ด้วยต้นทุนอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของผืนแผ่นดินไทย คือความหวังสู่อนาคตที่รอคอยให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาแปลงเปลี่ยนสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผ่านการขับเคลื่อนของ BCG Model ของรัฐที่ครอบคลุมทั้งทางด้าน Bio – Economy เศรษฐกิจชีวภาพ Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน และ Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว
ทิศทางของการปลูกพืชเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน จึงมุ่งไปที่การพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ “โภชนเภสัช” (Nutraceutical) เพื่อเป็นทางเลือกในการเสริมสร้างสุขภาวะ ซึ่งสอดคล้องกับกระแสนิยม (trend) ในโลกยุคปัจจุบันที่ผู้คนส่วนใหญ่หันมาใส่ใจบริโภคอาหารจากธรรมชาติเพื่อการดูแลสุขภาพ มากกว่าการรับประทานยาที่มีส่วนประกอบหลักจากสารเคมี ซึ่งเป็นที่หวั่นวิตกในเรื่องการมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย
รศ.ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่คณะได้มีการศึกษาวิจัยด้านพืชสมุนไพรอย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ การสกัดสาระสำคัญจากพืชสมุนไพรเพื่อพัฒนาสู่ยาในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนการทดสอบประสิทธิภาพทางยาเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ยาที่มีคุณภาพดีที่สุดสำหรับประชาชน
จนเมื่อกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ประกาศให้ทุกสถาบันอุดมศึกษาดำเนินตามนโยบายโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ซึ่งในด้าน Drug Discovery คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับอีก 8 ส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) พัฒนายาใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการร่วมสร้างแพลตฟอร์มขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการ
รศ.ภก.สุรกิจมองว่า การพัฒนายาใหม่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ แต่กว่าจะพัฒนาขึ้นมาได้ในแต่ละชนิด จำเป็นต้องใช้ทั้งงบประมาณเป็นจำนวนมหาศาล และต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งใช้เวลายาวนาน ในขณะที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์โภชนเภสัชเป็นการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพจากพืชสมุนไพรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้วในประเทศไทย มาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้เวลาสั้นกว่า หาได้ทั่วไป ราคาไม่สูง และให้ผลข้างเคียงน้อย
ในขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมให้ผลผลิตที่มูลค่าต่ำ แต่มีการแข่งขันสูง รวมทั้งก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอีกมากมาย พืชสมุนไพรไทยที่กำลังเป็นที่น่าจับตา ได้แก่ กระชายขาว บัวบก ขมิ้นชัน ขิง พริก ฯลฯ พบว่าเมื่อนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์โภชนเภสัชโดยผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม จะทำให้ได้ราคาที่สูงขึ้น สามารถช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตและเข้มแข็งต่อไปได้
ผศ.ดร. ภญ.ปัทมพรรณ โลมะรัตน์ หัวหน้าภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า ทิศทางการผลิตเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของไทยจากเดิมที่ว่า “More for Less” เน้นการผลิตในปริมาณมากแต่กลับพบว่ามีคุณภาพน้อย ปัจจุบันจึงเปลี่ยนมาเป็น “Less for More” ที่ไม่เน้นปริมาณ แต่เน้นคุณภาพ
ปัจจัยสำคัญที่สุดของห่วงโซ่อุปทาน คือ ความต้องการของผู้บริโภค พบว่า ปัจจุบันผู้บริโภคไม่ได้มองแต่เรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์อย่างเดียว แต่มองไปถึงกระบวนการผลิต และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย จะต้องมีความสอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์โภชนเภสัชก็เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ควรมีการวางแผนในระยะยาว ไม่ใช่ปลูกกันตามกระแส เนื่องจากตลาดมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากจะให้ได้ผลที่คุ้มทุน อาจต้องใช้เวลาถึง 5 ปี
ซึ่งผลิตภัณฑ์โภชนเภสัชที่น่าสนใจในช่วงวิกฤต COVID-19 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สร้างเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย อาทิ ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์โภชนเภสัชที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพร่างกายในแต่ละช่วงวัย เสริมสุขภาพจิต และการนอนหลับที่ดี ชะลอวัย และการออกกำลังกายก็กำลังมาแรง
ผศ.ดร.ภก.สมนึก บุญสุภา อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวย้ำถึงปัจจัยเรื่องความหลากหลายของผลิตภัณฑ์โภชนเภสัช ว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง การนำเอาสินค้าจากการเกษตรหรือสมุนไพรมาผลิตเป็นโภชนเภสัชที่เหมือนตามกัน จะทำให้ไม่เกิดความแตกต่าง นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคร่วมด้วย จึงจะสามารถตอบโจทย์ในช่วงวิกฤต COVID-19 นี้ได้เป็นอย่างดี
และที่สำคัญจะต้องมุ่งเน้นงานวิจัยและนวัตกรรมซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โภชนเภสัชที่มีคุณภาพ โดย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ให้สังคมไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย BCG เพื่ออนาคตทางเศรษฐกิจที่ดีและยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูล : www.nstda.or.th › Home › ทั่วไป