงค์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตอย่างถูกกต้องผ่านทางแอปพลิเคชัน “APPEER” รวมถึงการถ่ายทอดการประชุมครั้งนี้ผ่านระบบ Facebook Live ตอบโจทย์นโยบาย 4.0 สอดรับกับการดำเนินชีวิตแบบใหม่ในยุค New Normal

          ดร.นพ.นิรุตต์ กล่าวว่า มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทยมีความยินดีที่ได้สนับสนุนสมาคมสายใยครอบครัว ร่วมกับโรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิตในการจัดการประชุมวิชาการและการจัดทำแอปพลิเคชัน “APPEER” ที่จะเปิดตัวในวันนี้ ด้วยความตั้งใจที่จะทำให้เป็นแอปพลิเคชันที่ใช้งานได้ง่าย และเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับการสื่อสารเพื่อให้คนไทยในการเข้าถึงบริการและข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งช่วยส่งเสริมให้คนไทยใส่ใจในสุขภาพจิตซึ่งมีความสำคัญอย่างมากเช่นเดียวกับสุขภาพร่างกาย การรู้เท่าทันสุขภาวะของตนเองและคนในครอบครัว รวมถึงคำแนะนำด้านสุขภาพจิตเบื้องต้นที่แอปพลิเคชัน “APPEER” ได้รับการพัฒนาขึ้นมา จะทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพและบริการด้านสุขภาพ รวมถึงการสนับสนุนทางด้านจิตใจได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งวัตถุประสงค์ของการจัดทำแอปพลิเคชัน “APPEER” ที่มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทยร่วมมือกับสมาคมสายใยครอบครัวมีความสอดคล้องกับพันธกิจหลักของมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่ดำเนินการอย่างอิสระภายใต้การสนับสนุนจาก บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยเป็นองค์กรการกุศลที่มุ่งเน้นพันธกิจในการมอบความรู้สู่คุณภาพชีวิตที่ดีมีสมดุล และมีความมุ่งมั่นเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งให้กับคนไทยและสังคมไทย ด้วยการให้ความร่วมมือกับบุคลากร สถาบันการแพทย์ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัยต่างๆ ในการสนับสนุนกิจกรรมด้านการศึกษาเพื่อส่งเสริมการดูแลรักษาสุขภาพ ให้คนไทยมีความรู้ มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
          ทุกวันนี้เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า เรามีชีวิตอยู่ในยุคที่เราต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยต่างๆ ซึ่งบริบทของความเจ็บป่วยในตอนนี้ได้ขยายไปครอบคลุมในหลายมิติ ไม่ใช่แค่เพียงโรคภัยที่มีอยู่เท่านั้นแต่ยังรวมถึงโรคอุบัติใหม่ อย่างในปีที่ผ่านมา เราได้เห็นแล้วว่าสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นวิกฤตทางสาธารณสุขซึ่งไม่ได้เกิดผลกระทบขึ้นแต่เฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยจากโรคอุบัติใหม่นี้โดยตรงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่มีภาวะความเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ อยู่แต่เดิมรวมทั้งยังนำไปสู่การถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จากผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นเราจะเห็นได้ว่า ความเจ็บป่วยทางกายหรือแม้แต่ความเจ็บป่วยทางใจ ไม่ได้เพียงแค่ส่งผลต่อเรื่องของร่างกายและจิตใจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสังคมและวิถีชีวิตของทุกคนอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
          การที่เราสามารถมีเครื่องมือหรือมีความร่วมมือที่จะทำให้เรารู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มีความสามารถในการประเมินสุขภาพจิตของตนเองและคนรอบข้างในเบื้องต้น รวมถึงมีช่องทางในการที่จะทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวแสวงหาความช่วยเหลือในเบื้องต้นได้ จะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมร่วมกันได้ ซึ่งเราเชื่อว่า แอปพลิเคชัน “APPEER” นี้จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยรณรงค์เผยแพร่ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและนำข้อมูลสุขภาพในรูปแบบดิจิตอลไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายและสะดวก รวมถึงรู้เท่าทันสุขภาวะของตนเอง ตอบโจทย์วิถีชีวิต New normal ได้ด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล ช่วยให้เข้าถึงผู้เชี่ยวชาญ เข้าถึงผู้ที่มีความรู้ และได้รับการสนับสนุนให้ก้าวผ่านความท้าทายทางด้านสุขภาวะที่แต่ละคนมีอยู่ได้
          มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมวิชาการในวันนี้และการเปิดตัวแอปพลิเคชัน “APPEER” ครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ตรงตามเจตนารมณ์ของการจัดทำและประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการประชุมวิชาการทุกประการ
          นางสาวเพียรชนันท์ ลีอุดมวงษ์ นายกสมาคมสายใยครอบครัว กล่าวถึงบทบาทของสมาคมสายใยครอบครัวว่า ภารกิจหลักของสมาคมตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง คือ การมุ่งมั่นเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคจิตเวชและการคืนสู่สุขภาวะให้กับผู้มีประสบการณ์ตรง ผู้ดูแล บุคลากรวิชาชีพ และสาธารณชน ผ่านหลักสูตรสายใยครอบครัว หลักสูตรพัฒนาสุขภาวะ ตลอดจนการทำงานเพื่อผู้ที่อยู่กับโรคจิตเวชร่วมกับองค์การต่างๆ และการเป็นปากเป็นเสียง รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ป่วย ให้ตระหนักถึงการดำเนินชีวิตที่มีความหมายและเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งหวังให้ผู้ป่วยจิตเวชได้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถคืนสู่สุขภาวะและตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง ผสานกับการเสริมพลังและความหวังให้ผู้ป่วยจิตเวชและผู้ดูแลมีคุณภาพชีวิตที่ดี
          ทางสมาคมได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน “APPEER” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันออนไลน์ มีฟังก์ชั่นที่สามารถใช้งานได้ง่าย ผู้ใช้งานสามารถใช้แพลตฟอร์มนี้เป็นสื่อกลางในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ด้านการคืนสู่สุขภาวะ การบริการสุขภาพจิตแนวใหม่ที่มีการพัฒนาระบบ Peer Support และการแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตของผู้มีประสบการณ์ตรง ซึ่งเป็นความรู้ในรูปของการคืนสู่สุขภาวะส่วนบุคคล (Personal recovery) ผู้ใช้แอปพลิเคชันนี้สามารถเข้าถึงระบบการให้คำปรึกษาแบบ Peer Counceling และแลกเปลี่ยนประเด็นทางสุขภาพจิตกับผู้เชี่ยวชาญได้โดยตรง ผ่านโปรแกรมนัดพบเพื่อนหนุนใจที่จะให้คำปรึกษาข้อแนะนำต่างๆ และเชื่อมโยงสู่แหล่งสนับสนุนเพื่อคืนสู่สุขภาวะส่วนบุคคล หรือสามารถฝากคำถามไว้ รวมทั้งมีแบบประเมินตนเองเบื้องต้น ซึ่งระบบจะประเมินผลให้อัตโนมัติโดยใช้เวลาไม่นาน
          นอกจากนี้ยังรวบรวมข่าวสาร กิจกรรมความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เป็นประโยชน์จากสมาคม บทความสุขภาพจิตออนไลน์ รวมทั้งสื่อสุขภาพจิตที่น่าสนใจ และยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างเสริมอาชีพ พัฒนารายได้แก่ผู้ป่วยจิตเวชอีกด้วย ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “APPEER” ได้ฟรี สำหรับระบบปฏิบัติการ iOS สามารถดาวน์โหลดได้จาก App Store โดยค้นหาคำว่า “Appeer” ส่วนระบบปฏิบัติการ Android ดาวน์โหลดได้จาก Play Store โดยค้นหาคำว่า “Appeer” เช่นเดียวกัน