ท่อน้ำตาอุดตัน อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคท่อน้ำตาอุดตัน 5 วิธี !!

                                                           IMAGE SOURCE : pedclerk.bsd.uchicago.edu

ท่อน้ำตาอุดตัน, ท่อระบายน้ำตาอุดตัน หรือท่อน้ำตาตัน (Nasolacrimal duct obstruction) เป็นภาวะที่มีการอุดตันของท่อระบายน้ำตา ทำให้ผู้ป่วยมีอาการน้ำตาไหลมากจนเอ่อคลอเบ้าตาอยู่ตลอดเวลา โดยมักจะเป็นกับตาเพียงข้างเดียว (แต่ก็อาจเป็นทั้ง 2 ข้าง ก็ได้) และหากเป็นรุนแรงก็อาจทำให้เกิดการระคายเคือง หรือการอักเสบติดเชื้อตามมากลายเป็น “ถุงน้ำตาอักเสบ” (Dacryocystitis) ได้
            โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยในบ้านเรา ซึ่งพบได้มากในเด็กทารก (พบได้บ่อยมากประมาณ 5-6% ของเด็กทารกแรกเกิดที่คลอดครบกำหนด แต่เด็กมักจะมีอาการเมื่ออายุได้ประมาณ 1 เดือน ถึง 80-90% ซึ่งคาดว่าในช่วงแรกเกิด การสร้างน้ำตาของต่อมต่าง ๆ อาจจะยังไม่มาก จึงยังไม่แสดงอาการทันที) และในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป (โดยเฉพาะในช่วงอายุ 50-70 ปี) โดยจะพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ลักษณะทางกายภาพของทางเดินท่อน้ำตา
          น้ำตาของคนเราจะมีการหลั่งออกมาจากต่อมน้ำตาอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา ส่วนบริเวณหัวตาจะมีรูเปิดท่อระบายน้ำตา (Lacrimal punctum) อยู่ 2 รู ที่ขอบของเปลือกตาบนและล่าง โดยท่อระบายน้ำตา (Lacrimal canaliculus) นี้จะทำหน้าที่เป็นรูระบายน้ำ ท่อน้ำตาเล็ก ๆ ทั้ง 2 รูนี้ จะรวมกันเป็นท่อเดียวและเชื่อมต่อกับถุงน้ำตา (Lacrimal sac) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นถังพักน้ำ และจากถุงน้ำตาจะมีท่อระบายน้ำตา (Nasolacrimal duct) ซึ่งเป็นท่อยาวที่ผ่านลงมาทางกระดูกโหนกแก้มและมาเปิดที่ภายในจมูก และไหลผ่านลงคอ ตามลำดับ (ใช้อธิบายว่าทำไมหลังจากหยอดยาหยอดตาบางชนิดไปสักพักหนึ่ง จะรู้สึกขมในลำคอ)  ท่อตรงส่วนนี้เองเป็นตำแหน่งที่พบการอุดตันได้บ่อยที่สุด และรักษาให้กลับคืนสภาพได้ยากที่สุด จักษุแพทย์ส่วนใหญ่เชื่อว่า การฟื้นสภาพการทำงานของท่อระบายน้ำตาส่วนนี้ในผู้ใหญ่ที่เคยอุดตันมาก่อนให้กลับมามีสภาพการใช้งานได้ดังเดิมนั้นเป็นไปไม่ได้ การรักษาจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัดและกรอกระดูกในบริเวณดั้งจมูกให้ทะลุเป็นช่องเพื่อสร้างทางระบายน้ำขึ้นมาใหม่ ซึ่งเรียกว่า การผ่าตัด DCR (Dacryocystorhinostomy)

                                                           IMAGE SOURCE : Pearson Education, Inc.
สาเหตุของท่อน้ำตาอุดตัน
          ในเด็กทารกที่ท่อน้ำตาอุดตัน ส่วนใหญ่มักเกิดจากลิ้นเปิด-ปิดในท่อน้ำตาไม่เปิด โดยมีพังผืดบาง ๆ มาขวางอยู่ จึงทำให้น้ำตาเอ่อเข้าไปในลูกตาและเอ่อออกมาบริเวณดวงตาของเด็กในที่สุด (ปกติแล้วพังผืดนี้จะทะลุออกเองได้ในช่วงครบกำหนดคลอด หรือหลังจากนั้นไม่กี่เดือน) โดยธรรมชาติแล้ว ภาวะนี้ในเด็กส่วนใหญ่มักจะมีอาการดีขึ้นเอง แต่ในกรณีที่เป็นแล้วไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง อาการที่เป็นอยู่ก็ไม่สามารถหายได้เอง เมื่อน้ำตาที่ขังอยู่ในตานาน ๆ มีเชื้อโรคเข้ามาเจริญเติบโตก็จะเกิดการติดเชื้อ ซึ่งอาจลุกลามต่อไปและเข้าไปในเยื่อบุตาและกระจกตา ทำให้เกิดเยื่อบุตาอักเสบและกระจกตาอักเสบได้ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากการมีเยื่อเมือกและเซลล์ที่อยู่ในน้ำคร่ำขณะอยู่ในครรภ์มารดาเข้าไปอุดตันอยู่ภายในท่อน้ำตา หรือเกิดจากเยื่อตาขาวอักเสบเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียในขณะคลอด ทำให้มีขี้ตาลงไปอุดได้ด้วย
          ในผู้ใหญ่ที่ท่อน้ำตาอุดตัน ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงได้ คือ เป็นกลุ่มคนไข้ที่มีอาการไซนัสอักเสบเรื้อรัง ทำให้เซลล์บุท่อน้ำตาและถุงน้ำตาบวม, มีเนื้องอกในช่องจมูกหรือไซนัส, มีประวัติการผ่าตัดในช่องจมูกหรือไซนัส ตลอดจนคนไข้ที่มีประวัติได้รับอุบัติเหตุตรงกระดูกข้างจมูก หรือจากการแตกหักหรือได้รับการผ่าตัดกระดูกใบหน้าทางหัวตาที่ติดกับสันจมูก ซึ่งทำให้มีการกดทับท่อน้ำตา  
          เมื่อท่อน้ำตาอุดตันเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้มีเชื้อโรคเข้าไปและเกิดการติดเชื้อในถุงน้ำตา กลายเป็น “ถุงน้ำตาอักเสบ” ได้ ซึ่งส่วนมากจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น สแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus), สเตรปโตค็อกคัส (Streptococcus) เป็นต้น
อาการของท่อน้ำตาอุดตัน
          ผู้ป่วยจะมีอาการน้ำตาไหลมากจนเอ่อคลอเบ้าตาข้างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา โดยไม่เกี่ยวกับการร้องไห้หรือมีเรื่องเศร้าโศกเสียใจแต่อย่างใด จึงทำให้ต้องคอยเช็ดน้ำตาอยู่บ่อย ๆ ซึ่งอาจกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันได้ เช่น ทำงานไม่ได้ ขับรถไม่ได้ และต้องคอยพกผ้าเช็ดหน้าหรือทิชชูไว้คอยซับน้ำตาอยู่ตลอดเวลา
          ในเด็กทารกจะมีอาการน้ำตาคลอที่เบ้าตาหรือตาแฉะ ตามด้วยน้ำตาไหลมาก โดยที่เด็กไม่ได้ร้องไห้ (มักเป็นกับตาเพียงข้างเดียว หรืออาจพบเป็นทั้ง 2 ข้าง ก็ได้) และบางครั้งอาจมีขี้ตาด้วยเป็นครั้งคราว ส่วนเยื่อตาขาวอาจจะแดงหรือไม่แดงก็ได้  ซึ่งในตอนแรกอาการตาแฉะจะเป็นเพียงน้ำตาใส ๆ แต่พอผ่านไปหลายวันเข้าบางรายจะมีการติดเชื้อเกิดขึ้น จึงทำให้มีขี้ตาเป็นมูก ๆ สีเขียว ๆ ออกปนมากับน้ำตา ทำให้มีขี้ตาเยอะเกรอะกรัง โดยเฉพาะในช่วงเวลาตื่นนอนจะพบหนังตาบนและล่างติดกันจากขี้ตาได้
          ผู้ป่วยอาจมีการอักเสบของถุงน้ำตาซึ่งอยู่ถัดจากปลายท่อน้ำตาได้  โดยจะพบว่ามีตุ่มนูนตรงหัวตา เมื่อใช้นิ้วกดตรงหัวตาจะมีหนองไหลออกมาในตา แล้วตุ่มนูนก็จะยุบลงไป แต่ต่อมาก็จะกลับมานูนขึ้นอีกเช่นเดิม ถ้าเป็นรุนแรงตุ่มนูนนั้นจะมีอาการปวดแดงร้อนคล้ายฝี ซึ่งอาจแตก มีน้ำตา และมีหนองไหลออกมาได้

                                                           IMAGE SOURCE : josephwalrathmd.com
ภาวะแทรกซ้อนของท่อน้ำตาอุดตัน
          โดยทั่วไปโรคนี้มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง
การวินิจฉัยท่อน้ำตาอุดตัน
           - การตรวจที่ง่ายที่สุดและผู้ป่วยสามารถทำได้เอง คือ การกดที่หัวตาข้างสันจมูก ในบางรายที่มีท่อน้ำตาอุดตันจะพบว่ามีน้ำตาทะลักออกมาทางหัวตาทางรูเปิดของท่อน้ำตา ซึ่งอาจจะเป็นน้ำตาที่เป็นเมือกหรือเป็นขี้ตาที่เป็นหนองทะลักออกมาก็ได้
           - สำหรับการตรวจวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์ทั้งหลายที่ทำกันในผู้ใหญ่ คือ การใช้เข็มเล็กปลายตัดไม่คม แยงลงไปทางรูเปิดของท่อน้ำตาที่มีอยู่ทั้งที่หัวตา ทั้งเปลือกตาบนและล่าง แล้วฉีดน้ำลงไป ในรายที่ปกติจะรู้สึกถึงน้ำเกลือเค็ม ๆ ที่ไหลลงคอ แต่ในรายที่มีท่อน้ำตาอุดตัน น้ำตาจะไหลเอ่อล้นกลับออกมาทางรูเปิดของท่อน้ำตาทั้งบนและล่างและเลอะออกมาข้างแก้มซึ่งอาจมีขี้ตาออกมาด้วย (ก่อนจะทำการตรวจจะมีการหยอดยาชาก่อนเพื่อไม่ให้เจ็บ ตอนหยอดยาชาผู้ป่วยจะรู้สึกแสบตามากหน่อยในหยดแรก ๆ พอหยดต่อ ๆ ไปจะดีขึ้น แต่จะรู้สึกหนัก ๆ ตาต่อประมาณ 1 ชั่วโมง และหลังการหยอดยาชา อย่าพยายามขยี้ตา เพราะตาจะชาไปหมดแล้ว หากเผลอขยี้แรง ๆ กระจกตาอาจถลอกได้ นอกจากนี้  ขณะที่มีการแยงท่อน้ำตา ต้องพยายามลืมตาด้วย เพื่อที่หมอจะได้แยงเข็มลงไปตามท่อได้สะดวกโดยที่ผู้ป่วยจะไม่เจ็บ เพราะถ้าผู้ป่วยเผลอบีบตาอาจจะทำให้รู้สึกเจ็บได้ตอนตรวจล้างท่อน้ำตา)
           - ส่วนในเด็กจะใช้วิธีแยงเข็มเพื่อล้างท่อน้ำตาแบบในผู้ใหญ่ไม่ได้ ซึ่งจักษุแพทย์จะใช้วิธีการหยอดน้ำสีเหลือง ๆ ส้ม ๆ ซึ่งเป็นสีที่ใช้ย้อมตรวจกระจกตาอยู่แล้วและไม่มีอันตรายใด ๆ หยอดลงไปในตา หลังการหยอดจะซับให้แห้งเพียงครั้งเดียวแล้วห้ามซับน้ำตาอีกจนกว่าจะครบเวลาประมาณ 10 นาที ถ้าสีเหลืองยังคงค้างอยู่ที่ตา ก็บ่งบอกได้ว่าท่อน้ำตาข้างนั้นของเด็กน่าจะมีการอุดตันเกิดขึ้น จึงทำให้การระบายของน้ำสีเหลืองออกไปไม่ได้
           - ส่วนในรายที่เป็นถุงน้ำตาอักเสบ แพทย์จะตรวจพบตุ่มนูน ปวด แดง ร้อนที่หัวตาของผู้ป่วย
           ผู้ที่มีน้ำตาไหลผิดปกติ นอกจากท่อน้ำตาอุดตันแล้วยังอาจเกิดจากขนตาเก, เยื่อบุตาอักเสบ, กระจกตามีรอยถลอก, กระจกตาอักเสบ, การมีเศษผงหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าตา หรือภาวะต้อหินในเด็กทารกแรกเกิดก็เป็นได้ ซึ่งแพทย์จะซักถามอาการและตรวจดูอย่างแน่ชัด อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากอะไรก็ตาม ผู้ป่วยก็ควรไปตรวจที่โรงพยาบาลทุกราย
วิธีรักษาท่อน้ำตาอุดตัน
           ไปพบจักษุแพทย์ก่อนเสมอ หากมีอาการน้ำตาไหลมากผิดปกติตลอดเวลาหรือมีอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับนัยน์ตา ควรรีบไปพบจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและหาทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
           ถ้าพบว่ามีภาวะท่อน้ำตาอุดตัน (Nasolacrimal duct obstruction) จักษุแพทย์อาจลองให้การรักษาด้วยการล้างท่อน้ำตา แต่หากไม่ได้ผล อาจใช้วิธีการแยงท่อน้ำตา ถ้าเป็นมากอาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดทำทางระบายน้ำตาขึ้นมาใหม่ ซึ่งจักษุแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละรายไป
           1. สำหรับเด็ก โดยทั่วไปจักษุแพทย์มักจะแนะนำให้คุณพ่อหรือคุณแม่เริ่มต้นด้วยการนวดบริเวณหัวตา ซึ่งเป็นตำแหน่งของท่อน้ำตาที่อุดตันก่อน เพื่อเป็นการเพิ่มความดันภายในท่อน้ำตาซึ่งจะช่วยดันให้แผ่นพังผืดบาง ๆ ที่ขวางลิ้นเปิด-ปิดในท่อน้ำตาเปิดออก โดยทั่วไปแล้วประมาณ 70-90% จะหายเป็นปกติได้เองภายใน 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง นอกจากการนวดแล้ว แพทย์มักจะให้ยาป้ายตาปฏิชีวนะหรือยาหยอดตาปฏิชีวนะมาใช้ร่วมด้วย ถ้ามีการอักเสบติดเชื้อเกิดขึ้น (สังเกตได้จากการมีขี้ตาเหลือง ๆ เขียว ๆ)
           - ปรึกษาจักษุแพทย์ แม้ท่อน้ำตาอุดตันในเด็กจะไม่สามารถป้องกันได้ แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ และโรคนี้ก็ไม่ได้เป็นโรคที่รุนแรงอะไร คุณพ่อคุณแม่จึงอย่าเป็นกังวลมากนัก วิธีการดูแลก็อย่างที่แนะนำไปแล้ว ซึ่งเบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลด้วยตัวเองได้ เพียงแต่สิ่งสำคัญ คือ ถ้าพบว่าเจ้าตัวเล็กมีน้ำตาเอ่อคลอในดวงตาก็ควรรีบพาไปพบจักษุแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับคำแนะนำในการปฏิบัติที่ถูกต้อง โดยเฉพาะวิธีการนวดบริเวณหัวตา
           - วิธีการนวดบริเวณหัวตา (Hydrostatic massage) ให้ใช้นิ้วชี้กดไปที่หัวตาให้แนบเข้าไประหว่างหัวตากับสันจมูก แล้ววนนิ้วลงน้ำหนักเบา ๆ เป็นวงกลมบริเวณหัวตา (ถุงน้ำตา) นั้น แล้วจึงรูดลงมาตามสันข้างจมูก (เหมือนการรีดน้ำในลูกโป่งยาว ๆ ทำให้เกิดแรงดันขึ้นภายในท่อน้ำตา ซึ่งจะช่วยให้พังผืดที่ปากทางออกของท่อน้ำตาทะลุออกไป) โดยให้นวดบ่อย ๆ วันละหลาย ๆ รอบ วันละ 10 ชุดขึ้นไป ชุดละ 30-40 รอบ (ควรตัดเล็บให้สั้นก่อนเสมอเพื่อป้องกันไม่ให้เล็บไปจิกผิวหนังของลูก)

                                                           IMAGE SOURCE : porodicnilekar
          - การใช้ยาหยอดตาปฏิชีวนะ (Antibiotic eye drops) ให้หยอดในช่วงที่เด็กมีขี้ตามาก ๆ เพื่อป้องกันการอักเสบติดเชื้อของถุงน้ำตา ซึ่งหากมีการอักเสบติดเชื้อของถุงน้ำตาแล้ว อาจจะต้องใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานหรือชนิดฉีดร่วมด้วยในการรักษา
          - วิธีการแยงท่อน้ำตา (Probing) ถ้ายังไม่หายในช่วงขวบปีแรก แพทย์อาจใช้วิธีการแยงท่อน้ำตาด้วยแท่งโลหะ (Probe) ซึ่งมีลักษณะปลายมนยาว แยงลงไปตามแนวของท่อน้ำตา เพื่อให้ทะลุพังผืดที่ปากทางออกของท่อน้ำตา (ก่อนจะแยงแท่งโลหะเข้าไป จักษุแพทย์มักให้เด็กดมยาสลบก่อน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน) โดยการใช้วิธีนี้ส่วนใหญ่มักจะหายขาด แต่กรณีที่ยังไม่หายหรือกลับมาเป็นซ้ำอีก แพทย์อาจใช้วิธีการแยงท่อน้ำตาซ้ำและใส่ท่อซิลิโคนคาไว้ในท่อน้ำตาด้วยประมาณ 3-6 เดือน เพื่อช่วยขยายท่อน้ำตาให้กลับมาทำงานได้ดีเป็นปกติ (มีรายงานว่า การแยงท่อน้ำตาในเด็กอายุภายใน 15 เดือน จะมีโอกาสสำเร็จสูงกว่าการทำในเด็กที่โตกว่านี้ กล่าวคือ ถ้ารอให้เด็กโตกว่านี้อาจต้องทำการแยงท่อน้ำตามากกว่า 1 ครั้ง และต้องแยงร่วมกับการใส่ท่อซิลิโคนค้างไว้ประมาณ 3-6 เดือนด้วย) แต่ถ้ารักษามาทุกวิธีข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล เมื่อเด็กอายุได้ประมาณ 3-4 ขวบ อาจต้องให้การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดทำทางระบายน้ำตาให้มีทางติดต่อเข้าไปในจมูก เพื่อให้น้ำตาไหลผ่านเข้าจมูกได้ ซึ่งจะช่วยถ่ายเทของเสียและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาได้

                                                          IMAGE SOURCE : www.oftalmo.com
          2. สำหรับผู้ใหญ่ จะไม่สามารถใช้วิธีการแยงท่อน้ำตาได้เหมือนในเด็ก เนื่องจากพังผืดภายในท่อระบายน้ำตามักจะหนา และการหยอดยาและรับประทานยาก็ไม่สามารถแก้ไขหรือทำให้ท่อน้ำตาหายตันได้ ส่วนการนวดตาเหมือนในเด็กที่ท่อน้ำตาตันมาตั้งแต่เกิดนั้นก็ไม่สามารถใช้ได้ในผู้ใหญ่ ดังนั้น การรักษาท่อน้ำตาอุดตันในผู้ใหญ่จึงต้องใช้วิธีการผ่าตัด ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ
          - การผ่าตัดท่อน้ำตาอุดตันแบบดั้งเดิม (External dacryocystorhinostomy) เป็นวิธีการผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาอุดตันโดยการกรีดผ่านทางผิวหนังด้านนอก วิธีนี้ผู้ป่วยอาจไม่ต้องดมยาสลบ และการผ่าตัดจะทำให้เกิดรอยแผลเป็นบาง ๆ จากมีดผ่าตัดได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบ บวม แดงมาอยู่ก่อนแล้ว จะยังไม่สามารถผ่าตัดด้วยวิธีนี้ได้ เนื่องจากผิวหนังบริเวณถุงน้ำตานั้นมีการอักเสบ หากผ่าตัดและเย็บแผล ผิวบริเวณนั้นจะไม่แข็งแรง และทำให้เกิดแผลแยกหลังการตัดไหมได้
          - การผ่าตัดส่องกล้อง (Endoscopic dacryocystorhinostomy) เป็นวิธีการผ่าตัดแบบใหม่ที่แพทย์จะทำการผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาอุดตันผ่านทางรูจมูก โดยการใช้กล้องขนาดเล็กที่เรียกว่า “เอ็นโดสโคป” (Endoscope) ส่องผ่านเข้าไปในช่องรูจมูกแคบ ๆ เพื่อทำการผ่าตัดทางเชื่อมท่อน้ำตาและทำทางระบายน้ำตาขึ้นมาใหม่  การผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะไม่มีแผลผ่าตัดหรือแผลเป็นให้เห็นจากทางด้านนอกแต่อย่างใด ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว แผลหายเร็วกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม และแม้จะมีอาการอักเสบ บวม แดงมาก่อน ก็ยังสามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้ แต่การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ต้องดมยาสลบและนอนโรงพยาบาล ต้องทำการผ่าตัดโดยจักษุแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ และที่สำคัญผู้ป่วยจะต้องมารับการตรวจก่อน ถ้าพบว่าเคยมีประวัติมีอุบัติเหตุที่ใบหน้าแตกยุบมาก่อนหรือกระดูกผิดรูปไป การผ่าตัดอาจไม่สำเร็จ ก็อาจต้องใช้วิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิม หรือในกรณีที่เป็นเนื้องอกในจมูกร่วมด้วย ก็ต้องผ่าตัดเนื้องอกออกไปก่อน

                                                           IMAGE SOURCE : doctree.in, clinicalondon.co.uk
คำแนะนำและการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัด
          1. งดการใช้ยาละลายลิ่มเลือดก่อนเข้ารับการผ่าตัดประมาณ 5-7 วัน โดยผู้ป่วยต้องเข้าปรึกษาแพทย์ผู้สั่งยาชนิดนี้ก่อนว่าจะสามารถหยุดยาได้หรือไม่ นอกจากนั้น ควรต้องหยุดรับประทานวิตามินและอาหารเสริมต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นก่อนเข้ารับการผ่าตัดเป็นเวลา 7 วันด้วย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการได้รับสารที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด โดยเฉพาะวิตามินซี วิตามินอี น้ำมันตับปลา แปะก๊วย
          2.ยาสำหรับโรคประจำตัวต่าง ๆ ให้ใช้ต่อไปได้จนถึงเช้าวันผ่าตัด โดยเฉพาะยาลดความดันโลหิต ยาเบาหวาน
          3.งดน้ำและอาหารก่อนถึงเวลาผ่าตัดอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการติดเชื้อในปอดหากมีการสำลักในระหว่างการใส่หรือถอดท่อช่วยหายใจในการดมยาสลบ
          4.ควรอาบน้ำสระผมในเช้าวันผ่าตัดมาให้เรียบร้อย และงดการแต่งหน้า (ถ้าแต่งมาก็ต้องล้างออกให้สะอาดก่อนเข้ารับการผ่าตัด)
          5.เตรียมตัวและข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวมาให้พร้อมสำหรับการนอนโรงพยาบาลอย่างน้อย 1-2 คืน
          6.วันผ่าตัดให้ถอดชุดชั้นในและเครื่องประดับ รวมถึงฟันปลอมก่อนเข้าห้องผ่าตัด
          7.เคลียร์งานให้เรียบร้อย เพราะหลังการผ่าตัดอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยไม่ควรจะก้ม ๆ เงย ๆ หรือยกของหนัก เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้
          8.หากเคยมีประวัติความผิดปกติจากการดมยาสลบ หรือมีโรคประจำตัวใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยละเอียด
          9.หากมีการอักเสบติดเชื้อไม่ว่าจะส่วนใดของร่างกาย ควรเลื่อนการผ่าตัดออกไปก่อน
          10.การผ่าตัดท่อน้ำตาจะมีการตัดกระดูกและเชื่อมต่อเนื้อเยื่อของถุงน้ำตาและเยื่อบุโพรงจมูก เวลาทำการผ่าตัดจึงอาจมีเสียงดังของการตัดกระดูกและมีเลือดออกในจมูกและไหลลงคอได้ จึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบาย ดังนั้น หากไม่มีข้อห้ามในการดมยาสลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผ่าตัดแบบส่องกล้องนั้น แพทย์มักจะแนะนำให้ดมยาสลบ ผู้ป่วยจึงต้องมีการนอนโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการเลือดออกจากโพรงจมูก
          11.ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะอื่น ๆ ทางตาที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดในลูกตาร่วมด้วย เช่น การผ่าตัดต้อกระจกหรือผ่าตัดจอประสาทตา ผู้ป่วยกลุ่มนี้หากไม่ได้รับการผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาอุดตันก่อน จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเข้าไปในลูกตาได้สูงกว่าปกติ
          12.โดยทั่วไปการผ่าตัดจะมีโอกาสสำเร็จได้ถึง 90% และมีน้อยรายที่อาจต้องทำการผ่าตัดมากกว่า 1 ครั้ง
          ถ้าพบว่ามีถุงน้ำตาอักเสบ (Dacryocystitis) คือ ผู้ป่วยตุ่มฝีขึ้นที่หัวตา การรักษาจะมีตั้งแต่การใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบ การใช้ยาแก้ปวด และการใช้ยาป้ายตาปฏิชีวนะ (Antibiotic eye ointment) หรือยาหยอดตาปฏิชีวนะ (Antibiotic eye drops) เพื่อลดการติดเชื้อและการอักเสบที่เกิดขึ้น ถ้ามีอาการอักเสบรุนแรง แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานร่วมด้วย เช่น เพนิซิลลินวี (Penicillin V), ไดคลอกซาซิลลิน (Dicloxacillin) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) กลับไปรับประทานประมาณ 5-7 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อลุกลามไปตามเปลือกตาหรือเข้าไปในตาได้ แต่ถ้ายังไม่ยุบหรือกลับมาเป็นซ้ำอีก ผู้ป่วยควรกลับไปพบแพทย์เพื่อตรวจสาเหตุให้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร ถ้าเกิดจากท่อน้ำตาอุดตัน แพทย์จะให้การรักษาตามวิธีข้างต้น

เอกสารอ้างอิง
          * หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ท่อน้ำตาอุดตัน ถุงน้ำตาอักเสบ (Dacryocystitis)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 942-943.
          * โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์.  “ท่อน้ำตาอุดตัน”.  (นพ.ณัฐวุฒิ วะน้ำค้าง).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bumrungrad.com.  [21 ธ.ค. 2016].
           * Dr.Aree.  “โรคท่อน้ำตาตัน”.  (พญ.อารีย์ นิมิตรวงศ์สกุล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctoraree.com.  [22 ธ.ค. 2016].
          * หาหมอดอทคอม.  “ท่อน้ำตาอุดตันในเด็ก (Childhood nasolacrimal duct obstruction)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [22 ธ.ค. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : https://medthai.com