WHO เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชื่นชมไทยควบคุมวัณโรคชัดเจน

WHO เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชื่มชมไทยควบคุมวัณโรคโดดเด่นและชัดเจน ส่งผลให้หลุดจากกลุ่มประเทศที่มีภาระวัณโรคดื้อยาหลายชนิดสูง โดยไทยชู 3 กลยุทธ์หลัก คือ การค้นหาเชิงรุกเเละเพิ่มการเข้าถึงการรักษาในประชากรกลุ่มเสี่ยง ประกาศวัณโรคดื้อยาให้เป็นโรคติดต่ออันตรายของประเทศไทย เเละเร่งตรวจวินิจฉัยในกลุ่มเสี่ยงผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย หวังเจอเร็วรักษาเร็ว
          นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีเเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เเละ พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรค เข้าร่วมประชุมทางไกลในการประชุมผู้นำระดับสูง ด้านการตอบโต้วัณโรคระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (High-Level Meeting for Renewed TB Response in the WHO South-East Asia Region) และประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO SEARO) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรวมพลังในการยุติวัณโรคในช่วงการระบาดของโรคโควิด- 19

          นพ.โอภาสกล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีเเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวเเถลงการณ์ในนามผู้เเทนของประเทศไทย โดยเน้นถึง 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประการที่ 1 คือ การค้นหาเชิงรุกเเละเพิ่มการเข้าถึงการรักษาในประชากรกลุ่มเสี่ยง อาทิ แรงงานข้ามชาติ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ต้องขัง ประการที่ 2 คือ ให้ความสำคัญกับการตรวจจับเเละรักษาวัณโรคดื้อยา โดยประกาศให้วัณโรคเป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่สถานพยาบาลทุกแห่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญและดำเนินการตามแนวทางการรักษา เเละประการที่ 3 คือ ขยายขอบเขตการวินิจฉัยและการรักษาการติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค อาทิ เด็กเเละผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพื่อให้เข้ารับการรักษาได้โดยเร็วหากมีการติดเชื้อ
          ด้าน ดร.พูนาม เคตราปาล ซิงห์ (Dr.Poonam Khetrapal Singh) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO-SEARO) ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยเเละเนปาลที่มีการควบคุมวัณโรคที่โดดเด่น มีระบบเเละแผนงานที่ชัดเจนจนทำให้หลุดออกจากกลุ่มประเทศที่มีภาระวัณโรคดื้อยาหลายชนิดสูงได้ เเละได้กล่าวเป็นกำลังใจให้ทุกหน่วยงานทำงานอย่างปลอดภัย ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด- 19 เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการยุติวัณโรคภายในปี 2573