กรมวิทย์พบ 4 สายพันธุ์ย่อยของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์เดลตาในไทย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานการพบสายพันธุ์ย่อยของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เดลตาในประเทศไทย จำนวน 4 ชนิด และมีผู้ติดเชื้อเดลตาสายพันธุ์ย่อยนี้แล้วอย่างน้อย 7 คน โดยอธิบายว่า การพบสายพันธุ์ย่อยของไวรัสเป็นเรื่องปกติเมื่อมีการระบาดในวงกว้าง แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง และยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าจะส่งผลต่อการดื้อต่อวัคซีนมากกว่าสายพันธุ์หลักหรือไม่
                  นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยในการแถลงข่าวเพื่อรายงานผลการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิด-19 ว่าขณะนี้พบเชื้อสายพันธุ์เดลตาในทุกจังหวัดของไทยแล้ว ดังนั้น ถือว่าเดลตาเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศ
               จากการตรวจสายพันธุ์ไวรัสโคโรนา จำนวน 2,295 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-20 ส.ค. โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า 92.9% เป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ส่วนสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) พบเพียง 5.8% และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) 1.3%
               นพ. ศุภกิจกล่าวว่า การติดเชื้อสายพันธุ์เบตายังจำกัดพื้นที่อยู่เฉพาะในภาคใต้ส่วนล่าง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ติดกับประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 14-20 ส.ค. พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้เกือบ 30 ราย ได้แก่ นราธิวาส 15 ราย กระบี่ 5 ราย ปัตตานี 4 ราย สงขลา 3 ราย ภูเก็ต 2 ราย
                อธิบดีกรมการแพทย์ระบุว่า เนื่องจากสายพันธุ์เบตาไม่ได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หากสามารถควบคุมโรคได้ดีก็มีความเป็นไปได้ว่าสายพันธุ์นี้อาจจะหายไปจากประเทศไทยได้  ล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบสายพันธุ์ย่อย (subtype) ของสายพันธุ์เดลตาในประเทศไทย  ซึ่งการพบสายพันธุ์ย่อยเช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศอื่น ๆ ที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในวงกว้าง

                 ศ. เกียรติคุณ ดร. วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล อธิบายเพิ่มเติมว่า จากฐานข้อมูลของ GISIAD ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่และไวรัสโคโรนาของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก พบว่า เชื้อสายพันธุ์เดลตามีการกลายพันธุ์กว่า 60 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับเชื้อสายพันธุ์อู่ฮั่นดั้งเดิม เป็นเครื่องบ่งชี้ว่ามีการแพร่จากคนสู่คนออกไปจำนวนมาก  สำหรับเชื้อเดลตาสายพันธุ์หลักนั้นมีชื่อรหัสว่า B1.617.2 และมีสายพันธุ์ย่อยเรียกสั้น ๆ ว่า AY.1-AY.22 ในประเทศไทยพบทั้งสายพันธุ์เดลตาหลักและสายพันธุ์ย่อย 4 สายพันธุ์ ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้ "เป็นลูกหลานของสายพันธุ์ซึ่งมีอยู่แล้วในประเทศไทย" ดังนี้
                สายพันธุ์หลัก B1.617.2 พบ 71%
                สายพันธุ์ย่อย AY.4 หรือ B1.617.2.4 พบ 3 % คือ 4 คน ใน จ.ปทุมธานี
                สายพันธุ์ย่อย AY.6 หรือ B1.617.2.6 พบ 1 คน
                สายพันธุ์ย่อย AY.10 หรือ B1.617.2.10 พบ 1 คน
                สายพันธุ์ย่อย AY.12 หรือ B1.617.2.12 พบ 1 คน
                ศ. เกียรติคุณ ดร. วสันต์ระบุว่า ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังเดลตาสายพันธุ์ย่อย AY.4 มากที่สุด เนื่องจากพบค่อนข้างมาก คือ 4 ราย
"ถ้าเรามีสายพันธุ์ลักษณะแบบนี้เพิ่มจำนวนอยู่ในท้องถิ่นแล้วอันนี้ก็ต้องระมัดระวังว่าถ้ามันขยายตัวไปมาก  ๆ จะเกิดอะไรขึ้น" ดร. วสันต์ให้ความเห็นและระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมากพอที่จะสรุปว่าสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้ส่งผลต่อการดื้อต่อวัคซีนมากหรือน้อยกว่าสายพันธุ์หลักหรือไม่