ดื่มกาแฟอาจลดความเสี่ยงของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

https://obgyn.onlinelibrary.wiley.com, www.healio.com: ผลของการศึกษาแบบ meta-analysis การศึกษาหนึ่งที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของวารสาร Journal of Obstetrics and Gynaecology Research เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 แสดงให้เห็นว่า การบริโภคกาแฟอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
          การศึกษาดังกล่าวดำเนินการโดยแพทย์หญิง Yu Gao (ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาของโรงพยาบาล Liangxiang Hospital กรุงปักกิ่ง  และภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาของโรงพยาบาล Peking Union Medical College Hospital กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน) และคณะ โดยเป็นการศึกษาแบบ meta-analysis จาก 24 การศึกษาแบบ observational studies ที่ได้จากการสืบค้น MEDLINE and EMBASE databases (ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนกรกฎาคม 2018) ซึ่งประกอบด้วย 12 case–control และ 12 prospective cohort studies โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มกาแฟและความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
          โดยใน 12 case-control studies มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก 4,022 คน จากผู้ป่วยจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 19,829 คน ขณะที่ใน 12 prospective cohort studies มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก 5,811 คน จากผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 679,395 คน ซึ่งคณะผู้วิจัยนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์แบบ meta-analysis เพื่อประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มกาแฟกับความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
          ผลการศึกษาโดยรวมพบว่า ผู้ที่จัดอยู่ใน highest category of coffee consumption (ตั้งแต่ 4 ถ้วยขึ้นไปต่อวัน) มีความเสี่ยงน้อยกว่าถึงราว ๆ 29% ที่จะเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเมื่อเทียบกับผู้ที่อยู่ใน lowest category of coffee consumption (น้อยกว่า 1 ถ้วยต่อวัน) โดยมี pooled relative risk (RR) ของการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ที่ 0.71 (95% CI, 0.65-0.77) สำหรับผู้ที่จัดอยู่ใน highest category of coffee consumption เทียบกับผู้ที่จัดอยู่ใน lowest category of coffee consumption
          ขณะเดียวกันจากการวิเคราะห์ 6 การศึกษาที่ประเมินผลของการดื่มกาแฟชนิดต่าง ๆ พบว่า การดื่มกาแฟที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน (caffeinated coffee) มี pooled RR ของการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกต่ำกว่า คือ 0.66 (95% CI, 0.52-0.83) เมื่อเทียบกับกาแฟที่สกัดเอาคาเฟอีนออก (decaffeinated coffee)
          คณะผู้วิจัยระบุว่า มีหลายกลไกที่สัมพันธ์กับ potential anti-cancer effects ของกาแฟ เนื่องจากกาแฟมีสารประกอบที่หลากหลาย ได้แก่ polyphenols, diterpenes และ melanoidins ซึ่งสารประกอบเหล่านี้มีรายงานว่าสามารถเหนี่ยวนำหรือกระตุ้นให้ร่างกายมีการตอบสนองต่อต้านการอักเสบ (anti-inflammatory) และต้านอนุมูลอิสระ (anti-oxidant)