นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า วันนี้ (27 มกราคม 2565) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินคดี และประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ระหว่าง 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมบังคับคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาองค์กรผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง ณ อาคารศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก จตุจักร กทม.
ทั้งนี้ อย. มีความยินดีร่วมมือกับศาลแพ่งในการส่งข้อมูลผู้กระทำผิดที่ขายผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อให้ศาลติดตามตัวมาดำเนินการตามกฎหมายได้ง่ายขึ้น ซึ่งประเด็นนี้จะทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้ขายผลิตภัณฑ์ทางสื่อออนไลน์ต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อผู้บริโภคมากขึ้น เพราะถ้าทำผิดนอกจากจะถูกดำเนินคดีทางอาญาจาก อย. แล้ว จะถูกผู้บริโภคเรียกร้องค่าเสียหายจากคดีแพ่งได้อีกด้วย โดยข้อมูลในปี 2564 อย. ได้ดำเนินคดีกับผู้โฆษณาขายผลิตภัณฑ์ทางสื่อออนไลน์ จำนวน 1,503 คดี คดีสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งมีทั้งคดีที่เปรียบเทียบปรับโดย อย. และคดีที่ส่งหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษให้พนักงานสอบสวน นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับ บก.ปคบ. จับกุมผู้กระทำผิดจากการขายผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายทางสื่อออนไลน์ โดยที่เป็นคดีใหญ่ ๆ เช่น การจับถุงมือทางการแพทย์ปลอม ชุดตรวจ ATK เจลแอลกอฮอล์ ยาปลอม ลักลอบนำเข้าไม่มีทะเบียนตำรับ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปลอมปนยารวมอีกกว่า 250 คดี จากตัวเลขการดำเนินคดีเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคจำนวนมาก โดยความร่วมมือระหว่าง 7 หน่วยงานในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ อย. มุ่งประสานให้เกิดเครือข่ายการดำเนินงาน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองความปลอดภัยอย่างครอบคลุมทั่วถึงและรวดเร็ว ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบปัญหาคุณภาพของผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือสงสัยว่าจะเป็นอันตราย ขอให้แจ้งร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ