เวลาและความถี่ของมื้อที่คุณรับประทานอาหารในแต่ละวันสามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อน้ำหนักและความต้องการอินซูลิน ถ้าคุณเป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 งานวิจัยครั้งใหม่ระบุ
การศึกษาครั้งนี้พบว่า คนที่รับประทานอาหารวันละ 3 มื้อ แทนที่จะรับประทานเป็นมื้อเล็ก ๆ 6 มื้อ และเปลี่ยนเวลารับประทานในรอบวันให้เร็วขึ้น ร่างกายจะต้องการอินซูลินน้อยลง ทำให้น้ำตาลในเลือดดีขึ้น และลดน้ำหนักลงได้มากกว่า 10 ปอนด์
“การเลื่อนเวลารับประทานแคลอรีและคาร์โบไฮเดรทไปอยู่ในช่วงเวลาที่เร็วขึ้นและลดโอกาสในการรับประทานลงมานั้น เป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลในการควบคุมโรคเบาหวานได้ดีขึ้น และส่งผลให้การใช้ยาอินซูลินประจำวันลดน้อยลง” Dr. Daniela Jakubowicz ผู้เขียนรายงานการศึกษา ซึ่งเป็นศาสตราจารย์สาขาการแพทย์จาก Tel Aviv University ประเทศอิสราเอล กล่าว
Dr. Jakubowicz กล่าวว่า คำแนะนำการบริโภคอาหารที่มีมาแต่เดิมสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน คือ ให้รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ 6 มื้อ กระจายแต่ละมื้อให้เท่า ๆ กันตลอดวัน
แต่แผนการรับประทานอาหารแบบนี้ไม่เกิดผลในการควบคุมน้ำตาลในเลือด และทำให้จำเป็นต้องใช้อินซูลินมากขึ้นและน้ำหนักจะเพิ่มมากขึ้น เธอกล่าว
Dr. Jakubowicz บอกว่า นี่จะกลายเป็น “วงจรอุบาทว์ของการมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและการใช้ยาอินซูลินเพิ่มขึ้นแรง”
การศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วยผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 จำนวน 28 คน ซึ่งกำลังใช้อินซูลิน โดยดัชนีมวลกายเฉลี่ยอยู่ในกลุ่มโรคอ้วน อายุเฉลี่ยระหว่าง 68 และ 69 ปี
ผู้ป่วยครึ่งหนึ่งในกลุ่มได้รับการสุ่มให้รับประทานอาหารวันละ 3 มื้อ (3M diet) และอีกครึ่งหนึ่งให้รับประทานวันละ 6 มื้อ (6M diet)
มื้ออาหารมีส่วนประกอบสม่ำเสมอ คือ เป็นไขมันร้อยละ 35 โปรตีนร้อยละ 25 และคาร์โบไฮเดรทร้อยละ 40 สิ่งที่แตกต่างกัน คือ แคลอรีและการกำหนดเวลาของมื้ออาหาร
ในการศึกษาครั้งนี้ อาหาร 3M diet ประกอบด้วยมื้อเช้า 700 แคลอรี มื้อกลางวัน 600 แคลอรี และมื้อเย็นลดลงเป็น 200 แคลอรี ส่วนอาหาร 6M diet มีอาหารมื้อเช้า มื้อกลางวัน และมื้อเย็น และอาหารว่าง 3 มื้อ ทั้งหมดมีปริมาณแคลอรีค่อนข้างเหมือนกัน
โดยให้อาสาสมัครที่เข้าร่วมการศึกษาครั้งนี้รับประทานอาหารเช้าก่อน 09.30 น. อาหารกลางวันระหว่างเวลาเที่ยง และ 15.00 น. และมื้อเย็นระหว่างเวลา 18.00 น. ถึง 20.00 น. ผู้ที่อยู่ในกลุ่ม 6M diet ยังมีอาหารว่าง เวลา 11.00 น. และ 22.00 น.
ผลการค้นพบแสดงว่า ไม่พบว่าคนที่อยู่ในกลุ่ม 6M diet มีน้ำหนักลดลงหรือระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้น
ในเวลาเดียวกัน คนในกลุ่ม 3M diet ลดน้ำหนักลงไปเกือบ 12 ปอนด์ และมีระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยความเป็นจริง น้ำหนักและระดับน้ำตาลดีขึ้นมากจนผู้ป่วยสามารถลดความจำเป็นที่ต้องใช้อินซูลินลงมา
Jakubowicz คิดว่า ภาวะที่ดีขึ้นดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ที่อยู่ในกลุ่ม 3M diet รับประทานอาหารสอดรับกับนาฬิกาชีวิตของตนเอง ร่างกาย “ได้รับการจัดระเบียบให้เหมาะสมสำหรับการรับประทานอาหารให้เร็วขึ้น และการงดอาหารกับการนอนในตอนเย็นและตอนค่ำ” เธอกล่าวและเพิ่มเติมว่า การรับประทานขนมปังแผ่นเดียวในตอนเย็นจะมีไขมันมากขึ้นและทำให้น้ำตาลสูงขึ้นมากกว่าการรับประทานขนมปังแผ่นเดียวในตอนเช้า
Jakubowicz คิดว่า การรับประทานอาหาร 3 มื้อ ยังช่วยคนที่เป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ 1 และผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ซึ่งไม่ต้องพึ่งอินซูลินในการรักษาโรคนี้
Dr. Minisha Sood แพทย์ผู้เชี่ยวชาญวิทยาการต่อมไร้ท่อที่ Lenox Hill Hospital ในนครนิวยอร์ก กล่าวว่า การควบคุมน้ำตาลที่ดีขึ้นดังกล่าวเทียบเท่ากับการควบคุมที่อาจได้รับจากการใช้ยาโรคเบาหวาน
Maureen Franklin นักกำหนดอาหารจาก Upstate University Hospital ในซีราคิวส์ ไม่แน่ใจว่าการรับประทานอาหารตรงตามเวลาที่กำหนดมีบทบาทต่อการควบคุมน้ำตาลในเลือดได้มากเท่ากับการทำให้การรับประทานโปรตีนและคาร์โบไฮเดรทเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ และไม่แน่ใจว่าคุณกำลังรับประทานอาหาร เช่น โปรตีนและคาร์โบไฮเดรทได้สมดุลกัน
Franklin กล่าวว่า ยังมีความจำเป็นที่เราจะไม่ไปเน้นเรื่องเวลามากเกินไปจนคุณไปรับประทานอาหารในตอนที่คุณไม่ได้หิว “ถามตัวเองว่า ‘ฉันหิวจริงมั้ย’ ก่อนที่คุณจะรับประทาน บางทีเหตุผลที่จะรับประทานเป็นปัญหาทางจิตวิทยามากกว่า
มีความจำเป็นที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องคอยติดตามสิ่งที่ตนเองกำลังจะรับประทาน เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า “ควรทำไดอารีอาหารสำหรับรอบสัปดาห์โดยรวมถึงการจดเวลาที่คุณรับประทานอาหารด้วย” Franklin แนะนำและว่า “คุณจำเป็นต้องรู้ถึงสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่จริงก่อนที่คุณจะเปลี่ยนแปลง”
มีการเผยแพร่ผลการค้นพบนี้ในวารสาร Diabetes Care
เปลี่ยนเวลาและจำนวนมื้ออาหารอาจช่วยผู้ป่วยเบาหวานได้
Serena Gordon, HealthDay News