อย. - กทม. ร่วมพัฒนารูปแบบงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชน

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินหน้าพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ ขยายเครือข่ายการมีส่วนร่วม และพัฒนารูปแบบการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพขององค์กรส่วนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ
           นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า อย. ได้ประสานความร่วมมือในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพกับกรุงเทพมหานคร โดยให้มีการบูรณาการงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพกับงานบริการปฐมภูมิ (primary care) หรืองานเยี่ยมบ้าน เพื่อขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคตามกรอบภารกิจของแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2545
          ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในกรุงเทพมหานคร และส่งเสริมสนับสนุนให้สามารถดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปี 2562 ที่ผ่านมา อย. จึงได้ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จัดทำโครงการ อย. กทม. ร่วมใจดูแลการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพปลอดภัยในชุมชน (อบรม  ครู ก.) โดยพัฒนาต้นแบบงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในพื้นที่ จำนวน 13 ศูนย์บริการสุขภาพ และ ในปี 2563 นี้ จะขยายผลการพัฒนาต้นแบบงานดังกล่าวให้ครอบคลุม 68 ศูนย์บริการสุขภาพใน 50 เขต ของ กทม. จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “อย. กทม. ร่วมใจดูแลการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพปลอดภัยในชุมชน (อบรมครู ก. )” ในวันที่ 9-10 มกราคม 2563 ณ โรงแรมอีสติน ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เขตมักกะสัน กรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมถึงเป็นการสร้างและขยายเครือข่ายการมีส่วนร่วม และพัฒนารูปแบบการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีเภสัชกรและพยาบาลจากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
          ทั้งนี้ อย.และ กทม.  มีความตั้งใจที่จะส่งเสริม สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครและเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน มีความรู้ความเข้าใจในงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย  ค้นหาคัดกรองประชาชนที่ได้รับอันตรายหรือความไม่ปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อรักษาหรือส่งต่อ และการสร้างความรอบรู้ให้กับประชาชนเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันในพื้นที่ต่อไป