จากกรณีมีข้อมูลพบเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบินหลังรับประทานไส้กรอกไม่มียี่ห้อ ไม่มีเอกสารกำกับ อย. รุดตรวจสอบจับมือตำรวจสืบหาต้นตอไส้กรอกอันตรายและเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ เผยมีการเฝ้าระวังมาโดยตลอด พบไส้กรอกมีวัตถุกันเสียเกินปริมาณกำหนดบางส่วน และได้ดำเนินคดีแล้ว
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า จากกรณีที่ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี เปิดเผยว่า มีเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน จำนวน 6 ราย โดยมีประวัติรับประทานไส้กรอกซึ่งไม่มียี่ห้อ ไม่มีเอกสารกำกับนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. เพื่อสืบหาแหล่งที่มาของไส้กรอก และเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ พร้อมประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่พบปัญหาเพื่อดำเนินการอย่างเร่งด่วนแล้ว ที่ผ่านมา อย. ได้มีการเฝ้าระวังสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่าง ณ สถานที่จำหน่ายเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุกันเสีย ไนเตรท ไนไตรท์ ชนิดและปริมาณสีสังเคราะห์ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2561-2564 อย. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ส่งตรวจวิเคราะห์ 392 ตัวอย่าง ผ่านมาตรฐาน 334 ตัวอย่าง ไม่ผ่าน 58 ตัวอย่าง คิดเป็น 14.80 % โดยไม่ผ่านเรื่องไนเตรท ไนไตรท์ 1.79 % ซึ่ง อย. ได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผลิตภัณฑ์ที่ผิดมาตรฐานแล้ว (สีแดงตัดได้)
รองเลขาธิการ อย. กล่าวต่อไปว่า ไนเตรทและไนไตรท์ใช้เป็นวัตถุกันเสียเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มคลอสทริเดียม โบทูลินั่ม ซึ่งสามารถสร้างสารพิษที่เป็นอันตรายต่อระบบประสาทของผู้บริโภคและอาจทำให้เสียชีวิตได้ ปริมาณการใช้วัตถุกันเสียทุกชนิดต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องวัตถุเจือปนอาหาร หากตรวจพบการใช้เกินกฎหมายกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท กรณีตรวจพบว่ามีการใช้ในปริมาณที่มากจนอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคควรเลือกซื้อไส้กรอกที่มีสีไม่แดงจัดผิดไปจากธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ ก่อนซื้อควรสังเกตชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน ส่วนประกอบและข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร น้ำหนักสุทธิ เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. และมีการเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เย็นเพียงพอตลอดการจำหน่าย เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค และหากผู้บริโภคไม่แน่ใจคุณภาพหรือความปลอดภัยของอาหาร หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ