วันเบาหวานโลก 2021 ครบรอบ 100 ปีค้นพบอินซูลิน

โรคเบาหวานเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่รุนแรงที่สุดในโลก ขณะเดียวกันก็เป็นหนึ่งในปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของทั่วโลก นอกจากนี้ สถานการณ์โรคเบาหวานในทั่วโลกยังมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วย ขณะที่อินซูลินที่มีการค้นพบและพัฒนาขึ้นมาใช้กันเป็นครั้งแรกเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ยังคงเป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในยุทธศาสตร์ของการรักษาโรคเบาหวาน
          เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation) หรือ IDF ได้นำเสนอข้อมูลสำคัญๆ เกี่ยวกับสถานการณ์เบาหวานของโลกที่หยิบยกมาจาก IDF Diabetes Atlas 10th edition ซึ่งมีกำหนดจะเผยแพร่ทางออนไลน์ (https://diabetesatlas.org) ในวันที่ 6 ธันวาคม 2564 โดยพบว่ามากกว่า 90% ของผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 และในปี ค.ศ.2021 นี้ มีประชาชนอายุ 20-79 ปีที่เป็นเบาหวานอยู่ถึง 537 ล้านคนทั่วโลก หรือเพิ่มขึ้นถึง 16% (74 ล้านคน) จากตัวเลขประมาณการของ IDF ก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ.2019 และคาดว่าจำนวนผู้ป่วยเบาหวานอายุ 20-79 ปีทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นไปถึง 643 ล้านคนในปี ค.ศ.2030 หรือปี พ.ศ.2573 และเพิ่มขึ้นไปถึง 784 ล้านคนในปี ค.ศ.2045 หรือปี พ.ศ.2588 โดยมากกว่า 4 ใน 5 ของผู้ป่วยเบาหวานอายุ 20-79 ปีทั่วโลก (ประมาณ 81%) อาศัยอยู่ในประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำถึงปานกลาง
          ขณะเดียวกันพบว่าในปี ค.ศ.2021 เบาหวานเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนทั่วโลก 6.7 ล้านคน หรือมีประชาชนทั่วโลกเสียชีวิตเนื่องจากเบาหวาน 1 รายในทุกๆ 5 วินาที นอกจากนี้ เบาหวานยังก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของทั่วโลกคิดเป็นมูลค่าอย่างน้อยถึง 966 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 316% ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งในปี ค.ศ.2021 มีประชาชนอายุ 20-79 ปีที่มีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารผิดปกติ หรือ impaired glucose tolerance (IGT) อยู่ถึง 541 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งทำให้ประชาชนทั่วโลกเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
          โดยภูมิภาค Western Pacific ของโลกเป็นภูมิภาคที่มีความชุกของโรคเบาหวานสูงที่สุด คือมีประชาชนอายุ 250-79 ปีที่เป็นเบาหวานในปี ค.ศ.2021 อยู่ถึง 206 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 260 ล้านคนในปี ค.ศ.2045 หรือเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 27% รองลงไปเป็นภูมิภาค South East Asia ที่ในปี ค.ศ.2021 มีประชาชนอายุ 20-79 ปีที่เป็นเบาหวานอยู่ถึง 90 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 152 ล้านคนในปี ค.ศ.2045 หรือเพิ่มขึ้นถึง 68% ส่วนอันดับสามคือภูมิภาค Middle East และ North Africa ในปี ค.ศ.2021 มีประชาชนอายุ 20-79 ปีที่เป็นเบาหวานอยู่ถึง 73 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 136 ล้านคนในปี ค.ศ.2045 หรือเพิ่มขึ้นถึง 87%
          นอกจากนี้ยังพบว่าครึ่งหนึ่งของประชาชนอายุ 20-79 ปีทั่วโลกที่กำลังมีชีวิตอยู่กับโรคเบาหวาน ไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคเบาหวาน และพบว่ามีถึง 1 ใน 2 ของผู้ป่วยเบาหวานอายุ 20-79 ปีทั่วโลกในปัจจุบันที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาเบาหวานโดยอินซูลินที่จำเป็นต้องได้รับ
          ขณะที่เมื่อเดือนเมษายน 2564 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) หรือ WHO ได้ออกรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์เบาหวานทั่วโลก พบว่าจำนวนผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากประมาณ 108 ล้านคนในปี ค.ศ.1980 เป็น 422 ล้านคนในปี ค.ศ.2014 โดยในบรรดาประเทศทั่วโลกที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำถึงปานกลาง มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยเบาหวานมากกว่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง โดยเบาหวานเป็นสาเหตุสำคัญตาบอด ไตวาย โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจและการถูกตัดขา
          ขณะเดียวกัน ในรายงานล่าสุดดังกล่าวเกี่ยวกับเบาหวานของ WHO ยังพบว่าการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรทั่วโลกจากโรคเบาหวาน เพิ่มขึ้นถึง 5% ในระหว่างปี ค.ศ.2000 ถึงปี ค.ศ.2016 และมีตัวเลขประมาณการว่าการเสียชีวิตของประชากรราวๆ 1.5 ล้านคนทั่วโลกในปี ค.ศ.2019 มีสาเหตุโดยตรงจากโรคเบาหวาน
          ก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคม 2563 WHO ได้นำเสนอรายงานเกี่ยวกับสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตและทุพลภาพของประชากรทั่วโลกในปี ค.ศ.2000-2019 พบว่าการเสียชีวิตจากโรคเบาหวานทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 70% โดยเฉพาะเพิ่มขึ้นถึง 80% ในหมู่ประชากรโลกที่เป็นเพศชาย
          สำหรับวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) ประจำปี ค.ศ.2021 สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติได้กำหนดหัวข้อรณรงค์วันเบาหวานโลกสำหรับปี ค.ศ.2021-2023 คือ ACCESS TO DIABETES CARE: IF NOT NOW, WHEN? นั่นก็คือการเข้าถึงการดูแลโรคเบาหวาน ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ แล้วจะต้องเมื่อไร ทั้งนี้เพราะปัจจุบันถึงแม้จะมีทั้งอินซูลิน ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทานและยาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดฉีด มากมายหลายกลุ่มๆ ละหลายตัว แต่กลับพบว่าประชาชนทั่วโลกจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงอินซูลินและยาที่จำเป็นสำหรับการรักษาเบาหวาน ดังนั้น IDF จึงใช้หัวข้อรณรงค์วันเบาหวานโลกดังกล่าวเพื่อสร้างความตระหนักและเรียกร้องให้ภาครัฐของทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะบรรดาประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง กำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ทางสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการดูแลโรคเบาหวาน ซึ่งรวมถึงการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน การวินิจฉัยอย่างทันท่วงที และการรักษาเบาหวานด้วยอินซูลินหรือยาตามความเหมาะสม ได้อย่างทั่วถึงกันถ้วนหน้า
          เกี่ยวกับโรคเบาหวานและวันเบาหวานโลกในปีนี้ นับเป็นโอกาสที่จะต้องกล่าวถึงครบรอบ 100 ปีของการค้นพบและสกัดฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนของสุนัขทดลองได้สำเร็จเป็นครั้งแรกโดยนายแพทย์ Frederick Grant Banting ศัลยแพทย์แห่งมหาวิทยาลัย University of Toronto ในแคนาดาและผู้ช่วยของเขาคือนักศึกษาแพทย์ Charles Herbert Best ในเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ.1921 ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ยิ่งใหญ่ที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานจำนวนมากทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน
          อนึ่ง ก่อนที่จะมีการค้นพบอินซูลิน คนที่ป่วยเป็นเบาหวานมักมีชีวิตได้ไม่นานนัก ขณะที่แพทย์ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนักในการช่วยเหลือผู้ป่วยเบาหวาน โดยการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดก็คือควบคุมการรับประทานอาหารของผู้ป่วยในแต่ละวันด้วยการจำกัดการบริโภคคาร์โบไฮเดรตอย่างเข้มงวด

          การค้นคว้าวิจัยของนายแพทย์ Banting และ Charles Best ผู้ช่วยของเขา เกี่ยวกับฮอร์โมนอินซูลินที่สกัดจากตับอ่อนของสุนัขทดลอง ได้รับการสนับสนุนทั้งด้านสถานที่และองค์ความรู้เรื่อง carbohydrate metabolism จากศาสตราจารย์ John James Rickard Macleod ซึ่งเป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของมหาวิทยา Toronto ในขณะนั้น ซึ่งช่วยให้งานวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับฮอร์โมนอินซูลินที่สกัดได้จากตับอ่อนของสุนัขทดลอง มีความคืบหน้าในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงความสำเร็จในการทำให้ฮอร์โมนอินซูลินที่สกัดได้จากตับอ่อนของสุนัขทดลองมีความบริสุทธิ์มากพอที่จะนำไปทดลองใช้ในมนุษย์ในเวลาต่อมา
          หลังจากนายแพทย์ Banting และคณะประสบความสำเร็จในการสกัดฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนของสุนัขทดลองแล้วนำไปฉีดให้กับสุนัขทดลองที่ถูกผ่าตัดเอาตับอ่อนออก ซึ่งช่วยให้สุนัขที่ถูกผ่าตัดเอาตับอ่อนออกสามารถมีระดับน้ำตาลในเลือดที่ลดลงเป็นปกติและสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้นานพอสมควร ในที่สุดในเดือนมกราคมปี ค.ศ.1922 เด็กชาย Leonard Thompson อายุ 14 ปีที่ป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงคือ diabetic ketoacidosis หรือภาวะเลือดเป็นกรดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเนื่องจากขาดอินซูลิน ก็กลายเป็นผู้ป่วยเบาหวานรายแรกของโลกที่ได้รับการรักษาด้วยการฉีดอินซูลินที่พัฒนาขึ้นมาโดยนายแพทย์ Banting และคณะ
          ในปี ค.ศ.1923 นายแพทย์ Banting และศาสตราจารย์ John James Rickard Macleod ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ (Nobel Prize) ร่วมกันเนื่องจากความสำเร็จในการค้นพบอินซูลิน โดยทั้งคู่ได้มอบเงินรางวัลส่วนหนึ่งให้กับทีมงานทุกคน ซึ่งรวมถึง Charles Best ผู้ช่วยที่แข็งขันของนายแพทย์ Banting โดยในปี ค.ศ.1923 เช่นเดียวกัน บริษัท Eli Lilly ในสหรัฐอเมริกา ได้กลายเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อินซูลินเชิงพาณิชย์รายแรกของโลกภายใต้ชื่อทางการค้าว่า Iletin ซึ่งเป็นอินซูลินที่สกัดจากตับอ่อนของหมู
          ในปี ค.ศ.1936 นายแพทย์ Hans Christian Hagedorn ชาวเดนมาร์ก ค้นพบว่าสาร protamine ซึ่งเป็นโปรตีนพื้นฐานที่สกัดได้จากอสุจิของปลาเทราท์ สามารถเพิ่มระยะเวลาในการออกฤทธิ์ของอินซูลินให้นานขึ้นได้ จึงมีการผสมสาร protamine เข้ากับอินซูลิน ซึ่งเป็นที่มาของอินซูลิน NPH (neutral protamine Hagedorn หรือ human isophane insulin ต่อมาในปี ค.ศ.1955 Frederick Sanger นักชีวเคมีชาวอังกฤษ ค้นพบลำดับกรดอะมิโนหรือโปรตีนที่เป็นโครงสร้างของอินซูลิน ซึ่งเป็นที่มาของพัฒนาการที่มีก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นของอินซูลินมาจนถึงปัจจุบัน จากเดิมที่สกัดฮอร์โมนอินซูลินได้จากตับอ่อนของสัตว์ มาเป็นฮอร์โมนอินซูลินที่สกัดจากตับอ่อนของคน และในที่สุดก็เป็นยุคของ biosynthetic human insulin โดยอาศัยเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม (genetic engineering)
          ในเดือนตุลาคมปี ค.ศ.1982 สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration) หรือ FDA ให้การรับรอง Humulin ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ human insulin ตัวแรกที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับรักษาเบาหวาน ด้วยการใช้ recombinant DNA technology
          สำหรับเบาหวานในสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19 จากรายงานเรื่อง Managing People with Diabetes during the COVID-19 Pandemic ของ WHO ที่เผยแพร่ออกมาในเดือนมิถุนายน 2564 ระบุว่าคนที่เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงสูงกว่าคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน กับการที่อาจจะมีอาการรุนแรงมากขึ้นหรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ที่เป็นสาเหตุของโรค COVID-19 ยกตัวอย่าง มีบางการศึกษาที่พบว่าราวๆ 20% ของผู้ป่วยที่ต้องเข้านอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากติดเชื้อ SARS-CoV-2 มีเบาหวานอยู่ด้วย และประมาณ 26% ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรค COVID-19 มีเบาหวานอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อมูลไม่มากพอที่จะบ่งชี้ได้ว่าคนที่เป็นเบาหวานและ/หรือมีภาวะอ้วนลงพุง มีโอกาสที่จะเชื้อ SARS-CoV-2 ได้มากกว่าคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวานและ/หรือไม่ได้มีภาวะอ้วนลงพุง หรือไม่อย่างไร



แหล่งที่มาของข้อมูล: www.idf.org, https://worlddiabetesday.org, https://diabetesatlas.org, www.who.int, https://insulin100.utoronto.ca, www.si.mahidol.ac.th