สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
อธิบดีกรมการแพทย์ เผยกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ เดินหน้าบริการ "การแพทย์วิถีใหม่" ปรับปรุงห้องผ่าตัดความดันลบ สำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การแพร่กระจายเชื้อทางอากาศในสถานพยาบาลเป็นปัญหาสำคัญทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วโลก ยิ่งในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันการติดเชื้อสำหรับผู้ป่วยและบุคลากร โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความจำเป็นจะต้องเข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาล เช่น เข้ารับการผ่าตัด ดังนั้น เพื่อให้เกิดการบริหารทรัพยากรทางสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ กรมการแพทย์จึงได้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรการแพทย์จากภาครัฐและเอกชน กลาโหม มหาวิทยาลัย จึงได้จัดทำ “แนวทางการปรับปรุงห้องผ่าตัดความดันลบ (Modify Negative Pressure Operating Room) สำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในสถานการณ์ฉุกเฉิน” ให้สามารถจัดบริการผ่าตัดแก่ผู้สงสัยว่าติดเชื้อและผู้ป่วย อันนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลรักษา เกิดความปลอดภัยของผู้ป่วย แพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์
ซึ่งกรณีผู้ป่วยติดเชื้อที่ยืนยันผลการตรวจแล้ว และจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเป็นกรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน แพทย์จะพิจารณาให้ใช้ห้องผ่าตัดความดันลบ หรือ negative pressure โดยจะต้องมีการควบคุมมาตรฐาน อุปกรณ์ รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เช่น การทำ Air balance เพื่อควบคุมความดันของห้องต่าง ๆ ทิศทางการไหลของอากาศ ทั้งภายในห้องผ่าตัดและห้องใกล้เคียง ระบบทางเดินแยกเพื่อไปห้องชำระล้างเชื้อโรคทั้งก่อนและหลังผ่าตัด รวมทั้งจำกัดจำนวนแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่ทำการผ่าตัดให้น้อยที่สุด และจะต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันตามมาตรฐาน เช่น ชุด PPE หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยจะมีการทำความสะอาดห้องและเครื่องมือทางการแพทย์ทุกครั้ง รวมทั้งผู้มารับบริการที่โรงพยาบาลต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ ได้ดำเนินการเป็นต้นแบบในโรงพยาบาลในสังกัด เช่น โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และได้ขยายไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ตามภูมิภาคในลำดับต่อไป
อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนารูปแบบระบบบริการทางการแพทย์วิถีใหม่ มุ่งให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและสามารถปรับตัวให้เข้ากับฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ในช่วงที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคโควิด-19 รวมทั้งพัฒนาการให้บริการของโรงพยาบาลด้วยการนำระบบบริหารจัดการการให้บริการทางการแพทย์ (Model Implementation) ตั้งแต่การคัดกรอง จัดคิวผู้มารับบริการ เพื่อลดความแออัด รวมถึงการให้บริการห้องผ่าตัด ห้องฉุกเฉิน ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงาน ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด