รู้จัก โรคลีเจียนแนร์ สาเหตุเกิดจากอะไร ป้องกันยังไง อ่านเลย

 

   รู้จัก "โรคลีเจียนแนร์" สาเหตุเกิดจากอะไร ป้องกันยังไง อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอธีระเผยทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยรุนแรงจากภาวะปอดอักเสบ และเสียชีวิตได้


    โรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires' disease) สาเหตุเกิดจากอะไร ป้องกันได้ยังไง เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจ


          หลังจากเวลานี้โลกกำลังประสบพบเจอกับโรคระบาดหลายชนิดในเวลาเดียวกัน


         รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า


         รู้จักกับโรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires' disease)

       เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง คือ Legionella ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยรุนแรงจากภาวะปอดอักเสบ และเสียชีวิตได้


       การติดเชื้อส่วนใหญ่นั้นมักมาจากการสูดละอองฝอยของน้ำ หรือจากดิน ที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ทางเดินหายใจ

          แหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำธาร ทะเลสาบ ตลอดจนในสถานที่ต่าง ๆ อาทิ บ่อบาดาล น้ำในอุปกรณ์หล่อเย็น เครื่องปรับอากาศ ฝักบัว สปริงเกลอร์ สระว่ายน้ำ เป็นต้น


             พบการติดเชื้อได้ทั้งภายในสถานพยาบาล โรงแรม อาคารสถานที่ต่าง ๆ และในชุมชน


           การติดเชื้อ Legionella ในคนนั้น ส่วนใหญ่มักเป็น Legionella pneumophila แต่ Legionella นั้นมีสายพันธุ์อื่น ๆ รวมแล้ว 65 ชนิด บางชนิดก็พบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อ เช่น Legionella longbeachae ซึ่งพบรายงานในประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์


         ชื่อของ Legionella นั้นมาจากการระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นใน  ค.ศ.1976 (พ.ศ.2519) ในกลุ่มผู้ที่เข้าพักในโรงแรมที่จัดงานรำลึกวันทหารผ่านศึกครบรอบ 200 ปี (The American Legion Convention) ณ รัฐฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา


          โดยมีผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงกว่า 200 ราย และเสียชีวิตกว่า 30 ราย ซึ่งในปีต่อมาจึงค้นพบว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนี้


          เท่าที่ทราบ ไทยมีผู้ป่วยโรคลีเจียนแนร์ตั้งแต่ พ.ศ.2527 และพบประปรายมาเรื่อย ๆ เฉลี่ยแล้วระดับหลักหน่วยต่อปี มักพบในนักท่องเที่ยว


           ผู้ที่ติดเชื้อนั้น ส่วนใหญ่มักจะเกิดอาการราว 5-6 วัน (ระยะฟักตัวตั้งแต่ 2-10 วัน)


          อาจมีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และมีไข้สูง ทั้งนี้ อาจมีเรื่องปวดท้อง และอุจจาระร่วงเกิดขึ้นตามมาได้


          ในกรณีที่ป่วยรุนแรง จะเกิดภาวะปอดอักเสบ มีอาการไอ ไม่มีเสมหะ หอบเหนื่อย เอกซเรย์ปอดจะพบเป็นปื้นหรือจุดขาว อาจพบลุกลามได้ในปอดทั้ง 2 ข้าง และอาจจะทำให้ระบบหายใจล้มเหลว


          การติดเชื้อนั้น หากรับเชื้อมาน้อย หรือป่วยน้อย อาการจะคล้ายไข้หวัดใหญ่ เรียก ไข้พอนเตียก (Pontiac fever) ซึ่งมักหายเองได้ และไม่เสียชีวิต แต่หากป่วยรุนแรงจนเกิดภาวะปอดอักเสบ จะเรียกโรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires' disease) ซึ่งมีอัตราเสียชีวิตราว 15-20%


            ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษามีหลายชนิด เช่น ยากลุ่ม Fluoroquinolone (เช่น Levofloxacin, Moxifloxacin, Ciprofloxacin), ยากลุ่ม Macrolide (ได้แก่ Azithromycin)


         การดูแลฟื้นฟูแหล่งน้ำ รักษาความสะอาด และบำรุงรักษาระบบต่าง ๆ ในอาคารสถานที่อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดได้


ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล  : https://www.thansettakij.com/