“แบคทีเรียกินเนื้อ”

                                          

 


                                                                                                                                       อ.พญ.จรัสศรี ฬียาพรรณ


                                                                                                                                              ภาควิชาตจวิทยา


                                                                                                                Faculty of Medicine Siriraj Hospital


                                                                                                               คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  ม.มหิดล


 บทนำและนิยาม


             การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังสามารถแบ่งได้ตามความลึกของผิวหนังที่มีการติดเชื้อ การติดเชื้อแบคทีเรียในระดับชั้นตื้นตั้งแต่หนังกำพร้าจนถึงชั้นไขมันส่วนบน จะก่อให้เกิดโรคไฟลามทุ่ง และการติดเชื้อลงลึกถึงชั้นไขมันส่วนล่างจะก่อให้เกิดโรค cellulitis


           “แบคทีเรียกินเนื้อ” หมายถึง การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชั้นลึกถึงระดับเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ (necrotizing fasciitis) มีอาการและอาการแสดงรุนแรง มักมีไข้ ปวดบวม แดงร้อนและอาการอักเสบร่วมด้วย การวินิจฉัยและรักษาในระยะต้นของโรคจะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้       


 สาเหตุ              


          เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและทำให้เกิดการอักเสบแบบมีเนื้อตายที่ผิวหนังตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้าถึงชั้นเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ พบบ่อยในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันต่ำ มีโรคเบาหวาน หรือโรคตับแข็ง เชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดร่วมกัน เช่น เชื้อแอโรโมแนส (Aeromonas spp)   กลุ่มที่ 2 เป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย 1 ชนิด ได้แก่ เชื้อสเตรปโตคอคคัส กรุ๊ปเอ (group A streptococcus)  การติดเชื้อมักพบหลังการผ่าตัดหรือหลังประสบอุบัติเหตุทำให้เกิดแผลและสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งแตกต่างกันตามชนิดของเชื้อ เช่น เชื้อแอโรโมแนสจะพบในน้ำจืด น้ำกร่อย


อาการและอาการแสดง


          ลักษณะอาการแสดงที่พบในระยะแรก คือ มีอาการเจ็บปวด บวมแดง ร้อน ที่ผิวหนังอย่างมาก อาการบวมแดงจะลามอย่างรวดเร็ว อาจมีตุ่มน้ำร่วมด้วย ต่อมาสีของผิวหนังจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีม่วงและมีเนื้อตายเกิดขึ้น เมื่อมีเนื้อตายเกิดขึ้นผู้ป่วยอาจมีอาการชามาแทนที่อาการเจ็บปวด มักจะมีไข้สูงและการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อก และมีการทำงานที่ลดลงของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ไต ตับ เป็นต้น มักพบการติดเชื้อบ่อยที่บริเวณแขนและขา 


การวินิจฉัยและการวินิจฉัยแยกโรค


         การวินิจฉัยที่สำคัญ คือ การผ่าตัดและพบว่ามีการติดเชื้อหรือการตายของเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ รวมถึงการตัดชิ้นเนื้อส่งเพาะเชื้อแบคทีเรียเพื่อหาเชื้อก่อโรค ต้องวินิจฉัยแยกโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อวัณโรคชนิดอื่น และโรคเส้นเลือดอักเสบรุนแรงที่อาจทำให้เกิดเนื้อตายอย่างนี้ได้


การพยากรณ์โรค


        การติดเชื้อแบคทีเรียในชั้นลึกระดับเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 17-49% ขึ้นกับโรคประจำตัวของผู้ป่วยและบริเวณของการติดเชื้อ ถ้าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือเป็นโรคเบาหวาน โรคตับแข็ง จะทำให้มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ รวมถึงการติดเชื้อจะลุกลามอย่างรวดเร็ว ส่วนบริเวณของการติดเชื้อที่กว้างหรือลึกมากจะทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น


การรักษา


          ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล การรักษาเฉพาะ คือ การใช้ยาต้านจุลชีพในรูปยาฉีดร่วมกับการผ่าตัด การวินิจฉัยโรคและการรักษาตั้งแต่ระยะต้นของโรคสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้


คำแนะนำในการดูแลเบื้องต้นและการป้องกัน


         - ป้องกันและระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบาดแผลที่สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่สกปรก


         - ถ้ามีแผลที่ผิวหนัง ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่สกปรก


        - ถ้าสัมผัสหรือประสบอุบัติเหตุทำให้เกิดแผล ควรล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดหรือสบู่ทันที ไม่ควรบ่งด้วยเข็มหรือกรีดเปิดแผลด้วยตัวเอง เนื่องจากอุปกรณ์ที่ไม่สะอาดจะส่งเสริมการติดเชื้อให้เพิ่มมากขึ้น


       - ถ้ามีแผล อาการปวดบวม แดงร้อนที่ผิวหนัง หรือมีไข้  ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโดยทันที


       - ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน โรคตับแข็ง  มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ จึงต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ


ข้อมูลจาก  : ศ.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน Goldsmith LA, Katz S, Gilchrest B, Paller A, Leffell D and Wolff K, editors. Fitzpatrick’s Dermatology in  General Medicine. 8th ed. USA: The McGraw-Hill companies; 2012


ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล :  https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=1124