มารู้จักภาวะกลืนลำบากในผู้สูงอายุ กับ 5 วิธีแก้ปัญหา

 วัยสูงอายุหรือคนแก่เป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพและระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งการกลืนด้วย ภาวะกลืนลำบาก คือ ความลำบากในการกลืนอาหารน้ำ หรือยา ซึ่งเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ระยะช่องปาก คอหอย และหลอดอาหาร มีสาเหตุจากความผิดปกติของโครงสร้าง และหน้าที่การทำงานของช่องปาก คอหอย กล่องเสียง


สาเหตุภาวะการกลืนลำบากในผู้สูงอายุ


                                                                     


              สาเหตุที่พบได้บ่อยของความผิดปกติของช่องปากและคอหอยในวัยสูงอายุ คือ โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะสมองเสื่อม แต่อาจมีสาเหตุจากภาวะอื่น ๆ ได้แก่ โรคทางระบบประสาท โรคทางจิตเวช รวมถึงโรคพาร์กินสันที่ทำให้กล้ามเนื้อมีภาวะเกร็ง ทำให้การกลืนอาหารยากขึ้น


การกลืนในผู้สูงอายุมี 3 ระยะ


1.ระยะช่องปาก


          ผู้สูงอายุจะมีการรับความรู้สึกที่ลดลง เช่น รสชาติอาหาร อุณหภูมิ เเละการสัมผัสต่อเนื้ออาหาร ทำให้เกิดความรู้สึกเบื่ออาหารได้ง่าย การไม่มีฟัน เเละกำลังกล้ามเนื้อที่ใช้ในการบดเคี้ยวอาหารลดลง ทำให้ต้องใช้เวลานานในการเคี้ยวอาหาร ทำให้กระบวนการเตรียมอาหาร เเละการขนส่งผ่านอาหารใช้เวลานานขึ้น เเละประสิทธิภาพลดลง จึงต้องมีการกลืนหลายครั้งกว่าอาหารจะหมดออกจากช่องปาก


2.ระยะคอหอย


       ปฏิกิริยาการตอบสนองทางการกลืนที่คอหอยจะเกิดช้ากว่าคนหนุ่มสาว ทำให้อาหารอยู่ในระยะคอหอยนาน จึงมีความเสี่ยงสูงในการเกิดการสำลักอาหาร


3.ระยะหลอดอาหาร


        ระยะเวลาที่หูรูดของหลอดอาหารส่วนต้นจะเปิดช้าลง จึงมีอาหารเหลือค้างที่คอหอย เสี่ยงต่อการสำลักเข้าทางเดินหายใจ เเรงบีบไล่อาหารของหลอดอาหารจะลดลง หากผู้สูงอายุหรือคนแก่ล้มตัวลงนอนหลังรับประทานอาหารอิ่ม จะทำให้อาหารค้างอยู่ในหลอดอาหาร


กลืนลำบาก ส่งผลต่อสุขภาพผู้สูงอายุอย่างไร


       ผู้สูงอายุหรือคนแก่ที่มีภาวะกลืนลำบากจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในเรื่องการขาดน้ำ ขาดสารอาหาร และน้ำหนักลด เพราะผู้ป่วยมักหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหาร เพราะกลัวการสำลักหรือรู้สึกว่ากลืนลำบาก ภาวะขาดอาหารและปอดอักเสบ จนเป็นเหตุให้ร่างกายอ่อนแอ เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะภาวะติดเชื้อในปอดและระบบทางเดินหายใจจากการสำลักน้ำหรืออาหาร


วิธีแก้ปัญหาภาวะกลืนลำบากของผู้สูงอายุ


         1. ปรับอาหาร ควรเลือกชนิดของอาหารที่ใช้ในการฝึกกลืนอย่างเหมาะสม ได้แก่  อาหารเหลวย่อยง่าย โดยแบ่งอาหารที่ใช้ในการฝึกกลืนสำหรับผู้ป่วยกลืนลำบากเป็น 4 ระดับ ได้แก่


       อาหารระดับ 1: อาหารปั่นข้น เนื้อเดียวกัน เกาะกันเป็นก้อน ไม่มีน้ำ และไม่จำเป็นต้องบดเคี้ยว (pureed) เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะกลืนลำบากปานกลางถึงมาก


      อาหารระดับ 2: อาหารปั่นข้นปานกลางถึงมาก เนื้อนุ่มเกาะกันเป็นก้อนได้ง่าย และต้องการการบดเคี้ยว (semisolid)


     อาหารระดับ 3: อาหารอ่อน เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย (softsolid) เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะกลืนลำบากเล็กน้อย


      อาหารระดับ 4: อาหารปกติ


      2. ใช้เทคนิคช่วยกลืน โดยให้ผู้สูงอายุนั่งตัวตรง 90 องศา ซึ่งจะทำให้อาหารและน้ำที่อยู่ในระยะช่องปากไม่เข้าสู่ระยะคอหอยเร็วเกินไป ลดการสำลักอาหารออกทางจมูก ทางเดินอาหารทั้งคอหอย


      3. ปรับอุปกรณ์ที่ใช้รับประทานอาหาร เลือกใช้ช้อนที่มีขนาดเล็กลง และหลุมไม่ลึก ทำให้ปริมาณการรับประทานอาหารต่อคำลดลง รวมถึงปริมาณน้ำที่น้อยลงในแต่ละคำจะช่วยลดอาการสำลักได้


       4. การดูแลสุขภาพช่องปาก การดูแลสุขภาพช่องปากจะลดการสะสมของแบคทีเรียในช่องปากและลดความเสี่ยงของการเกิดปอดอักเสบจากการสำลัก ทำได้โดยพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ


     5. บริหารกล้ามเนื้อ โดยทำท่าบริหารครั้งละ 5 - 10 ครั้ง โดยทำก่อนรับประทานอาหาร โดยมีท่าบริหารกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการกลืน ดังนี้

การบริหารลิ้น

การบริการเส้นเสียง
ออกเสียง “อา,อี,อู” อย่างละ 10 ครั้ง
ออกเสียง “คาคาคา” ให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ทำซ้ำ 10 ครั้ง
ออกเสียง “รารารา” ให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ทำซ้ำ 10 ครั้ง
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : https://www.mylucknursinghome.com/