The Coverage • Global • 15 มิถุนายน 2565
หลายคนอาจไม่คาดคิดว่า Telemedicine หรือบริการแพทย์ทางไกลผ่านระบบออนไลน์ สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการรักษา และเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเปราะบางที่ประสบความยากลำบากในการเดินทางมายังโรงพยาบาล
ในสหรัฐอเมริกาพบว่า การบูรณาการระบบแพทย์ทางไกลเข้ากับบริการสุขภาพเดิม สามารถเพิ่มคุณภาพการรักษา ไปพร้อม ๆ กับเพิ่มการเข้าถึงบริการได้
ประโยชน์ของบริการแพทย์ทางไกล ได้ถูกกล่าวถึงในบทความของ Harvard Business Review เขียนโดย Robert Pearl ผู้บริหารบริษัท Kaiser Permanente และ Brian Wayling ผู้บริหารบริษัท Intermountain ทั้ง 2 บริษัท ให้บริการสุขภาพในสหรัฐอเมริกา โดยนำระบบแพทย์ทางไกลมาใช้กับผู้ป่วยมากกว่า 13 ล้านคน ตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19
ทั้ง 2 ผู้บริหารเชื่อว่า หากมีการควบรวมบริการแพทย์ทางไกลเข้ากับระบบสุขภาพในสหรัฐอเมริกา จะสามารถเพิ่มคุณภาพบริการได้ถึง 20% และลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพได้ถึง 15-20%
บริการแพทย์ทางไกลยังสร้างโอกาสให้กับระบบสุขภาพ 5 ข้อ ดังนี้
1. ลดการเดินไปห้องแพทย์ฉุกเฉินที่มีค่าใช้จ่ายสูงและไม่จำเป็น
ในสหรัฐอเมริกา การขับรถพาคนไข้ไปห้องแพทย์ฉุกเฉินในโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายสูง และมีค่าเสียเวลาเฉลี่ย 2 ชั่วโมง สำหรับการรอพบแพทย์ การศึกษาของ UnitedHealth Group ระบุว่า บริการแพทย์ฉุกเฉินมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าบริการการแพทย์ทั่วไปถึง 12 เท่า
ในช่วงวิกฤตโควิด บริษัท Kaiser Permanente ได้ทดลองให้บริการแพทย์ทางไกลกับคนไข้ตลอด 24 ชั่วโมง พบว่าแพทย์สามารถช่วยคนไข้แก้ปัญหาสุขภาพได้มากกว่า 60% ของปัญหาทั้งหมด โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาล
เช่นเดียวกับ บริษัท Intermountain Healthcare พบว่า สามารถให้คำปรึกษาคนไข้ได้มากกว่า 10,000 คน ภายในเวลา 14 เดือน หลีกเลี่ยงการนอนในโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็นได้มากถึง 1,800 กรณี ลดจำนวนวันนอนในโรงพยาบาลได้ 4,800 วัน จึงสามารถเก็บเตียงให้ผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องการการรักษาที่โรงพยาบาล
2. แก้ไขวิกฤตโรคเรื้อรัง
การรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังแต่เดิมต้องกำหนดตารางเวลาพบแพทย์ โดยปกติอยู่ที่ทุก 4-6 เดือนต่อครั้ง แต่ตารางเวลานี้อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยทุกคน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่สามารถดูแลตัวเองได้ดี ซึ่งไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ถี่ขนาดนั้น ในบางกรณี แพทย์อาจต้องการติดตามอาการผู้ป่วยเดือนละครั้ง แต่การไปโรงพยาบาลในแต่ละครั้ง ผู้ป่วยอาจแค่รับบริการตรวจเลือด ซึ่งเสียเวลาเดินทางและค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น
บริการแพทย์ทางไกลสามารถช่วยปิดช่องว่างตรงนี้ เช่น ในกรณีของบริษัท Kaiser Permanente ซึ่งให้คำปรึกษาแพทย์บนระบบออนไลน์ สามารถช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมความดันได้ถึง 90% ของผู้รับบริการ
นอกจากนี้ การให้คำปรึกษาออนไลน์สามารถทำได้บ่อยครั้ง ผู้ป่วยสามารถวัดความดันด้วยตัวเอง และส่งผลให้แพทย์ประเมิน หรือใช้อุปกรณ์การวัดที่เชื่อมต่อกับประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยที่โรงพยาบาล ผลลัพธ์ที่ได้คือ การควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ ลดอาการแทรกซ้อน ด้วยต้นทุนต่ำกว่าการไปโรงพยาบาล
3. ลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ
ประโยชน์ของแพทย์ทางไกลในการลดความเหลื่อมล้ำ เห็นได้จากช่วงการระบาดของโควิด เช่น ในกรณีของบริษัท Intermountain ให้บริการปรึกษาทางแพทย์ออนไลน์กับผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงการดูแลด้านการแพทย์ฉุกเฉินและโรคทั่วไป
แพทย์ด้านจิตเวชก็ให้คำปรึกษาออนไลน์กับผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่อง เช่น ผู้ป่วยติดสุราและยาเสพติด ซึ่งต่างหันมาใช้บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์แม้ความรุนแรงของโรคโควิดน้อยลง บริษัทยังพบว่าผู้ป่วยมีความพอใจอย่างมากในการบริการ และมีโอกาสน้อยมากที่จะยกเลิกนัดกับแพทย์
บริษัท Kaiser Permanente พบว่า อัตราของหญิงตั้งครรภ์ที่รับบริการเลิกยาเสพติดเพิ่มสูงขึ้น เมื่อนำบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์เข้ามาใช้ เดิมทีมีหญิงตั้งครรภ์เพียง 30% ของผู้เข้าร่วมการบำบัด เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ที่สถานพยาบาล เพราะการเดินทางด้วยรถประจำทางไม่สะดวกสบายสำหรับหญิงตั้งครรภ์ อัตราส่วนการเข้าร่วมการบำบัดเพิ่มขึ้นเป็น 80% ภายหลังบริษัทเริ่มให้บริการคำปรึกษาออนไลน์
4. การให้บริการเฉพาะทางเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่เดิม เมื่อแพทย์ปฐมภูมิต้องการส่งต่อผู้ป่วยเข้ารักษาเฉพาะทางในสหรัฐอเมริกา แพทย์ต้องสามารถยืนยันสาเหตุของโรคได้ 100% พร้อมเสนอแผนการรักษา จึงจะสามารถส่งต่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ แต่ในความเป็นจริง แพทย์ปฐมภูมิอาจไม่สามารถยืนยันสาเหตุของโรคได้ทั้งหมด ทำให้ผู้ป่วยหลายคนไม่ได้รับการส่งต่อ หรือต้องรอคิวนานหลายสัปดาห์จนกว่าจะได้รับไฟเขียวให้ส่งต่อ
ในกรณีบริษัท Kaiser Permanente ใช้ระบบออนไลน์มาแก้ปัญหานี้ โดยแพทย์ปฐมภูมิหารือกับแพทย์เฉพาะทางบนช่องทางออนไลน์ระหว่างที่ผู้ป่วยอยู่ในห้องตรวจ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยที่แม่นยำหลังเข้าพบแพทย์ปฐมภูมิ และสามารถทำเรื่องส่งต่อได้ทันที
คาดการณ์ว่าหาก 30-40% ของการส่งต่อใช้ระบบแพทย์ทางไกล ผู้ป่วยจะใช้เวลารอการส่งต่อเพียงไม่กี่วัน และลดความสูญเสียที่เกิดจากการรอได้ถึง 3 แสนล้านบาท
5. เพิ่มช่องทางการเข้าถึงแพทย์ที่เหมาะสม
ผู้ป่วยมักจะประสบปัญหาในการหาแพทย์เฉพาะทางที่สามารถให้คำปรึกษาและรักษาโรคเฉพาะของตน ปัญหานี้มักพบในกลุ่มผู้ป่วยโรคหายาก ซึ่งอาจต้องแวะไปยังคลินิกหรือสถานพยาบาลหลายแห่งเพื่อหาแพทย์ที่เหมาะสม แต่หากใช้ระบบแพทย์ทางไกลแล้ว ปัญหานี้จะถูกแก้ไขได้ทันที
ตัวอย่างมีให้เห็นในกรณีของบริษัท Kaiser Permanente ซึ่งใช้ระบบให้คำปรึกษาออนไลน์ที่ผู้ป่วยสามารถพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตข้ามมลรัฐ แพทย์สามารถให้ความรู้เกี่ยวกับโรค และทางเลือกการรักษาในระหว่างการพูดคุย หากในตอนท้ายผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัด ก็จำเป็นต้องเดินทางไปหาแพทย์ แต่นั่นก็เป็นการเดินทางแค่ครั้งเดียวเท่านั้น
ในกรณีของบริษัท Intermountain พบว่า ผู้ป่วยมีความพึงพอใจกับการจับคู่ให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท ทั้งยังเข้าถึงการรักษาโรคเร่งด่วน เช่น ไมเกรน ปวดคอและหลัง ซึ่งนอกจากจะได้พบแพทย์เร็วแล้ว ยังลดต้นทุนค่าเดินทางและการรักษาในภาพรวมอีกด้วย
กล่าวโดยสรุป บริการแพทย์ทางไกลมีคุณประโยชน์ต่อระบบสุขภาพอย่างมาก และช่วยให้ก้าวข้ามเงื่อนไขข้อจำกัดที่กีดกันให้ผู้ป่วยไม่สามารถพบแพทย์ หรือพบแพทย์ช้า
สองผู้บริหารจากบริษัท Kaiser Permanente และ Intermountain เชื่อว่า การบูรณาการระบบแพทย์ทางไกล เข้ากับระบบสุขภาพเดิมในสหรัฐอเมริกา จะใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น และใช้ต้นทุนไม่มากเกินกว่าที่ผู้มีส่วนได้เสียจะจ่ายได้
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ : https://hbr.org/2022/05/the-telehealth-era-is-just-beginning
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.thecoverage.info/news/content/3623