ตรวจสอบผลข้างเคียงและความเสี่ยงวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก

Minseo Jeong, medicalnewstoday

หลังจากวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวม 13 รายการ ได้รับอนุญาตให้ใช้ในแบบฉุกเฉินในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ได้ปรากฏรายงานผลข้างเคียงจากการใช้ออกมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากวัคซีนเป็นอาวุธสำคัญที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้กับโรคไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งแพร่ระบาดและคุกคามประชากรทั่วโลกมากว่า 1 ปีแล้ว ชนิดและผลข้างเคียงของวัคซีนจึงเป็นประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญที่ประเทศต่าง ๆ ต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักถึงผลดี-ผลเสียในการให้วัคซีนกับประชาชน
    จากวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้แบบฉุกเฉินรวม 13 ชนิด ได้มีการสรุปรายงานผลข้างเคียงที่พบจากการใช้ในประเทศต่าง ๆ  ตลอดจนนำเสนอความรู้ความเข้าใจในเรื่องของความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง โดยนักวิจัยยังคงเดินหน้าตรวจสอบต่อไป
วัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในปัจจุบัน
    ตารางข้างล่างแสดงภาพรวมของวัคซีนทั้ง 13 รายการ แยกตามชนิดการทำงาน รวมทั้งประสิทธิศักย์ (efficacy) หรือการให้ผลสำเร็จของวัคซีน

ผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป
          วัคซีนช่วยให้ร่างกายผลิตภูมิคุ้มกันด้วยการกระตุ้น T cell และ B cell ซึ่งเป็นเซลล์ที่จะจดจำไวรัสเป้าหมายและสร้างแอนติบอดีเพื่อต่อสู้กับไวรัสตามลำดับ
          วัคซีนนี้จะไม่สามารถก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ได้ ไม่มีวัคซีนชนิดใดบรรจุไวรัสที่สมบูรณ์แบบอันเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย
          ขณะที่ร่างกายของผู้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน โดยปกติแล้วผู้รับวัคซีนจะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้เล็กน้อย  และตามข้อมูลของ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ผลข้างเคียงที่พบทั่วไปของวัคซีนโควิด-19 ได้แก่ อาการเป็นไข้  เหนื่อย ปวดศีรษะ ปวดร่างกาย อาการหนาว และคลื่นเหียน
          ผู้รับวัคซีนอาจจะมีผลข้างเคียงตรงแถวบริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งโดยปกติคือ แขนส่วนบน  ผลข้างเคียงเหล่านี้อาจเป็นอาการบวม ปวด แดง มีผื่นคัน และอาการอื่น ๆ ที่ก่อความรำคาญเล็ก ๆ น้อย ๆ
          หน่วยงานในระบบสุขภาพตระหนักว่า วัคซีนโควิด-19 แต่ละชนิดจากทั้ง 13 ชนิด ทำให้เกิดผลข้างเคียงได้  ซึ่งโดยทั่วไปมักจะเป็นอาการเล็กน้อยและมีอาการอยู่เพียง 2-3 วันเท่านั้น ไม่ได้เกินกว่าที่คาดไว้
          หน่วยให้บริการวัคซีนทุกแห่งในสหรัฐอเมริกาต้องรายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังจากฉีดวัคซีนแล้ว ให้กับระบบรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีน (Vaccine Adverse Event Reporting System:  VAERS) ของรัฐบาล
          องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) และหน่วยงานกำกับอื่น ๆ จะติดตามตรวจสอบ VAERS เพื่อวิเคราะห์ความปลอดภัยของวัคซีนที่ใช้ในสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด
          ในประเทศอื่น ๆ มีระบบตรวจสอบในแบบเดียวกัน เช่น ในสหราชอาณาจักรมีระบบ Yellow Card  สหภาพยุโรปจะขอให้ประชาชนส่งข้อมูลผลข้างเคียงที่สงสัยให้กับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพหรือกรอกแบบฟอร์มทางออนไลน์
ปฏิกิริยาแพ้ และ anaphylaxis
           มีน้อยมากที่พบว่าผู้รับการฉีดวัคซีนแล้วมีปฏิกิริยาแพ้ต่อส่วนประกอบในวัคซีนตั้งแต่ 1 ชนิดขึ้นไป ผู้รับวัคซีนอาจจะเกิดลมพิษ (hives) หรือผื่นผิวหนังชนิดอื่น มีอาการบวม และอาการของทางเดินหายใจ
           อาการแพ้ชนิดรุนแรง (anaphylaxis) จะครอบคลุมถึงความดันโลหิตต่ำ คลื่นเหียน และการหายใจลำบาก และอาการอื่น ๆ
           Anaphylaxis เป็นผลข้างเคียงของการให้วัคซีนที่พบได้น้อยมาก  ตามรายงานของ CDC พบประมาณ 2-5 คนต่อ 1 ล้าน หรือน้อยกว่าร้อยละ 0.001 ของประชากรที่ได้รับวัคซีนในสหรัฐอเมริกามีอาการ anaphylaxis หลังจากนั้น
          ปฏิกิริยาแพ้ต่อวัคซีน mRNA เป็นผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดความกังวลโดยเฉพาะ เพราะวัคซีนชนิดนี้มีสารเคมีที่เรียกว่า polyethylene glycol (PEG) ซึ่งไม่เคยใช้ในวัคซีนที่ได้รับความเห็นชอบมาก่อน สาร PEG อยู่ในยาหลายชนิดซึ่งมักจะก่อให้เกิด anaphylaxis ในบางครั้ง   ในวัคซีนเหล่านี้จะใช้สารนี้เคลือบโมเลกุล mRNA และช่วยให้โมเลกุลผ่านทะลุเข้าไปในเซลล์ได้
          มีความกังวลในทำนองเดียวกันสำหรับวัคซีน Janssen ซึ่งบรรจุ polysorbate 80 สารเคมีที่มีโครงสร้างสัมพันธ์กับ PEG
          การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปฏิกิริยาการแพ้ต่อวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ระบุว่า คนส่วนใหญ่ที่มีอาการ anaphylaxis หลังจากฉีดวัคซีนมีประวัติของอาการแพ้และ anaphylaxis มาก่อน

          ข้อมูลจากรายงานแสดงว่า มีความเสี่ยงต่ำมากต่อการเกิด anaphylaxis จากการได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA  ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  CDC ให้ข้อแนะนำว่า ผู้บริหารวัคซีนควรดำเนินการคัดกรองอาการแพ้ที่เกี่ยวข้องก่อน  วัคซีนเหล่านี้มีความปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ทั่ว ๆ ไป เช่น การแพ้อาหาร สัตว์เลี้ยง สิ่งแวดล้อม น้ำยางและยารับประทาน
          CDC ยังแนะนำว่า ผู้ที่มีปฏิกิริยาแพ้ต่อวัคซีน 1 โดส ไม่ควรให้รับวัคซีนชนิดเดียวกันในโดสที่ 2
ความถี่ของผลข้างเคียงในผู้หญิง
          มักจะมีรายงานผลข้างเคียงในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย จากการศึกษาโดยคณะผู้วิจัยของ CDC แสดงว่า ร้อยละ 78.7 ของรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ได้รับระหว่างเดือนแรกของการฉีดวัคซีนในสหรัฐอเมริกาเกิดกับผู้หญิง
          การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งสังเกตพบว่า จากผู้ที่มีอาการ anaphylaxis หลังฉีดวัคซีน 16 คน เป็นผู้หญิง 15 คน
          การค้นพบทั้งหลายที่กล่าวมาสอดคล้องกับการศึกษาในปี 2013 ว่าด้วยวัคซีน H1N1 ระหว่างการแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่ปี 2009 ซึ่งพบว่า ภาวะภูมิไวเกิน (hypersensitivity reactions) ในกลุ่มผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์มีอัตราที่สูงกว่ากลุ่มอื่นในประชากรที่ดำเนินการศึกษา
          ฮอร์โมนการเจริญพันธุ์ ได้แก่ เอสโตรเจนและเทสโทสเตอโรน อาจมีบทบาทต่อความแตกต่างระหว่างเพศ  ซึ่งจากการศึกษาในหนูทดลองแสดงว่า เอสโตรเจนทำให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีมากขึ้น ส่งผลให้การตอบสนองของภูมิคุ้มกันสูงขึ้น
ผลข้างเคียงที่เป็นไปได้ในวัคซีนแต่ละชนิด
          เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข้อกังวลขึ้นมาใหม่เกี่ยวกับผลข้างเคียงที่รุนแรงของวัคซีนโควิด-19 ผลข้างเคียงเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้พร้อมกัน และปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานข้อสรุปเพียงพอที่จะเชื่อมโยงผลดังกล่าวกับวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่กำกับควบคุมกำลังดำเนินมาตรการเฝ้าระวังเพื่อตรวจสอบปัญหาความปลอดภัยต่าง ๆ อยู่

Pfizer-BioNTech และ Moderna
          ทั้งวัคซีนของ Pfizer-BioNTech และ Moderna เป็นวัคซีน mRNA แบบฉีด 2 โดส ผู้รับวัคซีนได้รายงานผลข้างเคียงที่เหมือนกันหลังจากได้รับการฉีดเข็มที่  2 แล้ว
          วัคซีนโควิด-19 ทั้ง 2 ชนิด เป็นวัคซีนชนิดแรกที่ได้รับความเห็นชอบให้ใช้ในมนุษย์  เป็นวัคซีนที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยี mRNA ดังนั้น จึงมีความกังวลเกี่ยวกับผลในระยะยาวและความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงข้อมูลพันธุกรรมของร่างกาย
          ประชาชนโดยทั่วไปอาจไม่ทราบว่า นักวิจัยได้ใช้เวลาหลายปีในการศึกษาศักยภาพของเทคโนโลยีวัคซีน mRNA  โดยในอดีตได้มีความพยายามที่จะพัฒนาวัคซีน mRNA หลายชนิด รวมทั้งการทดลองวัคซีนไวรัสซิก้า mRNA จากมนุษย์ของ Moderna เป็นต้น
          ยิ่งกว่านั้น เป็นไปไม่ได้ที่วัคซีน mRNA จะสามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลพันธุกรรมได้  mRNA ในวัคซีนไม่ได้เข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์ ซึ่งเก็บดีเอ็นเออยู่ และ mRNA จะเสื่อมลงค่อนข้างเร็วในร่างกายหลังจากได้ทำหน้าที่บรรลุจุดประสงค์แล้ว
          แต่หลายคนตกใจกับรายงานจากประเทศนอร์เวย์ว่า มีคนเสียชีวิต 23 คน ไม่นานหลังจากได้รับวัคซีนของ Pfizer-BioNTech  อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานว่าการเสียชีวิตดังกล่าวเป็นผลโดยตรงจากวัคซีนนี้
          “มีความเป็นไปได้ที่ปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์เหล่านี้ (ซึ่งไม่เป็นอันตรายกับผู้ป่วยที่มีสมรรถภาพร่างกายดีกว่า อายุน้อยกว่า และไม่พบภาวะผิดปกติจากการรับวัคซีน) อาจทำให้โรคที่เป็นอยู่แล้วในผู้สูงอายุย่ำแย่ลง” Dr. Steinar Madsen ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ที่ Norwegian Medicines Agency กล่าว
          “ขณะนี้เราขอให้แพทย์ฉีดวัคซีนต่อไป แต่ให้ดำเนินการประเมินเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่ป่วยหนักซึ่งวัคซีนอาจส่งผลให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลง” เขากล่าวเพิ่มเติม
          การเสียชีวิตอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์กับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ(thrombocytopenia) และจนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ 20 คน หลังจากได้รับวัคซีนของ Pfizer หรือ Moderna อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแสดงเหตุผลที่เชื่อมความสัมพันธ์ของกรณีเหล่านี้กับวัคซีน
          ยังมีปัญหาน่ากังวลอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการเจริญพันธุ์  ตามแถลงการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2564 จาก American College of Obstetricians and Gynecologists, American Society for Reproductive Medicine และ Society for Maternal-Fetal Medicine ระบุว่า
          “แม้จะไม่มีการศึกษาเรื่องการเจริญพันธุ์ในการทดลองทางคลินิกของวัคซีน แต่ไม่มีรายงานการสูญเสียภาวะเจริญพันธุ์ในผู้เข้าร่วมการทดลองหรือในประชากรหลายล้านคนที่ได้รับวัคซีนตั้งแต่ได้รับอนุมัติให้ใช้วัคซีน และไม่พบสัญญาณของภาวะมีบุตรยาก (infertility) ในการศึกษากับสัตว์ทดลอง  การสูญเสียการเจริญพันธุ์นั้นเป็นไปไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์"
         ในคำแถลงข่าวต่อมาของเดือนเดียวกัน Pfizer กับ BioNTech ประกาศว่า ได้เริ่มทดลองทางคลินิกกับวัคซีนโควิด-19 ในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่สุขภาพดี  4,000 คน เพื่อสำรวจผลสำเร็จและความปลอดภัยสำหรับผู้เข้าร่วมการศึกษาและบุตร  โดยหวังว่าผลการศึกษาจะช่วยให้มีความเข้าใจมากขึ้น
Janssen (Johnson & Johnson)
         วัคซีนของ Janssen มีผลข้างเคียงที่พบทั่วไปเช่นเดียวกับวัคซีนอื่น  เอกสารข้อมูลผลิตภัณฑ์ของวัคซีนได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อควรระวังล่วงหน้าในการใช้และผลที่คาดว่าจะได้รับ
Oxford-AstraZeneca และ Serum Institute of India
         เมื่อเร็ว ๆ นี้ The European Medicines Agency (EMA) และ Danish Health Authority ได้สังเกตพบว่า มีอุบัติการณ์ของลิ่มเลือดเกิดขึ้นหลังจากให้วัคซีน Oxford-AstraZeneca
         จากประชากร 5 ล้านคน ที่ได้รับวัคซีนนี้ มีรายงานกรณีเกิดลิ่มเลือด 30 คน โดยมีกรณีหนึ่งในประเทศเดนมาร์กที่ตามมาด้วยการเสียชีวิต
         18 มีนาคม 2021  EMA สรุปว่า วัคซีนของ Oxford-AstraZeneca ปลอดภัยและไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงโดยรวมของการเกิดลิ่มเลือด  และได้ชี้ว่าอุบัติการณ์ของลิ่มเลือดในประชากรที่ได้รับวัคซีนมีอัตราต่ำกว่าในประชากรทั่วไป
         EMA ยอมรับว่า กรณีของ thrombocytopenia ซึ่งช่วยสนับสนุนให้เกิดการก่อตัวของลิ่มเลือดหลังการฉีดวัคซีนนั้น มีพบได้น้อยมาก และเวลานี้กำลังรวบรวมกรณีนี้เข้าไว้ในข้อมูลผลิตภัณฑ์วัคซีน แต่ได้เน้นว่ายังขาดหลักฐานเชิงเหตุและผล และย้ำว่าประโยชน์ของการฉีดวัคซีนยังมีน้ำหนักมากกว่าความเสี่ยง
         หลายประเทศ รวมทั้งเดนมาร์ก นอร์เวย์ เยอรมนี และฝรั่งเศส ได้หยุดกระจายวัคซีนนี้ชั่วคราว เพื่อตอบสนองต่อรายงานในตอนแรกเกี่ยวกับการเกิดลิ่มเลือดด้วยการระมัดระวัง หลายประเทศวางแผนที่จะกลับมาใช้วัคซีนนี้ และมีความกังวลว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะชะลอกำหนดเวลาของการกระจายวัคซีนทั่วทั้งยุโรป

         Covishield ของ Serum Institute of India เป็นวัคซีนที่ผลิตในประเทศอินเดียของ  Oxford-AstraZeneca  อินเดียไม่มีรายงานอุบัติการณ์ของการเกิดลิ่มเลือดที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ Covishield และไม่มีแผนที่จะหยุดการกระจายวัคซีน
CanSino and Gamaleya
        ทั้งวัคซีน CanSino และ Gamaleya ใช้ adenovirus type-5 (Ad5) เป็นพาหะนำส่ง  งานวิจัยที่ผู้เชี่ยวชาญได้ทบทวนแล้วเกี่ยวกับการทดลองวัคซีนทั้ง 2 พบว่า วัคซีนก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่พบทั่วไป ไม่มีวัคซีนใดที่ก่ออาการรุนแรง
        อย่างไรก็ตาม คณะทำงานซึ่ง Dr. Juliana McElrath ผู้อำนวยการ Vaccine and Infectious Disease Division แห่ง Fred Hutchinson Cancer Research Center ทำงานอยู่ด้วย ได้ยกข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้ Ad5 ในวัคซีนโควิด-19 ขึ้นมา
        โดยการศึกษาในปี 2008 พบว่า วัคซีน Ad5 HIV-1 มีความเชื่อมโยงกับโอกาสที่จะติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้น  การศึกษาที่ดำเนินการต่อมาอีกหลายชิ้นพบผลลัพธ์ที่สนับสนุนการเชื่อมโยงดังกล่าวเช่นเดียวกัน
        คณะผู้วิจัยได้แนะนำแนวทางที่ต้องระมัดระวังสำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ Ad5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเอชไอวีและโรคเอดส์
Bharat Biotech
        ข้อมูลที่เผยแพร่จากการทดลอง Covaxin เฟส 1 และ 2 ของ Bharat Biotech แสดงว่า ไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง  หรือมิฉะนั้นข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อผลอันไม่พึงประสงค์ยังมีน้อยมากสำหรับวัคซีนนี้
Sinopharm: ปักกิ่งและอู่ฮั่น
        Sinopharm ได้ผลิตวัคซีน 2 ชนิด โดยพัฒนาร่วมกับ Institute of Biological Products ในกรุงปักกิ่งและเมืองอู่ฮั่นตามลำดับ
        ข้อมูลของการทดลองในเฟส 1 และ 2 ที่เผยแพร่ออกมาสำหรับวัคซีน BBIBP-CorV และ inactivated Vero cell แสดงว่า ผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่เป็นผลข้างเคียงที่พบทั่วไปและวัคซีนทั้ง 2 ไม่มีผลร้ายแรงใด ๆ
Sinovac
        ข้อมูลการทดลองเฟส 1 และ 2 สำหรับวัคซีน CoronaVac แสดงว่า ไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงใด ๆ
        ที่น่าสนใจ คือ ผู้เขียนรายงานพบรายงานอาการไข้ในกลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษาที่ได้รับวัคซีนนี้น้อยกว่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer-BioNTech, Oxford-AstraZeneca หรือ CanSino
Anhui Zhifei Longcom
        ปัจจุบันไม่มีข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญได้ทบทวนแล้วเผยแพร่ออกสู่สาธารณะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประสิทธิศักย์ของวัคซีน dimeric receptor-binding domain หรือ RBD-dimer  รายงานที่ตีพิมพ์ออกมาก่อนกล่าวว่า ไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงในระหว่างการทดลอง
FBRI
        EpiVacCorona เป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดที่ 2 ของรัสเซียที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว และการทดลองเพื่อดูความปลอดภัยและผลของวัคซีนกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ
        Tatyana Golikova รองนายกรัฐมนตรีของรัสเซีย กล่าวว่า “ไม่เหมือนกับวัคซีนชนิดแรกของรัสเซีย คือ Sputnik V ซึ่งเป็น vector vaccine ที่ผลิตจาก adenovirus  วัคซีนชนิดใหม่นี้ประกอบด้วยส่วนที่สั้นของไวรัลโปรตีน เปปไทด์ ที่สังเคราะห์ด้วยการประดิษฐ์ ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันจะเรียนรู้และในภายหลังจะรู้จักและ neutralize ไวรัส  immune system learns and subsequently recognizes and neutralizes the virus”
ควรฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่
        การบำบัดป้องกันทางการแพทย์ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตามล้วนมีความเสี่ยง แต่ในหลายกรณี ความเสี่ยงนี้มีน้ำหนักน้อยกว่าประโยชน์ที่ได้รับ  CDC แนะนำให้ประชาชนรับการฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ยกเว้นเฉพาะในสถานการณ์ที่พิเศษจริง ๆ
        การได้รับวัคซีนไม่ได้รับประกันการป้องกันโควิด-19 ได้ทั้งหมด ประชาชนต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำต่าง ๆ ต่อไป ทั้งการรักษาระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกสู่สาธารณะ และล้างมือบ่อย ๆ
        ในขณะนี้ยังมีวัคซีนโควิด-19 อีกมากกว่า 50 ชนิด อยู่ในการทดลองทางคลินิกเฟส 1-3  และมีการรายงานความคืบหน้าใหม่ ๆ อยู่ทุกวัน โดยที่ผู้คนทั่วโลกได้มองไปในอนาคตด้วยความหวังและหลายคนมองไปไกลเกินกว่าการระบาดของโควิด-19 แล้ว

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญไทย: ยืนยันวัคซีนเป็นอาวุธสำคัญสู้โควิด
         รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ กล่าวถึงผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19 ว่า ในฐานะกุมารแพทย์ 40 กว่าปี เกี่ยวข้องกับวัคซีนมาตลอดชีวิต ยืนยันว่าวัคซีนเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับเชื้อโรคที่ผ่านการนำวัคซีนมาใช้ ต้องผ่านการวิจัย 5 – 10 ปี สำหรับวัคซีนโควิด-19 มีการวิจัยเพียง 10 เดือน และได้รับอนุมัติให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉิน ต้องเฝ้าระวัง 1 วัน 7 วัน 30 วัน หลังการฉีด  ถึงแม้ในขณะใดก็ตามที่ผู้ป่วยโควิดลดลง ยังจะต้องฉีดวัคซีนโควิดต่อไป เพราะต้องสร้างภูมิคุ้มกันโรคนี้ให้กับประชาชน ที่เรียก “ภูมิคุ้มกันหมู่” เพื่อให้ประชาชนปลอดภัย โดยคาดว่าโรคโควิดจะต้องอยู่กับเราอีกยาวนาน  ขณะนี้ไทยมีวัคซีน 2 ชนิด คือ ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า ส่วนชนิดอื่น ๆ อาจจะตามเข้ามา ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีคณะผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบก่อนอนุมัติใช้ในไทยต่อไป
          สำหรับวัคซีนซิโนแวค จากข้อมูลการวิจัยในประเทศบราซิล พบว่า 14 วัน หลังฉีดเข็มแรก สามารถป้องกันโรคได้เกือบร้อยละ 50 และเมื่อฉีดเข็มที่ 2 ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นเป็นเกือบร้อยละ 60  ซึ่งเป็นอัตรายอมรับได้  ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า จากการศึกษาพบว่า เมื่อฉีดเข็มแรกครบ 3 สัปดาห์ จะเริ่มป้องกันโรคได้ และเมื่อครบ 12 สัปดาห์ หลังเข็มแรกจะป้องกันโรคได้ถึงร้อยละ 70 ทั้ง 2 ชนิดนี้จึงไม่แตกต่างกันมากและอยู่ในเกณฑ์ที่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยยอมรับว่ามีประสิทธิภาพที่ดี      
          ส่วนการใช้ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้หรือไม่ วัคซีนทั้ง 2 ชนิด สามารถรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ได้ โดยการศึกษาวิจัยในจีน ได้นำเชื้อและน้ำเหลืองของผู้ที่ได้รับการฉีดซิโนแวค เปรียบเทียบกับผู้ที่หายป่วยแล้ว พบว่าสามารถจัดการกับเชื้อได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ดีเท่าเชื้อดั้งเดิม ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษได้ถึงร้อยละ 70  และป้องกันเชื้อดั้งเดิมได้ร้อยละ 84  สำหรับวัคซีนที่จดทะเบียนทั่วโลกและทำในระยะที่ 3 เสร็จแล้ว 13-15 ชนิด ซึ่งกำลังใช้ในประเทศต่าง ๆ  ทุกชนิดมีประสิทธิภาพคล้ายกัน คือ ป้องกันการเสียชีวิต ป้องกันโรครุนแรง ไม่ต้องเข้าไอซียู ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ได้เกือบร้อยละ 100  อันเป็นหัวใจของวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับโรคที่รุนแรงมาก ๆ  เนื่องจากผู้ป่วยที่อยู่ในไอซียู 1 คน จะใช้ทรัพยากรบุคลากรและยามหาศาล
          ในด้านความปลอดภัยของวัคซีน พบว่า วัคซีนซิโนแวคมีผลข้างเคียงน้อยกว่าแอสตร้าเซนเนก้า โดยพบประมาณร้อยละ 20-30 เช่น อาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อยตามตัว ซึ่งหายได้ภายใน 2 วัน ส่วนที่พบผลข้างเคียงเมื่อเร็ว ๆ นี้ในโรงพยาบาล 2 แห่ง มีอาการคล้ายอัมพฤกษ์นั้น คณะผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์พบว่าเป็นผลข้างเคียงจากความวิตกกังวล ส่งผลให้เกิดอาการทางกายคล้ายหลอดเลือดตีบได้ ซึ่งทุกคนหายเป็นปกติภายใน 1-3 วัน และผลการสแกนสมองปกติ ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า ผลข้างเคียงชนิดไม่รุนแรงจะคล้ายกับซิโนแวค พบประมาณร้อยละ 40-50 และหายภายใน 48 ชั่วโมง ส่วนการเกิดลิ่มเลือดอุดตันนั้น พบได้น้อยในคนเอเชีย ส่วนใหญ่พบในชาวยุโรป แอฟริกา ในผู้ป่วยเบาหวาน โรคหัวใจ สูบบุหรี่จัด จะเกิดลิ่มเลือดได้ง่าย มีรายงานในต่างประเทศพบการเกิดลิ่มเลือดประมาณ 4 คน ในล้านโดส แต่หากป่วยเป็นโควิด มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดประมาณ 125,000 ต่อล้านคน ที่ป่วยเป็นโควิด และในคนสูบบุหรี่จัด พบ 1,700 ต่อ 1 ล้านคน ที่สูบบุหรี่จัด  ทั้งนี้ จากรายงานการฉีดวัคซีนล้านกว่าคนในประเทศไทย พบการแพ้วัคซีนรุนแรง(anaphylaxis) เพียง 7-8 คน ไม่มีเสียชีวิต และมักเกิดในช่วง 30 นาที หลังฉีดวัคซีน ซึ่งอยู่ในระยะสังเกตอาการ แพทย์สามารถช่วยเหลือได้ทัน ส่วนคนที่แพ้อาหารทะเล ถั่ว หรือเป็นโรคภูมิแพ้ สามารถฉีดได้ เพราะวัคซีนไม่ได้ทำจากสัตว์ ยกเว้นผู้ที่เคยแพ้วัคซีนต้องปรึกษาแพทย์
          สรุปการรับวัคซีนโควิดมีประโยชน์ในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อตัวผู้ฉีดเอง ป้องกันตัวเอง รวมทั้งป้องกันครอบครัว และป้องกันชุมชนสังคมด้วย  เมื่อเทียบประโยชน์กับโทษแล้ว จะเห็นว่ามีประโยชน์มากกว่าโทษอย่างมาก ทางการแพทย์จึงแนะนำอย่างยิ่งให้ฉีดวัคซีน  
          “ส่วนจะเลือกฉีดชนิดไหน ขอตอบว่าชนิดไหนก็ใช้ได้ดีทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ก่อนฉีดต้องรับข้อมูลให้พร้อม  สิ่งสำคัญที่สุด คือ ในการฉีดวัคซีน คนที่ฉีดจะป้องกันตัวเองได้ ป้องกันคนในครอบครัวได้ เพราะการระบาดระลอกนี้ คนวัยหนุ่มสาวติดเชื้อกันมาก และนำเชื้อไปสู่เด็กกับผู้สูงอายุ โดยคนที่มีโรคประจำตัวอาจเสียชีวิตได้ รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคอ้วน มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 หรือน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม ซึ่งความสามารถของปอดในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนจะน้อยลง”
          “การฉีดวัคซีน เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการต่อสู้กับโรคนี้ ช่วยควบคุมการระบาดได้ เราจะมีโอกาสดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น รับประทานข้าวนอกบ้าน ไปไหนมาไหนสะดวกใจได้ยิ่งขึ้น เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป”

          ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงและอาการไม่พึงประสงค์ว่า แม้การฉีดวัคซีนโควิด-10 จะมีผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์บ้าง แต่พบไม่มากเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่คนไทยทุกคนจะได้รับ เนื่องจากขณะนี้ทางการแพทย์ได้ทราบถึงกลไกผลข้างเคียงและสามารถรักษาได้ อย่างกรณีของวัคซีนซิโนแวค ซึ่งแนวทางของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า ให้พิจารณาส่วนของอาการ ISRR หรือ imminozation stress related reaction เป็นปฏิกิริยาความเครียดจากการรับวัคซีน แต่ต้องไม่ลืมวินิจฉัยอาการที่เป็นภาวะจริงที่มีผลต่อระบบประสาทด้วย และต้องการการดูแลรวมทั้งการติดต่อกลับไปยังบริษัทผู้ผลิต
         “ผู้เชี่ยวชาญที่จังหวัดลำปางถึงกับต้องทำการสอดสายแล้วฉีดสีเข้าเส้นเลือดสมอง angiogram และให้ยาขยายหลอดเลือดเฉพาะที่ หรือกรณีของจังหวัดระยอง และทางโรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชาใช้ thrombolysis 6 คน ซึ่งแสดงชัดเจนว่าเข้าเกณฑ์ของ stroke ภาวะเส้นเลือดสมองผิดปกติเฉียบพลัน และที่สุรินทร์อีก 17 คน มีอาการปวดศีรษะและชาครึ่งซีก รวมทั่งที่อุบลราชธานีและขอนแก่นมีอาการแขนขาอ่อนแรงค่อนข้างมาก โดยที่ ร.พ.สุรินทร์พบว่า ในกรณีของผู้หญิงซึ่งส่วนมากอายุน้อย อาจมีความเกี่ยวข้องกับระยะที่มีประจำเดือนและภายในช่วงก่อนและหลังที่มีประจำเดือนประมาณ 7 วัน  ดังนั้น กรณีวัคซีนซิโนแวค จึงควรหลีกเลี่ยงในผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือน เพราะอาจมีส่วนมาจากฮอร์โมนได้”
          แต่ผู้ได้รับผลแทรกซ้อนเหล่านี้ทั้งหมดอยู่ในมือของผู้เชี่ยวชาญทางสมอง (neurologist) ในการวินิจฉัย การติดตาม และการรักษา ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดหลังจากฉีดวัคซีน 24 ชั่วโมง สำหรับอาการชาที่ปาก หน้า และแขนข้างเดียวกัน หรือครึ่งซีกของร่างกาย เมื่อได้รับยาขยายเส้นเลือดในปริมาณน้อย จะมีอาการปวดศีรษะหลังจากรับประทาน 2 นาที และเป็นอยู่ 5 นาที จากการที่เส้นเลือดขยายตัวจากฤทธิ์ยา แต่อาการชาดีขึ้นอย่างชัดเจน
         ส่วนในกรณีของแอสตร้าเซนเนก้า มักเกิดผลข้างเคียงในคนอายุน้อยกว่า 60 ปี โดยมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำและแดงในตำแหน่งที่ไม่พบบ่อย เช่น ในท้องและในสมอง แต่รักษาได้
         “ดังนั้น แม้จะมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น แต่เป็นอาการที่รักษาได้ และเมื่อเทียบกับประโยชน์ย่อมมีมากกว่า จึงจำเป็นต้องเร่งรีบฉีดวัคซีนโควิดให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุดสำหรับคนไทยทั้งประเทศ”
         ทั้งนี้ สำหรับแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข กำลังเร่งดำเนินการตามแผนการบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ สำหรับประชาชน 5 กลุ่ม โดยระยะแรกได้เริ่มฉีดแล้วในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 1.2 ล้านคน และบุคลากรอื่น ๆ ด่านหน้าอีก 1.8 ล้านคน ทั้ง 2 กลุ่มนี้จะได้รับวัคซีนครบในเดือน พ.ค. 2564  ส่วนระยะที่ 2 เปิดให้กลุ่มผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค รวม 4.3 ล้านคน ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดระหว่างการรักษา โรคเบาหวาน และโรคอ้วน และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.7 ล้านคน ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนทาง LINE Official Account V.2 "หมอพร้อม" หรือแอปพลิเคชัน "หมอพร้อม"  ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. และเริ่มฉีดวัคซีนในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 สำหรับคนที่ไม่มีเครื่องมือสื่อสารหรือไม่สามารถเข้าถึงได้สามารถลงทะเบียนที่โรงพยาบาลที่รักษาตัว สถานพยาบาลใกล้บ้าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร (อสส.) หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)  และกลุ่มสุดท้ายระยะที่ 3 เป็นประชาชนอายุ 18-59 ปี จำนวน 31 ล้านคน จะเริ่มเปิดจองฉีดวัคซีนวันที่ 1 ก.ค. และเริ่มฉีดวัคซีน ส.ค. 2564