www.thelancet.com, www.healthdata.org, www.healio.com, www.sciencedaily.com: ข้อมูลจาก Global Burden of Diseases, Injuries and Risk Factors Study หรือ GBD ที่เป็น most comprehensive worldwide observational epidemiological study เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งได้รับการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของวารสาร Lancet Public Health เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2022 แสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม (dementia) ทั่วโลก อาจจะเพิ่มขึ้นถึง 166% จากประมาณ 57.4 ล้านคน ในปี 2019 ขึ้นไปเป็น 152.8 ล้านคน ในปี 2050
GBD 2019 Dementia Forecasting Collaborators ซึ่งเป็นคณะผู้วิจัยของ GBD คาดการณ์ว่า โดยรวมแล้วจะมีเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมเกิดขึ้นน้อยที่สุดในประเทศที่มีรายได้สูงของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และยุโรปตะวันตก กล่าวคือ 53% และ 74% ตามลำดับ แต่จะมีเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมเกิดขึ้นมากที่สุดในประเทศต่าง ๆ ของภูมิภาคแอฟริกาเหนือและแอฟริกาตอนใต้ฝั่งตะวันออกของทะเลทรายซาฮารา และภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวคือ 357% และ 367% ตามลำดับ
ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา คณะผู้วิจัยคาดการณ์ว่าอาจจะมีจำนวนผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นถึง 100% ในหมู่ชาวอเมริกัน โดยเพิ่มขึ้นจากราว ๆ 5.3 ล้านคน ในปี 2019 ขึ้นไป ถึงราวๆ 10.5 ล้านคน ในปี 2050 โดยเมื่อ 3 ปีก่อนหน้านี้ Alzheimer’s Association ประมาณการว่า หากปราศจากความก้าวหน้าเกี่ยวกับยาที่ใช้ในการป้องกัน ชะลอและรักษาโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นภาวะสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุด ภายในปี 2050 จะมีจำนวนผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมชนิด Alzheimer’s disease เพิ่มขึ้นถึงราว ๆ 13.8 ล้านคน ในสหรัฐอเมริกา
ขณะเดียวกัน ในข้อมูลใหม่ล่าสุดจาก GBD ในส่วนของโรคสมองเสื่อม มีประมาณการว่าผู้หญิงจะยังคงครองความเป็นประชากรส่วนใหญ่ของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมในทั่วโลก โดยในปี 2019 มีสัดส่วนของจำนวนผู้หญิงที่มีภาวะสมองเสื่อมต่อจำนวนผู้ชายที่มีภาวะสมองเสื่อมอยู่ที่ 100 ต่อ 69 และในปี 2050 คาดการณ์ว่า สัดส่วนของจำนวนผู้หญิงที่มีภาวะสมองเสื่อมจะมากกว่าจำนวนผู้ชายที่มีภาวะสมองเสื่อม กล่าวคือ 100 ต่อ 67
ข้อมูลประมาณการใหม่ดังกล่าวมีที่มาจากความชุกของภาวะสมองเสื่อมที่สัมพันธ์กับดัชนีมวลกาย (body mass index หรือ BMI), การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง (high fasting plasma glucose) และการสูบบุหรี่ ตั้งแต่ปี 2019 ไปจนถึงปี 2050 ใน 195 ประเทศทั่วโลก ซึ่งข้อมูลนี้คณะผู้วิจัยสืบค้นผ่าน PubMed ในวันที่ 23 ตุลาคม ปี 2020 หลายเดือนก่อนที่สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration หรือ FDA) จะให้การรับรองยาตัวใหม่ นั่นก็คือ Aduhelm (aducanumab) สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งนับเป็นยาใหม่ตัวแรกที่ได้รับการรับรองจาก FDA นับตั้งแต่ปี 2003
อนึ่ง เมื่อเดือนกันยายน ปี 2021 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ได้ออกรายงานเรื่อง Global status report on the public health response to dementia โดยประมาณการว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีจำนวนผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมอยู่กว่า 55 ล้านคน (8.1% ของผู้หญิงและ 5.4% ของผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 65 ปี) และคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 78 ล้านคน ในปี 2030 และเพิ่มขึ้นไปถึงราว ๆ 139 ล้านคน ในปี 2050