กรมควบคุมโรคร่วมกับ ม.มหิดล เร่งยุติวัณโรค วัณโรคดื้อยาและวัณโรคระยะแฝงของไทย

กรมควบคุมโรค ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เร่งรัดยุติวัณโรค วัณโรคดื้อยาและวัณโรคระยะแฝงของประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงต่อจากฉบับแรกที่สิ้นสุดปี พ.ศ. 2564 เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการพัฒนาวิจัย เทคโนโลยี ห้องปฏิบัติการ และพัฒนาบุคลากรสำหรับดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรค วัณโรคดื้อยา และวัณโรคระยะแฝงในประเทศไทย
          วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการเพื่อเร่งรัดการยุติวัณโรค วัณโรคดื้อยา และวัณโรคระยะแฝงของประเทศไทย ต่อเนื่องจากฉบับแรกที่ร่วมลงนามปี พ.ศ.2561 สิ้นสุดปี พ.ศ. 2564 ระหว่าง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค โดยมี ศ.เกียรติยศ นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นพยาน
          ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีภัยคุกคามทางสุขภาพที่เป็นความท้าทายมาอย่างต่อเนื่อง คือ “วัณโรค” ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องยุติการแพร่ระบาดให้ได้ตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายในปี 2573 เนื่องจากวัณโรคเป็นโรคที่สามารถป้องกันและรักษาได้ และต้องจัดการไปพร้อมกับปัจจัยที่ส่งผลต่อโรค ทั้งความยากจน ความเปราะบางและชนชายขอบ ภาวะทุพโภชนาการ ไปจนถึงให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยง อาทิ เรือนจำ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ และพื้นที่บริเวณชายแดน โดยบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการฯ ครั้งนี้ต่อเนื่องจากฉบับแรกซึ่งลงนามไปแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2561 กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ดังนั้น กรมควบคุมโรคร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อความต่อเนื่องของการดำเนินงาน โดยมีสาระสำคัญ 5 ประเด็น ได้แก่ การพัฒนาห้องปฏิบัติการด้านวัณโรคให้มีความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ, การพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานด้านวัณโรคทั้งในและต่างประเทศ, การร่วมมือ วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการป้องกัน ค้นหา วินิจฉัย และดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรค วัณโรคดื้อยา และวัณโรคระยะแฝงสู่การยุติปัญหาวัณโรค, สนับสนุนการค้นหา วินิจฉัย/พัฒนาระบบการจัดบริการตรวจคัดกรอง และดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรค วัณโรคดื้อยา และวัณโรคระยะแฝง และการจัดทำฐานข้อมูลผู้ป่วยวัณโรค วัณโรคดื้อยา และวัณโรคระยะแฝง
          ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมีอุบัติการณ์ผู้ป่วยวัณโรค 150 ต่อ 100,000 ประชากร หรือประมาณปีละ 105,000 คน จากการดำเนินงานที่ผ่านมาส่งผลให้องค์การอนามัยโลกประกาศให้ประเทศไทยพ้นจาก 14 ประเทศ ที่มีปัญหาเรื่องวัณโรคดื้อยาสูงที่สุดของโลกเมื่อปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานวัณโรคจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนในการควบคุมวัณโรค ทั้งด้านการค้นหา การรักษา การส่งต่อ การรายงานข้อมูลผู้ป่วย รวมถึงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับวัณโรคสู่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อยุติปัญหาวัณโรคของประเทศ อันจะนำไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุด (Vision) คือ TB-Free Thailand For TB-Free World “เมืองไทยปลอดวัณโรค เพื่อโลกปลอดวัณโรค” ต่อไป