รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค เป็นวันแรก ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครองและตามดุลยพินิจของกุมารแพทย์ ส่วนเด็กที่ไม่มีโรคประจำตัวจะฉีดที่โรงเรียนเป็นลำดับถัดไป เผยไฟเซอร์เตรียมทยอยส่งวัคซีนเพิ่ม คาดได้ครบ 10 ล้านโดส เร็วขึ้น
วันนี้ (31 มกราคม 2565) ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย และ นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ตรวจเยี่ยมการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 กลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค เป็นวันแรก
นายอนุทินกล่าวว่า ขณะนี้วัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ให้ฉีดในเด็กอายุ 5-11 ปี คือ วัคซีนของไฟเซอร์ ที่ผลิตสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี โดยเฉพาะ เป็นขวดฝาสีส้ม จัดส่งลอตแรก 3 แสนโดส ผ่านการตรวจรับรองรุ่นการผลิตจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว จะส่งไปยังจุดฉีดวัคซีนทั่วประเทศต่อไป เบื้องต้นจะฉีดในเด็กอายุ 5-11 ปี ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคก่อน เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ดำเนินการในสถานพยาบาล ภายใต้ความสมัครใจของผู้ปกครองและการพิจารณาของกุมารแพทย์ผู้ดูแล โดยวันนี้เริ่มฉีดให้กับเด็กอายุ 5 – 11 ปี ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ณ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีเป็นแห่งแรก ส่วนการฉีดในเด็กอายุ 5-11 ปีทั่วไป จะใช้ระบบโรงเรียนเป็นฐาน ไล่เรียงตามลำดับชั้นจากประถมศึกษา 6 ลงไป เหมือนที่เคยดำเนินการในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษามาก่อน ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนจะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 และสามารถกลับสู่ระบบการศึกษาที่โรงเรียน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นพัฒนาการและทักษะทางสังคมต่อไป
ทั้งนี้ เป็นการฉีดครั้งแรกหลังได้รับวัคซีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งประเทศไทยสั่งวัคซีนสูตรเด็ก 10 ล้านโดส เดิมจะเข้ามาสัปดาห์ละ 3 แสนโดส ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จึงส่งครบ แต่ผู้บริหารของไฟเซอร์แจ้งว่ายินดีทยอยส่งวัคซีนให้มากขึ้น โดยขอตรวจสอบในระบบก่อนเพื่อแก้ไขสัญญากับกรมควบคุมโรค คาดว่าจะทำให้ได้รับวัคซีนครบเร็วขึ้น ได้ให้กรมควบคุมโรคเร่งประสานงาน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการแพทย์ กรมอนามัย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีนในเด็ก อย่างไรก็ตาม ขอให้ความมั่นใจต่อพ่อแม่ผู้ปกครองว่า วัคซีนมีมาตรฐานและความปลอดภัย อาการข้างเคียงอาจเกิดขึ้นได้ แต่ไม่อันตราย หากสามารถฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรทุกช่วงวัยได้มากขึ้น ประเทศก็จะปลอดภัยเพิ่มขึ้น
ด้าน นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 ในทุกช่วงวัย ที่ผ่านมากลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ยังไม่มีวัคซีนที่ผ่านการขึ้นทะเบียนมาก่อน แต่เมื่อมีวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ฉีดในกลุ่มอายุ 5-11 ปีได้ และมีการนำเข้าวัคซีนมาแล้ว จึงดำเนินการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคก่อน เพราะแม้การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กส่วนใหญ่จะไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย แต่เด็กที่มีโรคประจำตัวจะมีความเสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ในเด็กอายุ 5-11 ปี ได้แก่ 1.โรคอ้วน ที่มีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น 2.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง 3.โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง 4.โรคไตวายเรื้อรัง 5.โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ 6.โรคเบาหวาน และ 7.กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า ทั้งนี้ ประเทศไทยมีเด็กอายุ 5 -11 ปี ประมาณ 5.8 ล้านคน จำนวนนี้อยู่ใน 7 กลุ่มโรค ประมาณ 9 แสนคน และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีดูแลผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้ประมาณ 4 พันคน ซึ่งการฉีดวัคซีนในวันนี้มีเด็กที่ผู้ปกครองสมัครใจให้เข้ารับวัคซีนทั้งสิ้น 100 คน โดยจะฉีดวัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็ก 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 3-12 สัปดาห์ ตามดุลยพินิจของกุมารแพทย์ โดยพิจารณาจากประวัติ อาการ และข้อควรระวังต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด